เปิดคำชี้แจง’ชำนาญ รวิวรรณพงษ์’โต้ ยื่นถอดถอน ก.ต.ศาลฎีกา

นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ (แฟ้มภาพ)

“ชำนาญ รวิวรรณพงษ์” เเจงยิบ 9 ประเด็น โต้ถูก “สืบพงษ์”กับพวก ยื่น ถอดถอน ออกจาก ก.ต.ศาลฎีกา เผย เหตุการณ์ ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรามีเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดี โดนผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนตัดถ้อยคำสำคัญพยานโจทก์ ยันไม่เคยขึ้นเบ่งเป็นผู้มีอำนาจในบัลลังก์ เผยพิรุธ ตอนโดนร้องเรียน หนังสือที่โดนร้องสาระสำคัญถ้อยคำในหนังสือของผู้พิพากษากับจำเลยในคดีเหมือนกันทั้งที่กฎหมายยังไม่อนุญาตคัดคำเบิกความ

เมื่อวันที่ 24 กันยายน นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา และ กรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ชั้นฎีกา ได้ยื่นหนังสือชี้แจงกรณีที่ถูกผู้พิพากษา จำนวน 1,734 คน ยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่งก.ต.ในชั้นศาลฎีกา ต่อผู้อำนวยการสำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เพื่อปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป โดยหนังสือมีจำนวน 13 หน้า ดังนี้

1.หลังวิกฤต ก.ต.ที่ ก.ต.2 คน แย่งกันเป็นประธานศาลฎีกา เป็นเหตุให้ผู้พิพากษา 11 คน ถูกไล่ออกจากราชการ ผมเป็นคนนำหลักสำคัญที่ว่า “ข้อเท็จจริงที่เป็นผลร้ายต่อผู้พิพากษาที่ถูกกล่าวหาไม่ว่าในทางใด ต้องให้ผู้พิพากษานั้นรู้ข้อเท็จจริงนั้นโดยถูกต้อง ครบถ้วน และต้องให้โอกาสผู้พิพากษานั้นชี้แจงอย่างเต็มที่” การลงมติที่ขัดกับหลักดังกล่าว ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นเหตุให้ ก.ต. ซึ่งเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องถูกดำเนินคดีดังที่ถูกดำเนินคดีต่อไป ป.ป.ช.มาแล้วหลายคน ตั้งแต่ประธานศาลฎีกาลงมา มติ ก.ต.จึงต้องถูกตรวจสอบได้ ซึ่งผมผลักดันมาโดยตลอด จนกระทั่งได้บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน รวมถึงหลักเกณฑ์การดำรงตำแหน่ง ก.ต.ไม่เกิน 2 วาระ เพื่อป้องกันการสร้างอิทธิพลและโรคหลงอำนาจ ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาอย่างแท้จริง หาใช่ ก.ต.เป็นหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาดังที่อ้างกันไม่

2.ก.ต.ยังคงฝ่าฝืนหน้าที่ต้องฟังความ 2 ฝ่าย และหลักสำคัญดังกล่าว ดังกรณีของนายศิริชัย วัฒนโยธิน ที่โต้แย้งว่าการพิจารณาแต่งตั้งให้ท่านดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาเมื่อปีที่ผ่านมาไม่ชอบเนื่องจากมีเพียงบัตรสนเท่ห์และเป็นเรื่องที่อนุ ก.ต.หยิบยกขึ้นมาเอง การพิจารณาของอนุ ก.ต.และ ก.ต.ยังไม่เปิดโอกาสให้ชี้แจงอย่างเต็มที่ จนปัจจุบันก็ยังไม่มีผลสรุปว่านายศิริชัยกระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา แต่ผลของการกระทำเป็นเหตุให้นายศิริชัยไม่ได้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา หรือกรณีย้ายอธิบดีผู้พิพากษาภาคโดยฟังความเพียงฝ่ายเดียว ไม่ให้โอกาสชี้แจงข้อเท็จจริงที่เป็นผลร้าย จนถึงปัจจุบันอธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้นั้นยังไม่รู้ว่าถูกย้ายด้วยเรื่องใด หรือกรณี ก.ต.ไม่แต่งตั้งผู้พิพากษาศาลชั้นต้น 2 คน ให้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลชั้นต้นโดยฟังความเพียงฝ่ายเดียว ไม่ให้โอกาสชี้แจงข้อเท็จจริงที่เป็นผลร้าย ผมจึงต้องทักท้วงให้ ก.ต.ปฏิบัติตามหน้าที่ฟังความ 2 ฝ่าย และหลักสำคัญดังกล่าว สุดท้าย ก.ต.มีมติใหม่แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลชั้นต้น โดยเฉพาะกรณีของผู้พิพากษาหญิงที่ ก.ต.มีมติใหม่เป็นเอกฉันท์ มิฉะนั้น ก.ต.เองจะเป็นคนตราบาปผู้พิพากษาหญิงไปตลอดชีวิตว่าเบี่ยงเบนทางเพศ ทั้งที่ถูกคุกคามทางเพศ และถูกข่มขู่ให้หวาดกลัว ไม่กล้าร้องขอความเป็นธรรม

