ที่มา | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เมษายน เป็นเดือนที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทยมากมาย หนึ่งในนั้น คือการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในวันอังคาร เดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ ปีกุน นพศก ตรงกับ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 เป็นเหตุให้มีการย้ายราชธานีลงไปทางทิศใต้ ณ กรุงธนบุรี ก่อนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ ทุกวันนี้
พระราชโบราณ อีกทั้งวัดวาอารามที่เคยงดงามเกินบรรยายต่างทรุดโทรม ร่วงโรย และรกร้าง
กรุงศรีอยุธยาที่เคยรุ่งโรจน์กลายเป็นเพียงอดีต
ต่อมาในราว พ.ศ.2499 เกิดเรื่องที่ทำให้ชื่อของราชธานีแห่งนี้กลับมาอยู่ในความสนใจของคนไทยอีกครั้ง นั่นคือเหตุการณ์ ‘กรุแตก’ ซึ่งเริ่มมีเค้าลางมาจากเรื่องที่เล่ากันหนาหูว่า มีผู้เสียสตินำเครื่องทองงดงามระยับไปร่ายรำท่ามกลางชุมนุมชนใน ‘ตลาดเจ้าพรหม’ ตลาดใหญ่ในตัวเมืองอยุธยา กระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว
เรื่องนี้ถูกนำมาสอดแทรกไว้ในเรื่องสั้น “ขุนเดช” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ในเครือ “มติชน”
สุจิตต์ เล่าว่า ตนได้ข้อมูลมาจาก “อามหา-จิรเดช ไวยโกสิทธิ์” หรือ ขุนเดชตัวจริงในเรื่องสั้นชุดดังกล่าวที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายต่อหลายครั้ง
เหตุการณ์จริงต่อจากนั้น คือในเดือนกันยายน พ.ศ. 2500 กรมศิลปากรได้พบเครื่องทองคำราชูปโภค พระพุทธรูป สถูปทองคำ และพระพิมพ์มากมายภายในพระปรางค์องค์ใหญ่ของวัดราชบูรณะ จากนั้น ได้หาทางทำอุโมงค์ และบันไดลงไปในกรุลึกลับ ต้องคลำทาง วางแผน บันทึกผังกรุ และโบราณวัตถุมหาศาลที่ได้พบอย่างไม่คาดฝัน กลายเป็นหนึ่งในอภิมหาตำนานแห่งการค้นพบมรดกอันประเมินค่าไม่ได้จากบรรพชนยุคกรุงศรีอยุธยาที่น่าตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง

เรื่องราวทั้งหมดรวมถึงรายละเอียดของการขุดกรุดังกล่าวในทุกขั้นตอน ถูกบันทึกไว้อย่างถี่ถ้วนและเต็มไปด้วยสีสัน ผ่านรายงานฉบับหนึ่งของ นายกฤษณ์ อินทโกศัย รองอธิบดีกรมศิลปากรในยุคนั้น ซึ่ง “มติชน” จะทยอยทำเสนอเป็นตอนๆ
ดังเนื้อหาต่อไปนี้
รายงานของนายกฤษณ์ อินทโกศัย
รองอธิบดีกรมศิลปากร (ต่อจากตอนที่แล้ว)
หลงทาง
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2501 เจาะลงไป 3 ชั่วโมงก็รู้ว่าผิดทางเสียแล้ว จึงย้ายที่เจาะใหม่มาทางทิศตะวันตกห่างจากที่เจาะเดิมประมาณ 20 เซนติเมตร จุดที่เจาะเข้าไปนี้ลึกประมาณ 80 เซนติเมตร ทะลุตรงห้องกรุพอดี ห้องกรุกว้าง 0.70 เมตร ยาว 1.36 เมตร สูง 2.00 เมตร บรรจุพระพิมพ์และพระพุทธรูปสำริดไว้เต็มแน่น และที่ผนังด้านทิศตะวันตกเขียนภาพสีไว้เต็มผนัง ส่วนด้านอื่นไม่มีภาพคงโบกปูนไว้อย่างธรรมดา เมื่อขนของออกจากห้องนี้หมดแล้ว ก็เจาะทางด้านทิศใต้

