คุมประพฤติเผยกว่า 5,000 คน ‘เมาแล้วขับ’ สงกรานต์ ถูกจับคาด่านวัดแอลกอฮอล์-กทม.แชมป์

 พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันท์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ พร้อมด้วยนายนนทจิตร เนตรพุกกณะ ผอ.กองกิจการชุมชนและบริการชุมชน และนายพยนต์ สินธุนาวา ผอ.สำนักพัฒนาการคุมประพฤติ แถลงผลสรุปยอดผู้ถูกคุมความประพฤติคดีเมาแล้วขับ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2559

คุมประพฤติเผยกว่า 5,000 ราย “เมาแล้วขับ” สงกรานต์ ถูกจับคาด่านตรวจ เป่าวัดปริมาณแอลกอฮอล์ กทม.ครองแชมป์อันดับหนึ่ง ยอดคดีสูงกว่าสงกรานต์ปีที่แล้วกว่า 1,000 คดี

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 20 เมษายน ที่กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันท์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ พร้อมด้วยนายนนทจิตร เนตรพุกกณะ ผอ.กองกิจการชุมชนและบริการชุมชน และนายพยนต์ สินธุนาวา ผอ.สำนักพัฒนาการคุมประพฤติ แถลงผลสรุปยอดผู้ถูกคุมความประพฤติคดีเมาแล้วขับ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2559 ว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ มีการเกิดอุบัติเหตุถึง 3,447 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 442 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 3,656 ราย มีคดีเข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติ จากสำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ มีจำนวน 5,631 ราย แบ่งเป็นขับรถขณะเมาสุรา 5,228 คดี คดีอื่นๆ 403 คดี รวมถึงคดีขับรถประมาท 24 คดี ทั้งนี้ เปรียบเทียบกับสถิติคดีขับรถขณะเมาสุราช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2558 ที่มีคดีทั้งสิ้น 4,051 คดี พบว่าสงกรานต์ปีนี้ มีจำนวนเพิ่มขึ้น 1,177 คดี คิดเป็นร้อยละ 29.05 และจังหวัดที่มีสถิติคดีสูงสุด 3 อันดับ คือ กรุงเทพฯ 284 คดี จ.ปทุมธานี 265 คดี และจ.สกลนคร 223 คดี นอกจากนี้จากการติดตามผู้ที่พ้นการคุมความประพฤติพบว่าในคดีขับขี่รถขณะเมาสุรา มีผู้กระทำผิดซ้ำตลอดปีงบประมาณ 2558 คิดเป็นร้อยละ 5.18 เท่านั้น

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการบังคับโทษตามคำพิพากษาของศาลของกรมคุมประพฤตินั้น คือให้ผู้ถูกคุมความประพฤติมารายงานตัวกับเจ้าพนักงานคุมประพฤติ ซึ่งจะทำการสัมภาษณ์ และชี้แจงผู้ถูกคุมความประพฤติจะต้องมารายงานตัวกี่ครั้ง และแต่ละครั้งจะต้องทำอะไรบ้าง มีเงื่อนไขอย่างไร ซึ่งเราจะใช้มาตรการบริการสังคมอย่างเข้มข้น ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีมาแล้ว 2 มาตรการ คือ 1.ให้ทำงานบริการสังคมอย่างน้อย 48 ชั่วโมง และ 2.เราจะใช้ให้บริการสังคมในเชิงที่เข้มข้น คือให้เข้าไปบริการสาธารณะบำเพ็ญประโยชน์ ช่วยเหลือบุคลากรในโรงพยาบาล หรือที่มูลนิธิในการไปดูแลผู้เจ็บป่วยและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนน  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคคลเหล่านี้เข้าไปเห็นความเจ็บปวด การสูญเสีย และได้สัมผัสกับญาติพี่น้องที่เดินทางมารับศพ รวมถึงจะได้พูดคุยกับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุด้วย ก็เพื่อให้เกิดความสำนึกผิดและไม่อยากกระทำผิดอีก

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องที่มีความกังวลว่าจะละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น ต้องขอเรียนให้เข้าใจว่า ผู้ที่ถูกคุมความประพฤติคือผู้ที่ทำผิดกฎหมายอาญา เราไม่ได้ไปกวาดต้อนพลเมืองดีที่ไหนให้ไปห้องดับจิตหรือไปช่วยเหลือแพทย์และพยาบาลดูแลผู้ป่วย ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นผู้ที่กระทำผิดกฎหมายอาญาซึ่งหลายรายมีโทษจำคุกแล้วทั้งสิ้น แต่ศาลมีเมตตาแล้วโดยให้รอลงอาญาและมาถูกคุมความประะพฤติ ดังนั้น ก็เป็นพันธกรณีเป็นข้อกำหนดตามกฎหมายว่าจะต้องมาดำเนินการ หากไม่มีกรมคุมประพฤติ และกฎหมายอาญามาตรา 56 คนกลุ่มนี้ก็ต้องเข้าสู่เรือนจำ จึงไม่คิดว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