Advertisement

3.นอกจากนั้น หลังวิกฤต ก.ต.ที่ ก.ต.ฝ่ายชนะรังแกผู้พิพากษาที่อยู่ข้างฝ่ายแพ้ ผมจึงเสนอให้มี ก.ต.บุคคลภายนอก เพื่อตรวจสอบและคานอำนาจ ป้องกัน ก.ต.รังแกผู้พิพากษาด้วยกันเอง แต่ปรากฏว่า ก.ต.บุคคลภายนอกไม่ได้ทำหน้าที่สมดังเจตนารมณ์ ดังตัวอย่างกรณีนายศิริชัย วัฒนโยธิน ที่ถูกกล่าวหาว่าโอนสำนวนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนถึงปัจจุบันยังไม่ปรากฏว่ามีสำนวนใดเป็นเช่นนั้น หรือที่นายสืบพงษ์เคยแถลงในฐานะโฆษกศาลยุติธรรมว่า “นายศิริชัยช้อปปิ้งผู้พิพากษา” ก.ต.บุคคลภายนอกจึงไม่จำเป็นและไม่มีประโยชน์ที่จะมีอีกต่อไปในโครงสร้าง ก.ต. จึงต้องมีการสังคายนาวิธีปฏิบัติหน้าที่ของ ก.ต.และอนุ ก.ต. โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการแต่งตั้งประธานศาลฎีกา เพราะเป็นเรื่องง่ายที่จะแกล้งกล่าวหากัน ไม่ใช่หนทางสุภาพบุรุษ

4.แม้ผมจะเป็นคนวางหลักการฟังความ 2 ฝ่าย และหลักข้อเท็จจริงที่เป็นผลร้ายต้องแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบและมีโอกาสชี้แจงอย่างเต็มที่ แต่ในการพิจารณาความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งรองประธานศาลฎีกาของผมเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2561 ทั้งอนุ ก.ต.และ ก.ต.กลับไม่ยึดถือหลักการดังกล่าว แม้อนุ ก.ต.จะเห็นว่าผมเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา แต่ในการพิจารณา ก.ต.และอนุ ก.ต.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ปกปิดข้อเท็จจริงที่เป็นผลร้ายต่อผม ไม่ได้แจ้งและให้ผมชี้แจงข้อเท็จจริงที่นางสาวมณี สุขผล ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ซึ่งถูกร้องเรียนกล่าวโทษว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ นายพัลลอง มั่นดี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา และนายสืบพงศ์ ศรีพงษ์กุล อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 ยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกาและให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จต่ออนุ ก.ต.ที่เป็นผลร้ายต่อผมในการไต่สวนเพื่อแต่งตั้งผมให้ดำรงตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา ผมแจ้งให้ ก.ต.ทราบว่าเป็นการไต่สวนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ดำเนินการไต่สวนให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ ก.ต.ยังคงฝ่าฝืน ผมจึงแจ้งว่าจะดำเนินคดีทั้ง ก.ต.และ อนุ ก.ต. แต่สุดท้ายผมเห็นว่าหากดำเนินคดี ก.ต.ซึ่งรวมทั้งประธานศาลฎีกาด้วย เพียงเพื่อตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา จะทำให้ภาพลักษณ์ของศาลยุติธรรมเสียหาย ผมจึงตกลงกับประธานศาลฎีกาว่า หากประธานศาลฎีกาโอนคดีตามที่โจทก์ขอให้โอนคดีจากศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา เพราะผู้พิพากษาศาลจังหวัดฉะเชิงเทราร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตั้งแต่นายสืบพงษ์ อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 นายวราวุธ ถาวรศิริ รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 นายพัลลอง มั่นดี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา นางสาวมณี สุขผล และองค์คณะกับเจ้าของสำนวนใหม่ ตามบันทึกเหตุการณ์การปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาศาลจังหวัดฉะเชิงเทราเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2561 ของผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ที่ผมได้แจ้งให้ ก.ต.ทราบด้วยแล้ว ผมจะไม่ดำเนินคดี ก.ต.

