ลุ้นระทึก คำพิพากษาคดีสลายม็อบพธม.ปิดล้อมรัฐสภาปี’51 ‘พล.ต.ท.สุชาติ’ มาถึงศาลแต่เช้า

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถนนแจ้งวัฒนะ ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการเตรียมความพร้อมอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ คดีที่ ป.ป.ช.ยื่นอุทธรณ์ในส่วนของ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อายุ 67 ปี อดีต ผบช.น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2560 ยกฟ้องร่วมกับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 26, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. (น้องชาย พล.อ.ประวิตร รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม) ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีการออกคำสั่งขอคืนพื้นที่การชุมนุมจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่ปิดล้อมทางเข้ารัฐสภา ปี 2551 จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

โดยวันนี้ พล.ต.ท.สุชาติ อดีต ผบช.น. เดินทางมาถึงศาลตั้งแต่ช่วงเช้าเวลา 08.00 น. ก่อนถึงเวลานัดฟังคำพิพากษาในเวลา 10.00 น.

ขณะที่ในส่วนองค์คณะ 9 คนที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อพิจารณาอุทธรณ์นั้น ก็ได้ประชุมภายในองค์คณะเมื่อเวลา 08.00 น.เพื่อลงมติผลคำพิพากษาอุทธรณ์แล้ว

สำหรับบรรยากาศโดยรอบอาคารศาลฎีกานั้น ก็มีทั้งเจ้าหน้าที่ รปภ.ประจำศาลเกือบ 10 นาย ตรวจตราและตรวจสอบบุคคลที่เข้ามาภายในอาคารศาล โดยมีการจัดเรียงแผงกั้นเหล็กรอบทางเข้าอาคารศาลด้านหน้าพร้อมติดประกาศข้อความ “ห้ามประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล” รวมทั้งกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 30 นาย จาก สน.ทุ่งสองห้อง ที่มาประจำการโดยรอบศาลเพื่อดูแลความเรียบร้อย และป้องกันเหตุที่เกรงว่าอาจจะมีกลุ่มผู้สนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก่อความวุ่นวาย แต่อย่างไรก็ดี วันนี้คงมีเพียงผู้สื่อข่าวทั้งทีวี-หนังสือพิมพ์จากหลายสำนักเท่านั้นที่มาติดตามทำข่าวอย่างใกล้ชิด ซึ่งการเข้าฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ในห้องพิจารณาคดี เจ้าหน้าที่ก็จะให้ฝากเครื่องมือสื่อสารทุกชนิดไว้ด้านนอกเพื่อป้องกันการอัดเสียง ถ่ายภาพองค์คณะขณะอ่านคำพิพากษา

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับองค์คณะ 9 คน ซึ่งที่ประชุมทั้ง 176 คน ได้ลงมติเลือกให้มาพิจารณาอุทธรณ์คดีนี้ ประกอบด้วย “นางอุบลรัตน์ ลุยวิกกัย รองประธานศาลฎีกาคนที่ 1, นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ รองประธานศาลฎีกาคนที่ 3, นายวิชัย เอื้ออังคณากุล รองประธานศาลฎีกาคนที่ 5, นายพรเทพ อัมพรกลิ่นแก้ว รองประธานศาลฎีกาคนที่ 6, นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา, นายสุนทร ทรงฤกษ์ ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา, นายสู่บุญ วุฒิวงศ์ ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา, นายสุรพันธุ์ ละอองมณี ประธานแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศในศาลฎีกา และนายทวี ประจวบลาภ ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา”

ซึ่งการอุทธรณ์คดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำตัดสินนั้น ได้มีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 195 วรรคสี่ “ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาลงมติเลือกผู้พิพากษาจํานวน 9 คนเป็นองค์คณะพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งประกอบด้วย ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดํารงตําแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา หรือผู้พิพากษาอาวุโส ซึ่งเคยดํารงตําแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ซึ่งผู้พิพากษานั้นต้องไม่เคยพิจารณาคดีดังกล่าวมาก่อนและเมื่อองค์คณะของศาลฎีกาดังกล่าวได้วินิจฉัยแล้วให้ถือว่าคําวินิจฉัยนั้นเป็นคําวินิจฉัยอุทธรณ์ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image