Advertisement

“มาตรการห้องดับจิตนั้น ความจริงแล้วมาจากพี่น้องประชาชนเป็นผู้ที่เขียนจดหมายเสนอแนะเข้ามา โดยการเข้าไปทางเว็บไซต์ ซึ่งก็มีความรู้สึกร่วมว่ามันเป็นเรื่องอะไรที่คนไทยจะต้องมาเสียชีวิตหลายร้อยคนในทุกช่วงเทศกาล ก็เสนอแนะขึ้นมาผ่านทั้งกระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงคมนาคม บอกว่าทำไมไม่เอาไปบริการสังคมในโรงพยาบาล ทั้งในห้องไอซียู หรือห้องดับจิต รวมถึงให้ตามรถมูลนิธิไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ซึ่งทางราชการก็ได้มาดูข้อกฎหมายว่าสามารถทำได้หรือไม่ ก็พบว่าสามารถดำเนินการได้” พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าว

13054437_10208502788982916_2101904219_o

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในจำนวนขับรถขณะเมาสุรา 5,228 คดี ที่ศาลสั่งบริการสังคมลักษณะอย่างไรบ้าง พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวว่า โดยทั่วไปศาลจะสั่งมา 2 ลักษณะ คือ บริการสังคมแล้วแต่ดุลยพินิจของเจ้าพนักงานคุมประพฤติ อีกลักษณะเป็นการที่ศาลสั่งชัดเจน คือ ให้ไปทำงานบริการสังคมบำเพ็ญประโยชน์ในโรงพยาบาล

Advertisement

นายนนทจิตร กล่าวเสริมว่า จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นที่ศาลสั่งแล้ว 5,000 กว่ารายในปีนี้ ร้อยละ 90 เป็นประเภทเป่าวัดปริมาณแอลกอฮอล์แล้วเมา ซึ่งเป็นช่วงต้นทางยังไม่ถึงเหตุ แต่ทางกรณีที่เป็นเหตุที่มีการบาดเจ็บและเสียชีวิต ศาลจะมีการสั่งสืบเสาะก่อน ซึ่งขณะนี้ข้อมูลที่เมาแล้วขับ 5,000 กว่าคดี เป็นการเมาแล้วขับ ซึ่งเกิดจากการเป่าวัดปริมาณแอลกอฮอล์ แล้วเกินค่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งศาลจะสั่งแบบพื้นที่ปกติคือ คุมความประพฤติรายงานตัวปีหนึ่ง 4 ครั้ง และทำงานบริการสังคม ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเจ้าพนักงานว่าจะให้บริการสังคมในด้านใด ส่วนประเด็นที่ศาลสั่งให้มีการสืบเสาะนั้น ขณะนี้ยังไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจน

พ.ต.อ.ณรัชต์ ยังกล่าวว่า ขณะนี้ประมวลกฎหมายอาญาได้มีการแก้ไขใหม่ มีพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่ 25 ปี 2559 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา และมีผลบังคับใช้วันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งกรมคุมประพฤติเริ่มมีอำนาจในการจัดการ ซึ่งจากเดิมในมาตรา 56 ศาลบอกว่าในกรณีทำบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ แต่เดิมกฎหมายใช้คำว่า “หรือจัดให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือบำเพ็ญประโยชน์ตามที่เจ้าพนักงาน และผู้กระทำความผิดเห็นสมควร” ซึ่งหมายความว่าต้องได้รับความยินยอมจากผู้ถูกคุมความประพฤติ ซึ่งเราก็มีอำนาจหน้าที่ไม่เต็มที่

อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวด้วยว่า กฎหมายใหม่ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมและมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมานั้น ได้เพิ่มอำนาจหน้าที่ให้เจ้าพนักงานคุมประพฤติ ได้เขียนว่า “เงื่อนไขการคุมประพฤติศาลอาจกำหนดข้อเดียวหรือหลายข้อก็ได้ ดังนี้ก็คือ 1.ให้ไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานที่ศาลระบุไว้เป็นครั้งคราว เพื่อเจ้าพนักงานจะได้สอบถามแนะนำช่วยเหลือหรือตักเตือนในเรื่องความประพฤติในการประกอบอาชีพ หรือจัดให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์” ดังนั้น จึงเป็นดุลยพินิจของเจ้าพนักงานคุมประพฤติในการตัดสินใจให้ผู้ถูกคุมความประพฤติไปบำเพ็ญประโยชน์ในด้านไหน โดยไม่ต้องรอคำยินยอมจากผู้ถูกคุมประพฤติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image