5.การอำนวยความยุติธรรมเบื้องต้นในการพิจารณาพิพากษาคดีคือการบันทึกคำเบิกความพยานให้ได้สาระถูกต้องครบถ้วน เพราะข้อเท็จจริงในคดีจะเข้าสู่สำนวนได้มากน้อยเพียงใดก็ด้วยการบันทึกคำเบิกความพยาน ทั้งนี้ หากบันทึกไม่ได้สาระถูกต้องครบถ้วน ศาลสูงย่อมไม่เห็นข้อเท็จจริงนั้นและไม่มีข้อเท็จจริงให้คู่ความใช้ในการอุทธรณ์ ฎีกา นอกจากนี้ระบบอุทธรณ์ฎีกาของศาลไทย ข้อเท็จจริงที่จะยกขึ้นอุทธรณ์หรือฎีกาต้องได้ว่ากล่าวมาโดยชอบในศาลชั้นต้น ดังนั้นการให้ความเป็นธรรมเบื้องต้นในการบันทึกคำเบิกความพยานให้ถูกต้องครบถ้วนจึงเป็นหน้าที่สำคัญของผู้พิพากษา แต่นางสาวมณี สุขผล ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีนี้ ปฏิบัติผิดแผกแตกต่างจากผู้พิพากษาอื่น ผมจึงร้องเรียนนายสืบพงษ์ในวันที่ 25 มิถุนายน 2561 และเป็นที่มาของการแต่งเรื่องเท็จในครั้งนี้ของนางสาวมณี สุขผล ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน นายพัลลอง มั่นดี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา ทั้งนี้ เพื่อปกปิดการกระทำของนางสาวมณีในวันนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 22 มิถุนายน 2561 และเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อปกปิดการกระทำของนายสืบพงษ์กับพวกที่กระทำต่อเนื่องมาในวันที่ 3 สิงหาคม 2561 ซึ่งโจทก์ได้ร้องเรียนต่อประธานศาลฎีกาแล้ว การกระทำดังกล่าวไม่ต่างจากจำเลยที่กระทำผิดแล้วแต่งเรื่องเพื่อปกปิดความผิดของตน

Advertisement

6.คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยฐานยักยอกทรัพย์ของบริษัทซึ่งเป็นทรัพย์มรดก ภรรยาของผมกับโจทก์และจำเลยในคดีดังกล่าวเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา บิดามอบหมายให้ภรรยาผมจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท มีบิดา มารดา และภรรยาผม กับโจทก์และจำเลยเป็นผู้ถือหุ้น โดยบิดาเป็นกรรมการบริษัท ต่อมาเมื่อบิดาป่วย มารดากับภรรยาของผมและโจทก์จึงมอบหมายให้จำเลยเป็นกรรมการบริษัทแทนบิดา ต่อมาบิดาถึงแก่กรรม ศาลมีคำสั่งตั้งมารดาเป็นผู้จัดการมรดก ปี 2557 มารดาถึงแก่กรรม ภรรยาผมมอบหมายให้โจทก์ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์และจำเลยกับหลานสาวอีกหนึ่งคนร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของมารดา

