เลินเล่อ-แหกกฎ ต้นตอ ‘อุบัติเหตุ’ คร่าชีวิต

โศกนาฏกรรมรถชนผู้เคราะห์ร้ายตกลงมาจากทางด่วนไม่ใช่เหตุการณ์ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก หากแต่ภายในปีนี้ได้เกิดขึ้นอีก ราวกับเหตุอุบัติซ้ำของภัยธรรมชาติที่มาจากความประมาทเลินเล่อของผู้ขับขี่

จากกรณีที่มีผู้ขับรถชนชายชาวกะเหรี่ยงตกจากสะพานลอยฟ้าบรมราชชนนีเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมก่อน จนถึงเหตุรถฟอร์จูนเนอร์ชนผู้สูงวัยตกจากทางพิเศษฉลองรัช ต่างมีความคล้ายคลึงกันเพราะผู้เสียชีวิตจอดรถบนไหล่ทางด้วยเหตุที่รถเสียถูกต้องตามกฎหมายที่อนุโลมให้ใช้ช่องทางดังกล่าวได้เมื่อมีเหตุจำเป็น แต่ที่น่าเศร้าก็เพราะกรณีของผู้สูงวัยนั้นได้จอดอยู่หน้าตู้โทรศัพท์ฉุกเฉินเสียด้วยซ้ำไป

กลายเป็นว่า ทางด่วน-ทางรถเร็วŽ ที่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของคนกรุงใช้อำนวยความสะดวกเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหารถติดขัดในท้องถนนด้านล่าง ก็นำพามาซึ่งความมักง่ายและความคึกคะนองของคนบางกลุ่มที่ไม่สนใจจะเคารพกฎจราจรจนเกิดเหตุน่าสลดนี้ขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ช่วงวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา พล.ต.ต. จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ได้พูดภายหลังการประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาการจราจร ถึงอุบัติเหตุรถชนคนตกทางด่วน พร้อมย้อนถามกลับไปที่ต้นเหตุของการตีเส้นทึบบนไหล่ทางได้เห็นเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าไม่ใช่ช่องทางสำหรับรถวิ่ง

Advertisement

แต่หลายคนยังเข้าใจว่าเป็นช่องทางพิเศษ ซึ่งตามจริงแล้วจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อกรณีรถเสีย หรือเพื่อเร่งระบายรถโดยต้องมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยควบคุม ที่สำคัญไหล่ทางยังเป็นช่องเดินรถฉุกเฉินให้รถกู้ชีพเดินทางไปยังจุดหมายได้เร็วขึ้น เพราะหากมีรถติดเต็มถนนทั้ง 4 เลนก็ไปไม่ได้

“จากสถิติของการทางพิเศษพบว่ามีรถหลายร้อยคันทีเดียวที่เข้าไปวิ่งในไหล่ทางและเกิดเหตุรถชน ปกติแล้วไหล่ทางก็มีไว้เพื่อจอดรถเสีย รถตาย เพื่อให้ผู้ขับขี่ลงไปโทรศัพท์แจ้งเหตุยังจุดที่มีการติดตั้งไว้ ต้องให้ความรู้กับผู้ใช้รถว่าไม่ควรเข้าไปวิ่ง แต่อาจใช้ได้บางเวลาที่ต้องเร่งระบายรถ หรือใช้ยามเกิดเหตุฉุกเฉิน จากเหตุรถชนป้าตกสะพานเมื่อวานนี้ ผมบอกให้พนักงานสอบสวนแจ้งดำเนินคดีผู้ขับรถฟอร์จูนเนอร์ให้ครบทั้งหมดทุกข้อหา ตั้งแต่ขับรถในเส้นทึบ, ขับขี่โดยประมาทจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและชนทรัพย์สินเสียหาย จนถึงการเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่”Ž พล.ต.ต.จิรพัฒน์กล่าว

ส่วน พ.ต.ท.ฉัตรชัย เอี่ยมอ่อง รองผู้กำกับฝ่ายสอบสวน สน.ทางด่วน 1 ผู้รับผิดชอบคดีนี้ บอกว่า ตอนนี้ยังมีความเข้าใจผิดในประเด็นที่ว่ารถฟอร์จูนเนอร์คันดังกล่าวมีความผิดฐานขับทับเส้นทึบ แต่จริงๆ แล้วคือความผิดฐานขับรถบนไหล่ทาง ซึ่งกฎหมายก็บอกว่าอยู่แล้วว่าไม่ใช่ช่องทางเดินรถ แต่กำหนดไว้ให้คนเดิน ส่วนรถก็ขับในช่องทางเดินรถตามปกติ

