วงเสวนา ยกย่อง ‘ชาญวิทย์’ ผู้ตื่นรู้แห่งยุคสมัย นักวิชาการที่จริงแท้ ไม่แสวงหาอำนาจ เงินทอง ทุ่มสร้างงานเกินครึ่งศตวรรษ หวังเปลี่ยนแปลงสังคมสู่ความเท่าเทียม เตือนผู้คนรู้เท่าทันประวัติศาสตร์ ไม่ติดกับดักชาตินิยม เชื่อมโลกหอคอยงาช้าง
เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ที่มติชนอคาเดมี เขตจตุจักร กรุงเทพฯ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับกลุ่มเพื่อนของศาสตราจารย์ พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ร่วมกันจัดงานฉลองครบรอบอายุ 84 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศเมื่อเวลาประมาณ 15.30 น. บุคคลในแวดวงต่างๆ ทยอยเดินทางเข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง อาทินายเสถียร เสถียรธรรมะ, ศ.ดร. สุรชาติ บำรุงสุข, ศ.ดร. พวงทอง ภวัครพันธุ์, นายสุรนันท์ เวชชาชีวะ, ดร. สิริกรณ์ มณีรินทร์ , นายสมฤทธิ์ ลือชัย, นายสมชาย แซ่จิว, ดร.อาสา คำภา, ผศ.ดร.ชาติชาย มุกสง, นายวิโรจน์ ตั้งวาณิชย์, นายประกิต กอบกิจวัฒนา, นายจรัญ หอมเทียนทอง, นายอธึกกิต แสวงสุข, ผศ.ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์, นายชานันท์ ยอดหงษ์, นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์, นายสุรวุฒิ เชิดชัย, ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย, นายกฤษฎางค์ นุตจรัส หรือ ทนายด่าง, นางสาวกุณฑิกา นุตจรัส และดร.ญาณินี ไพทยวัฒน์ เป็นต้น
ในการนี้ ผู้บริหารในเครือมติชน นำโดย นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), นางสาวปานบัว บุนปาน ประธานกรรมการ บมจ. มติชน และนายปราปต์ บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บมจ. มติชน ให้การต้อนรับ
เวลาประมาณ 16.00 น. เข้าสู่ช่วงเสวนา ’84 ปี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กับสังคมการเมืองสยามประเทศไทยและอุษาคเนย์’ ดำเนินรายการโดย นายอดิศักดิ์ ศรีสม
ในตอนหนึ่ง ศ.ดร. ธงชัย วินิจจะกูล นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง กล่าวว่า ตนเพิ่งเขียนบทความลงในนิตยสารมติชน สุดสัปดาห์ (เรื่อง ‘ชาญวิทย์ ศาสตราจารย์พิเศษ (และไม่พิเศษ)) โดยกล่าวถึงคุณสมบัติ 9 ข้อ ในที่นี้ ตนขออ่านข้อ 9 ความว่า
“ชาญวิทย์เป็นคนมีความหวัง จะเรียกว่าความเชื่อสวยหรูว่าโลกย่อมดีขึ้นก็คงไม่ผิด ความเชื่อข้อนี้กับการมีความหวังกับคนรุ่นใหม่เกี่ยวพันแยกกันไม่ออกสำหรับเขา เขาตื่นเต้นมากเมื่อคนรุ่นใหม่อยากได้รัฐธรรมนูญ อยากสร้างฟ้าสีทองผ่องอำไพ จนถึงอยากให้จบในรุ่นเรา แต่เขาไม่สิ้นความหวังเมื่อทั้งหมดนั้นจบลงอย่างไม่สวยหรู น่าจะเป็นเพราะความหวังของชาญวิทย์หล่อเลี้ยงด้วยความฝันของเยาวชน รุ่นแล้วรุ่นเล่า จึงไม่มีทางดับลงสนิท โปรดสังเกตว่าชาญวิทย์มิได้มีชื่อเสียงโดดเด่นในฐานะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผมเข้าใจว่าเขาไม่ได้อยู่ในสภามหาวิทยาลัยหรือเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจที่ไหนเลย ซึ่งผิดกับอดีตอธิการบดีธรรมศาสตร์คนอื่นๆ ข้อนี้ไม่น่าแปลกใจเลยสำหรับคนที่มีคุณสมบัติและความคิดอย่างเขา แต่อยู่ในสังคมไทย” ศ.ดร. ธงชัย กล่าว

ด้าน รศ.ดร. นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ศ.พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ เป็นครูที่ไหว้ได้จากจิตวิญญาณ เป็นผู้แสวงหาความหมาย และพัฒนาตนเองอยู่ตลอด มองประวัติศาสตร์ไทยโดยไม่แยกออกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ปลุกปั่นว่าไทยวิเศษกว่าใคร ทั้งยังเล่าเรื่องที่มีความซับซ้อน ให้เข้าใจง่าย เล่าประวัติศาสตร์ที่เหมือนตายไปแล้วให้มีชีวิตขึ้นมาใหม่ ตนได้นำกระบวนวิธีคิดตั้งแต่สมัยเรียนประวัติศาสตร์กับท่านที่ธรรมศาสตร์มาใช้อยู่เสมอแม้กระทั่งบัดนี้ที่มาเป็น ส.ว.ฉายา นันทนาวิ่งสู้ฟัด
“อาจารย์ชาญวิทย์เป็นน้ำที่ไม่เคยเต็มแก้ว เรียนรู้รับฟัง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้คนตลอดเวลา อ่าน ฟัง เดินทาง เรียนรู้ สนุกไปกับมัน ถ้าจะเดาว่าหนังสือเล่มไหนสะท้อนความเป็นอาจารย์ชาญวิทย์มาที่สุด คงเป็นโจนาทาน ลิฟวิงสตัน นางนวล นกนางนวลที่ชื่อชาญวิทย์ ไม่เคยพอใจกับชีวิตที่ผ่านไปวันๆ แต่พยายามแสวงหาความหมาย พัฒนาตัวเองให้ทันโลกอยู่ตลอดเวลา” รศ.ดร. นันทนา กล่าว