ต่อมาภรรยาของผมในฐานะทายาทและผู้ถือหุ้นของบริษัทมอบหมายโจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นกรรมการบริษัทและทายาทผู้ครอบครองทรัพย์สินของบริษัทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกเป็นคดีอาญาหลายคดีทั้งที่ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราและศาลอื่นในหลายฐานความผิด เช่น ฐานเบิกความเท็จ ยักยอกทรัพย์มรดกและทรัพย์สินของบริษัทซึ่งเป็นทรัพย์มรดก เพื่อเรียกทรัพย์คืนแก่กองมรดกเพื่อแบ่งปันแก่ทายาท และฐานตั้งบริษัทค้าขายแข่งขันกับธุรกิจของบริษัท คดีทั้งหมดนี้จึงเป็นคดีที่ภรรยาผมมีส่วนได้เสียโดยตรง ปัญหาว่าผมมีส่วนได้เสียหรือไม่ คำตอบโดยเปรียบเทียบง่ายๆ จะเห็นได้ชัดแจ้งว่า หากคดีทั้งหมดนี้ขึ้นมาสู่ศาลฎีกา ผมไม่อาจพิจารณาพิพากษาคดีได้เพราะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดี ผมจึงไม่ใช่เป็นเพียงสามีของพี่โจทก์เท่านั้นดังที่นายสืบพงษ์กับพวกบิดเบือน นายสืบพงษ์กับพวกรู้อยู่แล้วว่า ประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ ข้อ 31 บัญญัติว่า “ผู้พิพากษาจักต้องไม่รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนในการดำเนินคดี หรือรับเป็นผู้เรียง ผู้เขียน ผู้พิมพ์คำคู่ความ คำร้อง คำขอ หรือคำแถลงในคดีใดๆ

ผู้พิพากษาจักต้องไม่รับปรึกษาคดีความ หรือเรื่องซึ่งอาจจะเป็นคดีความขึ้นได้ และไม่รับเป็นผู้ร่าง ผู้เขียน ผู้พิมพ์ หรือพยานในพินัยกรรมหรือนิติกรรมอื่นใด ไม่ว่าเพื่อสินจ้างรางวัลหรือไม่ เว้นแต่เป็นกรณีที่ตัวผู้พิพากษาเอง คู่สมรส ผู้บุพการี ผู้สืบสันดานของตน หรือญาติสืบสายโลหิตหรือเกี่ยวพันทางแต่งงานซึ่งผู้พิพากษาถือเป็นญาติสนิท มีส่วนได้เสียในคดีหรือเรื่องนั้นโดยตรง” เมื่อรู้อยู่แล้วว่าผมและภรรยาผมมีส่วนได้เสียในคดีทั้งหมดนี้โดยตรง แต่ก็ยังพยายามบิดเบือน

