วธ.เผย โบราณสถานพื้นที่ กทม.ไม่น่าห่วง ภาคเหนือ พบรอยร้าววัดสำคัญหลายแห่ง

วธ.เผย โบราณสถานพื้นที่ กทม.ไม่น่าห่วง ภาคเหนือ พบรอยร้าววัดสำคัญหลายแห่ง

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลกระทบถึงกรุงเทพฯรวมถึงอาคารของวธ. นั้น เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ตนพร้อมด้วยคณะวิศวกรและสถาปนิก กรมศิลปากร ได้ตรวจสอบและประเมินโครงสร้างอาคารอาคารกระทรวงวัฒนธรรม หอศิลป์แห่งชาติ และอาคารกรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เบื้องต้นทั้งสองอาคาร ได้รับผลกระทบบางส่วน เช่น มีรอยแตกร้าว แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อความ มั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างอาคารและไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการใช้อาคาร โดยทั้งนี้ วธ.ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของบุคลากร และประชาชนผู้มาติดต่อราชการ ดังนั้นจะดำเนินการแก้ไขส่วนที่ได้รับความเสียหายโดยเร็ว

“สำหรับกรณี ที่หลายหน่วยงานที่การอพยพเจ้าหน้าที่ออกจากอาคารนั้น ในส่วนของวธ. ไม่ได้มีคำสั่งอพยพ และยังคงเปิดทำการตามปกติ แต่มีข้าราชการส่วนหนึ่ง ยังมีความไม่สบาย และมีข้อกังวลในเรื่องความปลอดภัย ได้ทำการอพยกออกจากตัวตึก สำหรับข้าราชการ พนักงานและเจ้าหน้าที่ที่ยังมีความกังวล ก็สามารถฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง หรือ เวิร์กฟอร์มโฮมได้ ตามคำสั่งของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ. )ที่มีหนังสือแจ้งส่วนราชการ สามารถเวิร์กฟอร์มโฮมได้ตามความเหมาะสม “นายประสพ กล่าว

นายประสพ กล่าวต่อว่า ส่วนผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวต่อโบราณสถานทั่วประเทศ นั้น กรมศิลปากร สำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์แผ่นดินไหว ได้แก่ 1.โบราณสถานในเขต กทม. ไม่ปรากฏความเสียหายที่น่าเป็นห่วงต่อโบราณสถานที่สำคัญและมีความสูงมาก เช่น พระปรางค์ วัดอรุณฯ ไม่ปรากฏรอยร้าวหรือความเสียหาย พระนอนวัดโพธิ์ที่ปรากฏข่าวในโลกโซเชียล ทราบว่า เป็นรอยร้าวเดิม อยู่ในระหว่างสำรวจว่า มีการขยายตัวของรอยร้าวหรือไม่ สำหรับวัดอื่นๆ โดยเฉพาะวัดที่อยู่ระหว่างการบูรณะ กำลังเร่งสำรวจ แต่เบื้องต้นไม่ได้รับรายงานความเสียหาย ส่วนพระประธานในพระอุโบสถ หรือหลวงพ่อทอง วัดพระบรมธาตุวรวิหาร อ.เมือง จ.ชัยนาท ซึ่งพบว่ามีรอยแตกร้าวเป็นแนวยาวตั้งแต่ต้นคอถึงกลางหลัง ยาวเกือบ 2 เมตร ส่วนที่ใต้ศอกขวา และแขนขวา มีรอยแตกยาวกว่า 1 เมตร นั้น จากการตรวจสอบในเบื้องต้น พบว่า เป็นรอยเดิม ไม่ใช่ผลกระทบที่เกิดจากเหตุแผนดินไหว

