รองโฆษกตร.โต้ปม ‘ริดรอนทางเพศ’ แจงเหตุไม่เปิดรับพนักงานสอบสวนหญิง

จากกรณีที่​ น.ส. รัชดา ธนาดิเรก อดีตสส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ และเครือข่ายสตรีจัดเวทีเสวนาด้านความเสมอภาคทางเพศ​ได้เสนอข้อเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศ​ และมีความเห็นกรณี​การรับสมัครบุคคลธรรมดา ข้ารับราชการตำรวจในตำแหน่งพนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าไม่คำนึงถึงความเสมอภาคตามหลักสากล เนื่องจากเปิดรับสมัครแต่เพศชายเท่านั้น

เมื่อเวลา22.40น.วันที่ 4สิงหาคม พ.ต.ท.ปองพล เอี่ยม​วิจารณ์​ รองโฆษก​สำนักงาน​ตำรวจแห่งชาติ ออกมาชี้แจงว่า เนื่องจากในปัจจุบัน สํานักงานตํารวจแห่งชาติประสบภาวะขาดแคลนพนักงานสอบสวนกว่า 2,000 ตำแหน่ง แต่ในวาระนี้สามารถเปิดรับสมัครได้เพียง 250 ตำแหน่งเท่านั้น จึงยังคงขาดแคลนพนักงานสอบสวนอีกกว่า 1,700 ตำแหน่ง ส่งผลให้ไม่สามารถให้บริการพี่น้องประชาชนทั่วประเทศได้อย่างเพียงพอและทั่วถึง โดยในปัจจุบันพนักงานสอบสวนที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ตามสถานีตำรวจต่างๆ ทั่วประเทศ ต้องแบกรับภาระปริมาณงานที่สูงเกินศักยภาพที่บุคคลจะสามารถรับได้ โดยพนักงานสอบสวนหนึ่งคน ควรจะรับผิดชอบ​คดีเพียงแค่ 70 คดีต่อปีเท่านั้น แต่ในปัจจุ​บัน​กลับพบว่าพนักงานสอบสวนบางคนรับคดีมากกว่า1,000 คดีต่อปี เป็นเหตุให้มีปัญหาการลาออกจากราชการเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพนักงานสอบหญิง เนื่องจากส่วนใหญ่ต้องแบกรับภาระหน้าที่ทางครอบครัวที่หนักกว่าพนักงานสอบสวนชาย รวมไปถึงความรับผิดชอบอื่นๆ ส่วนพนักงานสอบสวนที่ยังคงรับราชการอยู่ต้องประสบภาวะ ปริมาณงานที่มากเกิน ศักยภาพ ทำให้มีสำนวนคั่งค้างเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดความเครียดสะสมจนทำให้พนักงานสอบสวนบางรายตัดสินใจกระทำอัตวิบาตกรรมดังที่มีการนำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้ ดังนั้น การที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งเปิดรับสมัครบุคคลธรรมดาเข้าเป็นข้าราชการตำรวจในตำแหน่งพนักงานสอบสวน โดยเปิดรับสมัครแต่เพศชายในกรณีนี้ ด้วยมีเจตนารมณ์​ที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นการเร่งด่วน โดยคำนึงถึงสวัสดิภาพของเพศหญิงเป็นสำคัญ หาใช่การริดรอนสิทธิสตรีไม่

“สำหรับกรณีที่ การเสวนาดังกล่าวได้แสดงความห่วงใยเรื่องความเปราะบางของผู้เสียหายหรือเหยื่อที่เป็นสตรีและเด็กนั้น ยังมีนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงที่จะจบการศึกษา​จากโรงเรียนนายร้อย​ตำรวจทุกปีมาบรรจุเป็นพนักงานสอบสวนอยู่อีกส่วนหนึ่งแล้ว นอกจากนั้นในการสอบปากคำผู้เสียหายที่มีความเปราะบางทางอารมณ์นั้น ตามกฎหมายแล้วต้องกระทำร่วมกันกับสหวิชาชีพและ กระทำอย่างมืออาชีพ ซึ่งพนักงานสอบสวนทุกคนไม่ว่าชายหรือหญิงล้วนคำนึงถึงประเด็นนี้เป็นสำคัญอยู่แล้ว และจากสถิติพบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 ถึง 2559 นั้น คดีความรุนแรงทางเพศ​นั้นมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ อย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมที่มีจำนวนกว่า 3,300 คดีต่อปี ลดลงเหลือเพียง 2,200 คดีต่อปี ซึ่งสถิติการลดลงนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ที่พนักงานสอบสวนหญิงที่จบการศึกษา​จากโรงเรียนนายร้อยตำรวจและลงปฏิบัติงานจริงเป็นปีแรก นอกจากนั้นโรงเรียนนายร้อย​ตำรวจยังเป็นสถาบันแรกที่เปิดรับนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงเข้าฝึกและศึกษา​ร่วมกับนักเรียนนายร้อยตำรวจชายที่จบจากโรงเรียนเตรียมทหาร และจากทางอื่ เพื่อจะไปปฏิบัติหน้าที่ในขอบเขตงานที่เกี่ยวกับเพศเป็นหลัก ย่อมแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริง​ที่จะสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พ.ต.ท.ปองพล กล่าวต่อว่า ในภายภาคหน้าเมื่อสภาวะความขาดแคลนพนักงานสอบสวนบรรเทาเบาบางลงแล้ว สํานักงานตํารวจแห่งชาติพิจารณาเปิดรับพนักงานสอบสวนหญิงในอัตราส่วนที่มากกว่า พนักงานสอบสวนชาย เพื่อทดแทนพนักงานสอบสวนหญิงที่ลาออกไปเป็นจำนวนมากก็เป็นได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image