คดีทั้งหมดนี้เริ่มฟ้องตั้งแต่ปี 2559 สำหรับคดีที่ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นคดีที่มูลค่าทรัพย์พิพาทกว่า 2,000 ล้านบาท และเป็นที่ตั้งโรงงานสมัยที่ผมเป็น ก.ต.ชั้นศาลอุทธรณ์เคยมีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ร้องเรียนเกี่ยวกับคดีที่ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นคดีสำคัญที่ประธานศาลฎีกาหลายท่านรับรู้ผมจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เจ้าของสำนวนเดิมปฏิบัติหน้าที่ให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย ไม่มีปัญหาในการพิจารณาคดี ไม่มีเรื่องดังที่นายสืบพงษ์กับพวกแต่งเรื่องขึ้น และไม่มีเรื่องที่ว่าผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเดิมเบื่อและย้ายหนีคดีนี้ดังที่นายสืบพงษ์ให้ถ้อยคำต่ออนุ ก.ต.ซึ่งเจ้าของสำนวนเดิมให้ถ้อยคำยืนยันว่าไม่ได้เบื่อและหนีคดีนี้ แต่เป็นการย้ายตามวาระ ตั้งใจจะเขียนคำพิพากษาให้เสร็จก่อนโยกย้าย ต่อมาเมื่อเจ้าของสำนวนเดิมโยกย้ายตามวาระ 1 เมษายน 2561 และนางสาวมณี สุขผล มาเป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนแทน
วันที่ 21 มิถุนายน 2561 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานจำเลย และเป็นวันแรกที่นางสาวมณีทำหน้าที่จำเลยขอให้สืบตัวจำเลยให้เสร็จภายในวันเดียวกัน ทั้งที่ก่อนหน้านี้จำเลยเคยยื่นคำร้องขอให้เจ้าของสำนวนเดิมจำหน่ายคดีชั่วคราว แต่เจ้าของสำนวนเดิมมีคำสั่งยกคำร้องเพราะไม่มีเหตุ และคดีที่ศาลอื่นจำเลยก็มีพฤติการณ์ประวิงคดี จึงเป็นเรื่องแปลกมากที่คดีนี้จำเลยขอให้ศาลสืบจำเลยซึ่งเป็นปากสุดท้ายให้เสร็จภายในวันเดียว และแปลกยิ่งขึ้นเมื่อนางสาวมณีนัดสืบพยานจำเลยตอบคำถามค้านทนายโจทก์ต่อในวันรุ่งขึ้น เนื่องจากโจทก์ก็มีคำถามจำนวนมาก แต่จำเลยไม่คัดค้าน ทั้งที่ปกติจำเลยจะขอนัดยาว 2-3 เดือน

วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน 2561 เวลา 13.30 นาฬิกา ทยานโจทก์ได้ถามค้านจำเลย นางสาวมณีบันทึกคำเบิกความด้วยเสียงเบา เมื่อทนายโจทก์หันไปมองว่านางสาวมณีบันทึกคำเบิกความเสร็จแล้วหรือไม่ นางสาวมณีจะบอกให้ทนายโจทก์ถามค้านจำเลยต่อไป ขณะที่ทนายโจทก์ถาม