พบพระพิมพ์มหาศาล
เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2501 เจาะลึกประมาณ 80 เซนติเมตร ก็พบกรุมีพระพิมพ์และพระพุทธรูปเต็มแน่น แล้วเจาะทางด้านทิศเหนืออีก พบกรุมีพระพิมพ์และพระพุทธรูปหล่อเต็มแน่นเช่นเดียวกัน การเจาะทางด้านทิศใต้และทิศเหนือ ไม่พลาดเหมือนเจาะห้องทางด้านทิศตะวันตก เจาะได้ตรงห้องพอดี เพราะได้แบบฉบับจากห้องทางด้านทิศตะวันตกเป็นหลักไว้แล้ว และห้องทิศใต้และเหนือมีภาพเขียนเหมือนห้องทิศตะวันตก ขนาดกว้างยาวและสูงเหมือนห้องที่ 1
รวมสิ่งของที่ได้จากกรุทั้ง 5 ห้อง เป็นพระพุทธรูปและมีเทวรูปรวม 618 องค์ พระพิมพ์นับด้วยแสนดังได้กล่าวข้างต้นแล้วว่า ได้พักการหาลู่ทางที่จะเจาะลงหามุมห้องบรรจุเครื่องทางด้านทิศตะวันตกไว้ก่อน เพราะไปพบกรุที่พื้นชั้นบนเข้า ดังนั้นเมื่อขนสิ่งของออกจากกรุชั้นบนทั้ง 3 ห้องแล้ว ก็เริ่มคลำทางที่จะลงไปสู่มุมทางด้านทิศตะวันตกตามความตั้งใจเดิมเห็นว่าระยะทางที่จะลงได้ใกล้ที่สุด และไม่เป็นอันตรายแก่ความทรงตัวขององค์ปรางค์นั้น ควรจะเจาะเปิดพื้นกรุชั้นบนด้านทิศใต้และทิศเหนือลงไป จึงลงมือเปิดพื้นห้องกรุชั้นบนด้านทิศใต้ก่อน

“พระใบขนุน” ในกรุเงินกรุทอง
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2501 เจาะศิลาแลงเข้าไปสองแผ่นก็ทะลุ มองเห็นกรุมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้อยู่เบื้องล่างอย่างถนัดชัดเจนมีพระบรรจุอยู่ค่อนห้อง ไม่เต็มแน่นเหมือนมุมอื่น จัดการขนขึ้นและเปิดพื้นห้องกรุชั้นบนด้านทิศเหนือ
เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2501 เจาะเข้าไปชั่วศิลาแลงสองแผ่นก็ทะลุ มองเห็นกรุมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือ บรรจุพระไว้ค่อนห้องเช่นเดียวกัน กรุนี้ควรจะเรียกว่ากรุเงินกรุทอง เพราะบรรจุพระพิมพ์แผ่นปางลีลา ลักษณะคล้ายกลีบขนุนขององค์พระปรางค์ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “พระใบขนุน” ล้วนๆ พระใบขนุนนี้เองที่ประชาชนพากันเบียดเสียดกันเข้าบริจาคเงินสร้างอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อจะขอรับพระนี้เป็นของสมนาคุณ พระใบขนุนช่วยให้ได้เงินสร้างอาคารพิพิธภัณฑสถานหลายแสนบาท กรุนี้เป็นกรุที่ 7 ที่กรมศิลปากรเปิด ในกรุนอกจากพระใบขนุนแล้ว ก็มีพระพิมพ์อย่างอื่นปะปนอยู่บ้างเล็กน้อยและมีพระพุทธรูปสำริดขนาดย่อมอยู่ด้วย 20 กว่าองค์
การเปิดกรุทั้ง 7 ของกรมศิลปากร ก็ยุติลง เพื่อทำการคัดเลือกพระที่ขนขึ้นมาแล้วจะได้สำรวจต่อไปอีกว่าจะยังมีกรุอยู่อีกหรือไม่ ซึ่งถ้ามี ก็จะเสนอรายงานให้ทราบกันอีกในโอกาสต่อไป

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ที่มาข้อมูล : หนังสือ จิตรกรรมและศิลปวัตถุ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหนังสือ พระพุทธรูปและพระพิมพ์ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิมพ์เผยแพร่โดยกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2558
ขอขอบคุณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา