เปิดวงถก! วิสามัญในไทย ญาติ ‘ชัยภูมิ ป่าแส-อะเบ แซ่หมู่’ เผยยังหวังความยุติธรรม

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 14 กรกฎาคม ที่สำนักงานกลางนักเรียนคริสเตียน เครือข่ายติดตามความคืบหน้าคดีวิสามัญฆาตกรรมนายชัยภูมิ ป่าแส ดำเนินการจัดการเสวนาเชิงวิชาการและงานนิทรรศการศิลปะ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงความคืบหน้าในคดีที่เป็นที่จับตามองในสังคมไทย ทั้งคดีนายชัยภูมิ ป่าแส และคดีนายอะเบ แซ่หมู่ และอภิปรายถึงภาพรวามสถานะการณ์การวิสามัญฆาตกรรมในประเทศไทย หลักกฎหมายและมาตราฐานระหว่างประเทศ รวมถึงกลไกกฎหมายไทยทั้งการไต่สวนการเสียชีวิตโดยศาล ซึ่งเป็นกระบวนการทางกฎหมายที่เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการค้นหาความจริงและการค้นหาสาเหตุของความตายเพื่อพิสูจน์สาเหตุและพฤติกรรมแห่งความตาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดงานครั้งนี้ได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานและสื่อมวลชนเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ บริเวณเข้างานมีการจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายและเสื้อผ้าของชนเผ่าลาหู่ (มูเซอ) โดยงานช่วงแรกมีการบรรยายภาพรวมสถานการณ์วิสามัญฆาตกรรมในประเทศไทย โดยนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมพูดคุยถึงความคืบหน้าล่าสุดของคดีวิสามัญชัยภูมิ ป่าแส และอะเบ แซ่หมู่ โดยมีตัวแทนทั้งสองครอบครัว อาทิ นางอะหมี่มะ แซ่หมู่ มารดานายอะเบ แซ่หมู่ และนางนาปอย ป่าแส แม่ของนายชัยภูมิ ป่าแส พร้อมด้วยนายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความอาสา, นายกฤษฎา งามศิลป์จำรัส ตัวแทนสำนักคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และดำเนินรายการโดย นางสาวปรานม สมวงศ์ ผู้ประสานงานองค์กรปกป้องสิทธิมนุษยชนนานาชาติ

Advertisement

นางอังคณากล่าวว่า ภาพรวมสถานการณ์วิสามัญฆาตกรรมในประเทศไทยนั้น การวิสามัญคือการเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่กฎหมายให้เจ้าหน้าที่สามารถป้องกันตัวเองได้ในกรณีที่อยู่ในอันตราย แต่ต้องคำนึงถึงสัดส่วนในการใช้อาวุธด้วยว่าเหมาะสมหรือไม่ ตรงนี้ต้องพิจารณา และควรมีการไต่สวนการตายทุกกรณี

นางอังคณากล่าวต่อว่า คดีวิสามัญฆาตกรรมในสังคมไทยที่โด่งดังและเป็นที่สนใจของสาธารณะหลายคดี โดยความคืบหน้าในการสืบสวนในทางอาญาในบางคดีนั้นกลับมีข้อเรียกร้องว่ามีความล่าช้า และไม่สามารถนำตัวผู้ต้องสงสัยมาสู่ชั้นพิจารณาคดีได้ และหนึ่งในนั้นคือ คดีวิสามัญฆาตกรรมกรณีนายชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมเยาวชนชาติพันธุ์ลาหู่ โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่านายชัยภูมิมียาเสพติด มีการต่อสู้ขัดขวาง และใช้อาวุธระเบิดขว้างใส่เจ้าหน้าที่ทหาร จึงจำเป็นต้องใช้อาวุธยิงสังหาร จนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย นอกจากนี้ ยังมีการเสียชีวิตของนายอะเบ ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมก่อนล่วงหน้านายชัยภูมิหนึ่งเดือน ในลักษณะคล้ายกัน โดยศาลจะนัดฟังคำไต่สวนในวันที่ 26 กรกฎาคมนี้

“ความจริงเกี่ยวกับการตายของนายชัยภูมิ ป่าแส ยังมีความคลุมเครือและสร้างความเคลือบแคลงใจแก่ฝ่ายญาติผู้ตายและสังคมไทย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีประเด็นที่ถูกพูดถึงและเรียกร้องมาตลอดจากทางญาติ คือ ขอให้มีการเปิดเผยภาพจากกล้องวงจรปิดในวันเกิดเหตุ แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่มีการเปิดเผยแต่อย่างใด” นางอังคณากล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ ทั้งสองกรณีนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดกับกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง และมีประเด็นเรื่องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเป็นสำคัญ ดังนั้นสิ่งที่ควรจะทำคือคุ้มครองผู้เห็นเหตุการณ์ ให้พยานเกิดความมั่นใจ และเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น

นางอะหมี่มะ แซ่หมู่ มารดาของอะเบ กล่าวว่า หลังจากสูญเสียลูกชายอย่างกะทันหัน ตอนนี้มองไปทางไหนก็คิดถึงแต่ลูกชายมาก เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกระทบกระเทือนจิตใจและเศร้าเสียใจเป็นที่สุด ทำให้ทุกวันนี้ไม่มีสมาธิในการทำงาน อยากให้ลูกชายได้รับความเป็นธรรมในครั้งนี้

“ตอนลูกชายมีชีวิตอยู่ดูแลแม่เป็นอย่างดี เสียใจที่สุด วันที่เสียชีวิตเป็นวันที่เขามาส่งแม่ที่ไร่ข้าวโพด และกำลังกลับไปเอาของใช้จำเป็นมานอนกับแม่ แต่ทราบข่าวอีกทีว่าถูกทหารยิงแล้ว”

นางอะหมี่มะกล่าวอีกว่า ขณะที่ไปดูศพลูกชายยังถูกเจ้าหน้าที่ทหารไม่อนุญาตให้เข้าถึงศพ ซึ่งสภาพตอนนั้น ยังมีเสบียงและของใช้ภายในกระเป๋า รวมถึงโทรศัพท์มือถือมูลค่า 600 บาท ซึ่งภายหลังถูกเจ้าหน้าที่ทหารยึดไป และจากการเสียลูกชายอันเป็นที่รักไป ทำให้ตอนนี้มีความลำบากมาก และไม่อยากเข้าไปทำไร่ เพราะทุกครั้งที่ไปจะคิดถึง เมื่อเห็นรอยเท้าของลูกชาย และหลังจากลูกชายเสียชีวิต ได้มีตัวแทนเจ้าหน้าที่ทหารมาเขาพบเพื่อยื่นข้อเสนอ มอบเงินจำนวนสามแสนบาทให้ เพื่อขอให้ยุติการเรียกร้องความยุติธรรมและยุติคดีความ แต่ตนไม่รับ เนื่องจากอยากได้ชีวิตลูกชายคืนและไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้กับคนอื่นอีก ถ้าหากรับเงินไว้ เกรงว่าจะทำแบบนี้กับคนอื่นอีก

“ตอนนี้ยกที่ทำกินบริเวณบ้านให้คนอื่นแล้ว เหมือนหัวใจแตกสลาย ไม่มีวันไหนที่ไม่เสียใจ ถึงจะยากจน ไม่มีเงิน แต่ครอบครัวก็ไม่คิดจะทำผิดกฎหมายหรือค้ายาเสพติดแน่นอน ยิ่งพูดก็ยิ่งปวดใจ”

ด้านนายไมตรี จำเริญสุขสกล ญาตินายชัยภูมิ กล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมในสังคมไทยมีอยู่จริง แต่บันไดในการเข้าถึงนั้นเข้าถึงยาก ซึ่งครอบครัวตนไม่รู้เรื่องกฎหมาย อีกทั้งภายหลังการเสียชีวิตของนายชัยภูมิก็มีการตั้งข้อหากับญาติของนายชัยภูมิอีกสองคนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องจริง ทำให้การต่อสู้ลำบาก