นางสาวมณีก็จะบันทึกด้วยเสียงเบาจนทนายโจทก์ก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าบันทึกคำเบิกความจำเลยว่าอย่างไร บันทึกตรงกับที่จำเลยเบิกความและครบถ้วนในสาระสำคัญหรือไม่ เป็นเหตุให้ทนายโจทก์ไม่อาจโต้แย้งได้เพราะไม่รู้ว่านางสาวมณีบันทึกคำเบิกความจำเลยหรือไม่และบันทึกว่าอย่างไร แต่ที่ทนายโจทก์สามารถถามคำถามค้านจำเลยต่อไปได้นั้นก็เนื่องจากได้เตรียมคำถามมาเป็นจำนวนมากแล้ว จนเมื่อเสร็จการพิจารณาและฟังคำเบิกความ ทนายโจทก์รีบโทรศัพท์บอกผมว่านางสาวมณีไม่บันทึกคำเบิกความที่จำเลยตอบคำถามค้านและบันทึกคำเบิกความไม่ตรงกับที่จำเลยเบิกความ ผมบอกว่าขอดูบันทึกคำเบิกความก่อน
วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน 2561 ทนายโจทก์ได้ขอคัดถ่ายสำเนาคำเบิกความของจำเลยที่ตอบคำถามค้านของทนายโจทก์จากศาลมาให้ผมดู ผมอ่านแล้วปรากฏว่าเป็นดังที่ทนายโจทก์แจ้งแก่ผมทราบ ตัวอย่างเช่น
ทนายโจทก์ถามค้านจำเลยว่า ที่จำเลยอ้างว่าขายที่ดินได้กำไร 20 ล้านบาท และได้ค่าตอบแทนจากการช่วยผู้ใหญ่ขายที่ดินเนื้อที่ 160 ไร่ ราคาไร่ละ 6 ล้านบาท ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงิน 50 ล้านบาทนั้น จำเลยมีโฉนดที่ดินหรือมีหลักฐานใดมาแสดง จำเลยตอบว่า “ให้ทนายโจทก์ไปหาเอง” แต่นางสาวมณีก็ไม่บันทึก ทั้งที่รู้ว่าเป็นประเด็นสำคัญในคดีเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงินได้ที่จำเลยอ้างว่ามีจริงตามที่จำเลยอ้างหรือไม่ เนื่องจากทนายโจทก์กำลังจะถามค้านเพื่อทำลายน้ำหนักคำพยานจำเลยที่ว่า จำเลยมีแหล่งที่มาของเงินได้อื่นเพื่อนำมาซื้อที่ดินพิพาทนี้ ไม่ใช่นำเงินของบริษัทที่โจทก์และภรรยาผมมีสิทธิในฐานะทายาทมาซื้อที่ดินพิพาท หรืออีกนัยหนึ่งคือเพื่อพิสูจน์ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินทรัพย์มรดก ไม่ใช่ที่ดินที่จำเลยใช้เงินส่วนตัวของจำเลยไปซื้อ ดังนั้นคำถามเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงินจึงเป็นประเด็นสำคัญในคดีนี้ และการที่จำเลยตอบว่า “ให้ทนายโจทก์ไปหาเอง” แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่มีหลักฐานที่มาของเงินที่จะนำมาซื้อที่ดินนี้ แต่ปรากฏว่านางสาวมณีไม่ยอมบันทึกคำถามและคำเบิกความดังกล่าว