Advertisement

“สำหรับความผิดที่ขับรถบนไหล่ทางยังไม่มีกฎหมายหรือบทลงโทษกำหนดไว้โดยเฉพาะ แต่มีกฎหมายที่ระบุถึงการไม่ปฏิบัติตามเครื่องหมายการจราจร ซึ่งเส้นทึบบนพื้นถนนก็ถูกนับเป็นเครื่องหมายจราจร ก็มาปรับใช้กับผู้ทำผิดที่ขับรถบนไหล่ทางว่าคุณฝ่าฝืนการปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจร อย่างเส้นก้างปลาที่แบ่งช่องเดินรถเข้าออกก็เหมือนกัน ถือเป็นเครื่องหมายจราจรŽ”

ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติโทษของผู้ที่ฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรตาม พ.ร.บ.จราจร ปี 2522 กำหนดโทษเปรียบเทียบปรับไว้ในราคาตั้งแต่ 400-1,000 บาท ซึ่งได้ถูกนำมาใช้เป็นข้อกล่าวหาต่อผู้ขับรถฟอร์จูนเนอร์ตามข่าว

ภาพบนสื่อที่ปรากฏในห้วงปีนี้เราคงได้เห็นข่าวอุบัติเหตุรถชนคนตกทางด่วนมาแล้วครั้งหนึ่ง และก็เพิ่งจะเกิดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งต้นเหตุหลักตามความเห็นของ พ.ต.ท.ฉัตรชัย มีอยู่ 2 ส่วน คือผู้ขับขี่ที่ไม่เคารพกฎจราจรที่ต้องดูว่าชนเพราะอะไร เพราะวิ่งมาบนไหล่ทางหรือไม่ อีกด้านหนึ่งก็คือคนที่จอดรถเอง ก็ต้องเชื่อฟังกฎว่าต้องปฏิบัติอย่างไรเมื่อมีเหตุรถเสียต้องจอดบนไหล่ทาง

ส่วนข้อแนะนำไปยังประชาชนว่าจะต้องทำอย่างไรให้เข้าใจตรงกันว่าไหล่ทางไม่ได้เปิดเป็นช่องทางเดินรถพิเศษ พ.ต.ท.ฉัตรชัยบอกว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนควรรู้กันอยู่แล้ว อย่างบางเส้นที่ถนนบางขุนเทียน-กาญจนาภิเษกก็มีป้ายชัดเจนว่าห้ามขับรถบนไหล่ทาง ไม่มีความจำเป็นต้องบรรจุลงไปในข้อกฎหมายว่าห้ามวิ่งรถบนไหล่ทาง หากฝ่าฝืนจะมีโทษอย่างไร ก็เพราะเรามีกฎหมายหลักอยู่แล้วคือ พระราชบัญญัติจราจรทางบก แค่ทำได้ก็ไม่เกิดเหตุขึ้น

“ถามว่าทำไมต้องเพิ่มมาตรการบางอย่างขึ้นมาในเมื่อกฎหมายหลักมันมีอยู่แล้ว ก็เพราะว่าคุณทำตามกฎหมายที่มีอยู่แล้วหรือไม่ ห้ามขับรถย้อนศร ห้ามขับรถในช่องทางด่วนก็มีอยู่แล้ว ถ้าถามว่าต้องเพิ่มไหม ผมว่าต้องเพิ่มกฎหมายทุกมาตราแล้ว”Ž พ.ต.ท.ฉัตรชัยกล่าว และว่า ยุทธวิธีการตรวจสอบเพื่อให้ความช่วยเหลือกับประชาชนของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรเมื่อพบอุบัติเหตุนั้น ต้องมีการฝึกซ้อมรับมือเหตุการณ์ลักษณะนี้ เช่น ต้องเปิดสัญญาณไฟอย่างไร หรือจอดรถห่างกันกี่เมตร แต่กับกรณีที่เกิดขึ้นนั้นเจ้าหน้าที่เพิ่งจะลงจากมอเตอร์ไซค์มาได้ไม่กี่นาที ยังไม่ทันจะดำเนินการป้องกันได้ทัน การทำงานของตำรวจถูกมองว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งเมื่อมีผู้ทำผิดก็ต้องมีผู้บังคับใช้กฎหมายมาเปรียบเทียบปรับ

ทั้งนี้ สำหรับผู้ใช้รถใช้ถนนแล้วการถือครองใบขับขี่ก็เป็นเหมือนประกาศนียบัตรที่ชี้วัดให้เห็นว่าผู้ถือบัตรได้ผ่านการอบรมอย่างถูกต้องแล้ว แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นการบ่งบอกถึงวินัยและคุณภาพของผู้ขับขี่

ปัญหาจากการใช้รถต่างๆ จะไม่หมดไปหากไม่ได้รับการแก้ไขจากต้นทาง ซึ่งยังต้องอาศัยหลายส่วนร่วมกันป้องกัน โดยเริ่มต้นจากการปลูกฝังจิตสำนึกของคนในครอบครัวเพื่อตรวจสอบและอบรมวินัยตั้งแต่ในบ้านไปจนถึงสังคมภายนอกให้ปรับปรุงพฤติกรรม เป็นต้นทางระงับการเกิดเหตุอุบัติซ้ำ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image