รศ.ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม. รังสิต กล่าวว่า ตอนที่ตนเรียนปริญญาโทด้านประวัติศาสตร์ ได้พบศาสตราจารย์ พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ ตอนแรกไม่คิดว่าจะสนุกขนาดนี้ แต่อาจารย์พาไปดื่มเบียร์ ซึ่งทำให้พบปะคนมากมาย ได้ฟังเรื่องราวที่หลากหลาย รวมถึงการถกเถียงในหมู่นักวิชาการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของตนเองโดยไม่รู้ตัว ทั้งที่ร้านกิ้ว และ ‘เรือนอินทร์’ โดยเฉพาะเมื่อ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เดินทางมาร่วมวงด้วย มีการถกเถียงกันในประเด็นต่างๆ
อีกสิ่งหนึ่งคือการท่องเที่ยว บุกไปในสถานที่ใหม่ๆ ซึ่งช่วยเปิดโลกอย่างมาก เช่น ทริปผามออีแดง เพื่อดูปราสาทพระวิหาร นอกจากนี้ ตนยังได้เรียนรู้การทำหนังสือ เช่น จาก 14 ถึง 6 ตุลา และทองปาน ของ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งตนได้เป็นบรรณาธิการร่วม

รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวถึง คุณูปการ 3 ด้าน ของศาสตราจารย์ พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ โดยด้านที่เด่นที่สุด คือ การสร้างลูกศิษย์ในวงวิชาการ นี่คือคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ เรามีนักวิชาการจำนวนมาก แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสร้างลูกศิษย์ ส่วนใหญ่สร้างผลงานของตัวเอง ด้านที่ 2 คือ การทำให้การศึกษาเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อุษาคเนย์ เป็นรูปเป็นร่าง เป็นที่เป็นทาง ในสังคมไทย ไม่มีใครมีคุณูปการด้านนี้เท่าศาสตราจารย์ พิเศษ ดร. ชาญวิทย์อีกแล้ว
“อาจารย์ทำผ่านหลายอย่าง ไม่ใช่แค่ผลงานวิชาการ แต่พานักศึกษาไปท่องเที่ยวซึ่งทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการศึกษาเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น และทำให้เราไม่ติดกับดักชาตินิยม ส่วนประการสุดท้าย คือการเชื่อมโลกประวัติศาสตร์บนหอคอยงาช้างสู่สังคม ทำให้ประวัติศาสตร์มีเสน่ห์ และพยายามเตือนให้คนเท่าทันประวัติศาสตร์ ไม่ลุ่มหลงหรือยึดติดอดีต เพราะประวัติศาสตร์ไม่ได้สอนเรื่องอดีต แต่สอนเรื่องการเปลี่ยนแปลง” รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าว

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวว่า ตนไม่ใช่ลูกศิษย์ศาสตราจารย์ พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ ในห้องเรียน แต่เป็นลูกศิษย์ผ่านตัวอักษร เพราะเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ แต่สนใจงานด้านสังคมศาสตร์ จึงอ่านหนังสือของท่าน รวมถึงนักวิชาการอีกหลายท่าน ซึ่งส่งอิทธิพลทางความคิดต่อตนอย่างมากในด้านปัญหาสังคมการเมือง
“ในมุมมองของผม อาจารย์ชาญวิทย์ มีคุณูปการต่อแวดวงการศึกษา 3 อย่างด้วยกัน 1. การเป็นผู้ปฏิวัติการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ระดับอุดมศึกษา 2. เป็นผู้ฟื้นฟูความทรงจำของการปฏิวัติสยาม ของนายปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎร 3. เป็นผู้ปลูก ทะนุถนอม และสืบต่อเมล็ดพันธุ์แห่งความหวังให้คนรุ่นต่อไป” นายธนาธรกล่าว
นายธนาธรกล่าวด้วยว่า ตนขอส่งความปรารถนาดี ขอให้อาจารย์สุขภาพแข็งแรงในสังคมที่ยังเต็มไปด้วยความอยุติธรรม และการเลือกปฏิบัติ
“ขอให้อาจารย์ยังคงเป็นเสาหลักทางวิชาการให้พวกเรา ในสังคมที่มีความเห็นแตกต่างหลากหลาย มากมายเกินจะรับฟังเสียงทั้งหมด ขอให้อาจารย์ยังเป็นเสียงแห่งเหตุผลให้กับพวกเรา ในสังคมที่มืดมิดในวันนี้ ขอให้อาจารย์เป็ไฟส่องทางให้คนรุ่นต่อไปอย่างที่ทำมาเสมอในเส้นทางชีวิตหลายทศวรรษที่ผ่านมา” นายธนาธร กล่าว