“ต้องใช้เงินประกันสองล้านบาท เราจะหามาจากไหน มีคนให้ไปกองทุนยุติธรรม ซึ่งก็ได้รับความช่วยเหลือ แต่ศาลก็ไม่อนุญาตให้ประกันตัว สุดท้ายคนที่ไม่มีความผิดต้องอยู่ในเรือนจำถึง 1 ปีเต็มๆ ซึ่งตอนนี้ได้ออกมาแล้ว โดยศาลยกฟ้องทั้ง 2 คน” นายไมตรีกล่าว และว่า จะทวงความยุติธรรมให้นายชัยภูมิให้ได้ โดยเฉพาะเรื่องกล้องวงจรปิดที่เป็นพยานสำคัญ และไม่เชื่อว่าภาพจากกล้องวงจรปิดจะหาย

พร้อมตั้งคำถามว่า หากนายชัยภูมิไม่ได้กระทำผิดจริงควรทำอย่างไร และจะปล่อยให้ผู้กระทำผิดที่เป็นคนฆ่านายชัยภูมิลอยนวลหรือไม่ พร้อมย้ำว่า การเรียกร้องความยุติธรรมครั้งนี้ไม่ใช่แค่กรณีของชัยภูมิเท่านั้น แต่ไม่อยากให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดกับใครอีก รวมถึงอยากให้คนจนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้ง่ายและเป็นธรรม ไม่แบ่งว่าใครคือเจ้าหน้าที่ ใครคือประชาชน ที่สำคัญการวิสามัญฆาตกรรมไม่ควรกระทำง่ายเช่นนี้

นายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความในคดีของชัยภูมิและอะเบ กล่าวว่า ปัญหาที่พบคือ ชั้นไต่สวนหาความจริงในชั้นศาล พนักงานอัยการไม่ได้นำพยานสำคัญหลายอย่างเข้ามาใช้ไต่สวน โดยคดีของชัยภูมิมีประจักษ์พยานเห็นเหตุการณ์ว่านายชัยภมิถูกทหารทำร้ายร่างกาย และเมื่อลุกขึ้นหนีจึงมีการลั่นไกปืนขึ้น ทำให้เสียชีวิต ไม่ได้มีเหตุการณ์เอามีดฟันเจ้าหน้าที่ทหารตามที่เป็นข่าว รวมถึงมีครูและนักเรียนยืนยันความประพฤติของชัยภูมิด้วยว่าเป็นเด็กอย่างไร และเป็นจิตอาสา ซึ่งข้อคิดเห็นเหล่านี้ถือเป็นประโยชน์ต่อพฤติกรรมของผู้ตายว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด รวมถึงคำให้การของเจ้าหน้าที่ทหารที่ระบุว่ามีกล้องวงจรปิดใช้ได้ 6 ตัว ชำรุด 3 ตัว

“เมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา หลังจากยื่นหนังสือต่อผู้บัญชาการทหารบก ทราบว่าหลังจากยื่นหนังสือ กองทัพบกได้มีหนังสือให้แม่ทัพภาคสามดำเนินการแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่มีหนังสือตอบมาแต่อย่างใด ซึ่งถือว่าล่าช้า หากสัปดาห์หน้ายังไม่มีการตอบรับมา อาจจะต้องมีหนังสือทวงถามไปยัง ผบ.ทบ.อีกครั้งหนึ่ง”

สุดท้าย นายรัษฎาฝากไว้ว่า รู้สึกดีใจที่ในการเสวนาร่วมพูดคุยและมองปัญหาร่วมกันในวันนี้ เห็นว่าเรื่องนี้ควรมองปัญหาร่วมกันทุกฝ่าย ทั้งตัวแทนผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม หน่วยงานตำรวจ นิติเวชศาสตร์ มาร่วมกันดูว่าบทบาทหน้าที่ตามกฎหมายทำได้สมบูรณ์ครบถ้วนดี หรือมีข้อบกพร่องอะไรหรือไม่ เพื่อพัฒนาแก้ไข หรือปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ต้องดูว่าแต่ละหน่วยงานปฏิบัติหน้าที่สมบูรณ์แล้วหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image