ตัวแทนคนพิการร้องดีเอสไอ สอบจนท.โกงเงินคนพิการทั้งระบบ จี้รับเป็นคดีพิเศษ

เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) นายปรีดา ลิ้มนนทกุล ตัวแทนเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ พร้อม ผู้พิการ ประมาณ 10 คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ เพื่อขอความเป็นธรรม กรณีเจ้าหน้าที่รัฐทุจริตเงินสนับสนุนคนพิการทั่วประเทศหลายพันล้านบาท ซึ่งขอให้รับเป็นคดีพิเศษและพิจารณาให้การคุ้มครองคนพิการที่ออกมาเปิดโปง โดยมี นายบัณฑิต สังขนันท์ ผอ.ส่วนพิจารณาสำนวนร้องทุกข์ ดีเอสไอ เป็นผู้รับเรื่อง

นายปรีดา กล่าวอีกว่า จากการสำรวจจำนวนผู้พิการทั่วประเทศมีกว่า 1,000,000 คน มีการลงทะเบียนกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน และสถานประกอบการเพื่อหางานทำจำนวน 65,000 คน ซึ่งตามมาตรา 33 มีการจ้างงานคนพิการ 25,000 คน แต่ทำงานจริงจำนวน 20,000 คน ไม่ได้ทำงานจริง 5,000 คน คิดเป็นความเสียหายส่วนนี้ประมาณ 500 ล้านบาท ส่วนการหักเงินสมทบ ตามมาตรา 34 ซึ่งบริษัทระบุว่า จะต้องมีการส่งเงินเข้ากองทุนคนพิการ 12,000 ล้านบาท ซึ่งข้อเท็จจริง มีการจ้างงานคนพิการเพียง 15,000 ราย ซึ่งควรจะมีเงินเข้ากองทุนปีละ 1,500 ล้านบาท มาตรา 35 เป็นเงินช่วยเหลืออื่น ๆ รวมทั้งการฝึกอบรมจากสมาคมและมูลนิธิคนพิการ มีการแจ้งจำนวน 25,000 คนแต่ข้อเท็จจริงมีเพียง 15,000 คน ซึ่งรวมความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตตามมาตรา 33 มาตรา 34 และมาตรา 35 รวมเป็นวงเงิน มากกว่า 1,500ล้านบาท

นายปรีดา กล่าวถึง กรณีที่กระทรวง พม.แถลงว่า ไม่มีการร้องเรียนเรื่องการถูกหักค่าหัวคิวนั้น ยอมรับว่าเป็นความจริง แต่สาเหตุที่คนพิการไม่มีการร้องเรียน เนื่องจากคนพิการมีความหวาดกลัว ความไม่ปลอดภัยเพราะแม้แต่ตนเองออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ยังถูกคุกคาม และส่วนใหญ่ไม่ทราบสิทธิของตัวเอง ทั้งที่ความจริงมีการทุจริตในเรื่องนี้ชัดเจน โดยยกตัวอย่างกรณี กรณีการจ้างคนพิการของบริษัทแห่งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งแจ้งว่าบริษัทรับคนพิการคนหนึ่งเข้าทำงาน ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2559 สัญญาสิ้นสุด 29 พฤศจิกายน 2559 โดยผู้พิการรายนี้ได้ลาออก แต่จากการตรวจสอบพบว่าผู้พิการคนนี้ยังอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาโดยไม่ได้ทำงานจริง แต่ได้รับเงินเดือนจากผู้นำคนพิการเดือนละ 7,000บาท ส่วนอีก 2,000 บาท ถูกหักเป็นค่าหัวคิว และกรณีที่จังหวัดเพชรบูรณ์มีการประกาศรับคนพิการเข้าทำงานในตำบลหนึ่งจำนวน 100 คน เมื่อไปสมัคร หลังจากนั้นได้รับบัตรพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งพร้อมเงิน500บาท โดยไม่ได้มีการทำงานจริง ทั้งหมดสามารถตรวจสอบได้

นายปรีดา กล่าวด้วยว่า ขณะได้รวบรวมข้อมูลเอกสารหลักฐานทั้งหมดไว้แล้ว และจะทยอยเปิดเผยไปเรื่อยๆ จนกว่าปัญหาจะถูกแก้ไข แต่ ถ้าหากเรื่องลุกลามบานปลายอาจจะถึงระดับนานาชาติเพราะคนพิการมีกฎหมายคุ้มครองตามหลักสากล ดังนั้น วอนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง อย่าข่มขู่คุกคาม เพราะที่ผ่านมามีความพยายามคุกคามในหลายรูปแบบ ทั้งโทรมาข่มขู่ หรือปลอมตัวเป็นผู้สื่อข่าวโทรมาให้บอกข้อมูลที่เป็นความลับต่างๆ แต่ขอให้กลับไปแก้ปัญหา โดยมองว่าถ้าแก้ปัญหาจริงจังใช้เวลาไม่น่าเกิน 1 เดือนในการตรวจสอบเนื่องจากรายชื่อคนพิการทั้งหมดเข้าไปอยู่ในระบบสามารถตรวจสอบได้

Advertisement

เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ได้รับเรื่องไว้ตรวจสอบก่อนพิจารณาตามข้อมูลหลักฐานว่าเข้าข่ายคดีพิเศษหรือไม่ ก่อนเสนอให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image