ศาลปกครองฯ สั่งเพิกถอนคำสั่งไล่ออก ‘สมศักดิ์ เจียม’ ให้กลับไปเป็นอาจารย์เช่นเดิม

ศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่งไล่ออก อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้เหตุผลว่า อาจารย์สมศักดิ์ ยื่นใบลาไปหาความรู้เพิ่มเติมแล้ว ไม่จงใจขาดราชการ

11 เมษายน 2559 Ilaw รายงานว่า ศาลปกครองกลางพิพากษาคดีที่ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ยื่นฟ้องมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เพื่อขอเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ เนื่องจากจงใจไม่มาปฏิบัติหน้าที่ราชการเกินกว่า 15 วัน โดยเป็นการเลื่อนฟังคำพิพากษามาจากวันที่ 8 มีนาคม 2559

ศาลปกครองพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไล่ออกสมศักดิ์ และเพิกถอนคำสั่งอุทธรณ์ของ ก.พ.อ. โดยให้เหตุผลว่ากรณีนี้ สมศักดิ์ยื่นใบลาเพื่อไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม 2557 – 31 กรกฎาคม 2558 แล้ว จึงมีเหตุอันสมควรไม่ใช่การจงใจไม่ปฏิบัติราชการเกิน 15 วัน

วันที่ 18 ธันวาคม 2557 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกคำสั่งเรียกให้สมศักดิ์มาทำงาน แต่สมศักดิ์ไม่ได้มานั้น อยู่ระหว่างที่ยังไม่มีคำสั่งว่าอนุมัติคำขอลาของสมศักดิ์หรือไม่ ซึ่งในทางปฏิบัติเมื่อนักวิชาการจะลาไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมก็จะเดินทางไปก่อนคำสั่งอนุมัติจะออก

Advertisement

นอกจากนี้ ศาลยังอธิบายเพิ่มเติมว่า เนื่องจากคำสั่งไม่อนุมัติให้ลาไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ออกเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2558 ดังนั้น หากหลังจากวันที่ 28 มกราคม 2558 มีคำสั่งเรียกให้สมศักดิ์มาปฏิบัติราชการแต่ยังไม่มา ก็อาจเป็นเหตุใหม่ในการมีคำสั่งไล่ออกใหม่ได้ แต่เนื่องจากคดีนี้ สมศักดิ์ ได้ยื่นฟ้องโดยอธิบายเหตุผลด้วยว่า การขาดราชการไปต่างประเทศเป็นเหตุจำเป็นเพราะการอยู่ประเทศไทยจะมีอันตรายต่อชีวิตและเสรีภาพ เช่น เมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2557 มีคนร้ายไม่ทราบชื่อจำนวน 2 คน ใช้อาวุธปืนยิงบ้านของผู้ฟ้องคดีจำนวนหลายนัด แม้จะไม่ได้รับบาดเจ็บ แต่ก็มีผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรง และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่ง เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 เรียกให้ไปรายงานตัวตามคำสั่ง โดยไม่ระบุเหตุผล ซึ่งสมศักดิ์เห็นว่า เป็นคำสั่งที่ออกมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงไม่ไปรายงานตัว และคสช.ยังออกประกาศให้การไม่ไปรายงานตัวเป็นความผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ด้วย แต่ศาลปกครองยังไม่ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับเหตุจำเป็นดังกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image