ADVERTISMENT

2.โบราณสถานในภาคเหนือที่ใกล้กับจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวในเมียนมามากกว่าภาคอื่นๆ โดยพบว่า โบราณประเภทอุโบสถ วิหาร และเจดีย์ ได้รับผลกระทบ เช่น วัดพระธาตุลำปางหลวง วัดหัวข่วง วัดไหล่หิน จ.ลำปาง ปรากฏรอยร้าวในส่วนผนังอาคาร หรือส่วนฐาน แต่ลักษณะและขนาดของรอยร้าวยังไม่น่า เป็นอันตรายต่อโบราณสถานมากนัก ส่วนที่ปรากฏความเอียงของเสาบางต้นคือ ที่ศาลาบาตรของวัดพระธาตุ ลำปางหลวง ได้มอบสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่สำรวจละเอียดตามขั้นตอนโดยด่วนแล้ว สำหรับจังหวัดอื่นๆ เช่น จังหวัดน่าน พบรอยร้าวที่วิหารพระธาตุแช่แห้ง เจดีย์วัดเบ็งสกัด อาคารพิพิธภัณฑ์ฯ น่าน ซึ่งเป็น โบราณสถานฯ แต่ยังไม่พบรอยร้าวที่เป็นนัยยะสำคัญถึงความเสียหายของโครงสร้างหลัก จังหวัดเชียงใหม่ สำรวจพบรอยร้าวที่เสาพระวิหารหลวง วัดเจดีย์หลวง เจ้าหน้าที่กำลังเร่งสำรวจ กรณีรอยร้าวที่เกิดกับโบราณสถาน กรมศิลปากร มีความกังวลกับรอยร้าวที่เกิดกับเสาของอาคาร มากกว่ารอยร้าวที่ผนัง อย่างไรก็ตาม กรมศิลปากร มีมาตรการในการค้ำยัน หรือบูรณะกรณีฉุกเฉินเร่งด่วนรองรับอยู่แล้ว สำหรับโบราณสถานสำคัญ เช่น พระธาตุหริภุญชัย ลำพูน พระธาตุดอยสุเทพ เชียงใหม่ ยังไม่ปรากฏความเสียหาย

นายประสพ กล่าวต่อว่า 3.โบราณสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินพนมรุ้ง ปราสาทหิน เมืองต่ำ และโบราณสถานสำคัญไม่ปรากฏความเสียหาย พระนอนที่อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ปรากฏรอยร้าวที่องค์พระนอนไม่มากนัก ไม่กระเทือนถึงโครงสร้างองค์พระ แต่เนื่องจากอยู่ในระหว่างการบูรณะฯ จึงมี ช่างเทคนิค และนักโบราณคดีอยู่ประจำแหล่งอยู่แล้ว

ADVERTISMENT

4.โบราณสถานที่เป็นมรดกโลก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โบราณสถานสำคัญที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก คือ วัดไชยวัฒนาราม
วัดราชบูรณะ วัดมหาธาตุฯ วัดพระศรีสรรเพชร ฯลฯ ไม่ปรากฏความเสียหาย นักท่องเที่ยวฯ ยังคงเข้าชมได้ ปกติ วัดพระหน้าพระเมรุ สำรวจพบรอยร้าวที่เสา และผนังของพระอุโบสถ ซึ่งกรมศิลปากรได้เร่งส่งวิศวกรฯ
ของกรมฯไปสำรวจความเสียหาย นอกจากนั้น ยังปรากฏรอยร้าวที่องค์พระนอนที่วัดโลกกยสุธาซึ่งเป็นรอยเดิม กำลังสำรวจว่ามีรอยร้าวเพิ่มเติมหรือไม่ เบื้องต้นคาดว่าไม่กระทบถึงโครงสร้างขององค์พระ วัดกษัตราฯ สำรวจ พบรอยร้าวที่เสาพระอุโบสถฯ อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียดฯ โบราณสถานสำคัญอื่นๆ ไม่ปรากฏ
รายงานความเสียหายแต่อย่างใด ขณะที่จังหวัดสุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวารไม่ปรากฏความเสียหาย และ
5. โบราณสถานในภาคใต้ ไม่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว อย่างไรก็ตาม กรมศิลปากร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งสำรวจข้อมูลเพิ่มเติม หากได้รับแจ้ง
ข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้อง และจะประเมินความเสียหาย เพื่อประมาณการค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปรับปรุงซ่อมแซมในรายละเอียดต่อไป

ปลัดวธ. กล่าวต่อว่า สำหรับการจัดงานสงกรานต์ เบื้องต้นยังคงจัดกิจกรรมตามแผนงานเดิม ส่วนพื้นที่ใดที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image