ต่อมา เมื่อทนายโจทก์ถามค้านจำเลยโดยให้อธิบายเกี่ยวกับผู้ซื้อ ผู้ขายและวิธีการซื้อขายที่ดินที่ทำให้จำเลยได้กำไรถึง 20 ล้านบาท นางสาวมณีไม่บันทึกคำเบิกความของจำเลยตามที่ได้เบิกความต่อศาล แต่กลับบันทึกแบบสรุปความว่า “ทนายโจทก์ถามจำเลยให้เบิกความถึงขั้นตอนในการไปดูที่ดิน การติดต่อผู้ซื้อผู้ขาย จำเลยสามารถบรรยายเล่าเหตุการณ์ที่ไปดูที่ดิน โดยบอกกล่าวว่ามีการปิดประกาศขายที่ดิน มีการตรวจสอบที่ดินก่อนที่จะนำไปบอกกล่าวขายต่อ มีการต่อรองราคารวมถึงเบิกความว่าในการเขียนสัญญามัดจำมีนาย… เป็นผู้เขียนสัญญาให้” การบันทึกเช่นนี้ไม่อาจถือว่าเป็นการบันทึกคำเบิกความพยาน เพราะไม่ได้สาระถูกต้องครบถ้วนตามที่พยานเบิกความต่อศาล แต่เป็นการที่นางสาวมณีได้วินิจฉัยคำเบิกความของจำเลยที่ตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ไว้ในคำเบิกความของจำเลยแล้ว ซึ่งผิดขั้นตอนเพราะการจะวินิจฉัยคำเบิกความพยานนั้นจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อท่านเขียนคำพิพากษา ประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ ข้อ 10 ก็บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า “การบันทึกคำเบิกความต้องได้สาระถูกต้องครบถ้วนตามคำเบิกความ” หากถามนางสาวมณีในวันนี้ว่า ทนายโจทก์ถามค้านจำเลยว่าอย่างไร จำเลยเบิกความตอบคำถามค้านว่าอย่างไร นางสาวมณีมีพยานหลักฐานใดว่าทนายโจทก์ถามค้านจำเลยว่าอย่างไร และจำเลยเบิกความตอบคำถามค้านว่าอย่างไร ทั้งการที่นางสาวมณีบันทึกว่า “จำเลยสามารถบรรยายเล่าเหตุการณ์…” ซึ่งเป็นการวินิจฉัยไปแล้วว่าศาลเชื่อคำเบิกความของจำเลยว่ารับฟังได้ ทั้งๆ ที่การถามคำถามค้านก็เพื่อทำลายน้ำหนักพยานให้เห็นข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากที่จำเลยเบิกความว่าได้กำไรจากการซื้อขายที่ดินจำนวนมากนั้นไม่ใช่เรื่องจริง ไม่มีการซื้อขายที่ดินดังที่อ้าง เช่นนี้แล้วการที่นางสาวมณีไม่บันทึกข้อเท็จจริงตามคำเบิกความจำเลย แต่สรุปว่าจำเลยสามารถบรรยายเล่าเหตุการณ์…ดังกล่าวผู้พิพากษาอื่นหรือศาลสูงกรณีที่มีการอุทธรณ์ฎีกาจะเห็นข้อเท็จจริงที่จำเลยเบิกความได้อย่างไร เพราะไม่มีข้อเท็จจริงหรือรายละเอียดตามที่จำเลยเบิกความ และจะฟังข้อเท็จจริงแตกต่างจากที่นางสาวมณีบันทึกไว้ได้อย่างไรหรือเห็นพิรุธของจำเลยได้อย่างไร เช่น ศาลสูงจะรู้ได้อย่างไรว่าจำเลยติดต่อผู้ซื้อผู้ขายที่ดินจริงหรือไม่อย่างไร มีการปิดประกาศขายที่ดินอย่างไร มีการตรวจสอบที่ดินก่อนที่จะนำไปบอกกล่าวขายต่ออย่างไร มีการต่อรองราคากันอย่างไรได้ราคาตามที่จำเลยอ้างหรือไม่ นาย…เขียนสัญญามัดจำอย่างไร ข้อเท็จจริงถูกต้องเป็นดังที่นางสาวมณีวินิจฉัยไว้ในบันทึกคำเบิกความพยานหรือไม่ คำถามค้านทนายโจทก์และคำเบิกความของจำเลยตอบคำถามค้านทนายโจทก์ดังกล่าวมา นางสาวมณีรู้อยู่แล้วว่าเป็นประเด็นสำคัญที่จะพิสูจน์ว่าจำเลยมีแหล่งที่มาของเงินได้จริงหรือไม่ นางสาวมณีเคยเป็นทนายความมาก่อน ยิ่งปัจจุบันเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้น มีประสบการณ์ทำงานมากกว่า 15 ปี ย่อมต้องรู้ดีว่าการถามค้านเป็นกลไกสำคัญของระบบกล่าวหาที่จะนำไปสู่การพิสูจน์ความจริง การที่ไม่ยอมรับบันทึกหรือบันทึกไม่ได้สาระครบถ้วนเช่นนี้ถูกต้องหรือไม่ และทำให้ฝ่ายโจทก์เสียเปรียบหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำถามที่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีหรือที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นแห่งคดี นางสาวมณีใช้ดุลพินิจที่จะไม่บันทึกคำเบิกความไม่ได้

เมื่ออ่านคำเบิกความจบ ผมได้โทรศัพท์ถึงเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ว่าโจทก์จะร้องเรียนผู้พิพากษาจะต้องร้องเรียนไปที่ท่านประธานศาลฎีกาหรือเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม นายสราวุธแจ้งว่าให้ร้องเรียนมาที่ท่าน เพราะเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมต้องรายงานประธานศาลฎีกา ผมจึงแจ้งเพียงชื่อนางสาวมณี สุขผล และศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยยังไม่ได้แจ้งรายละเอียดของเรื่องเนื่องจากจะส่งเป็นหนังสือ

หลังจากนั้นนายสืบพงษ์โทรศัพท์หาผม รู้รายละเอียดของคดีเป็นอย่างดี แก้ตัวแทนนางสาวมณีและขอว่าอย่าร้องเรียน และจะส่งรองอธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 มาร่วมพิจารณาคดีด้วยเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา แต่ผมยืนยันว่าจะร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของนางสาวมณี ต่อมาผมปรึกษาภรรยาและโจทก์ว่า คดีของครอบครัวอย่าให้ผู้พิพากษาต้องเดือดร้อนเลย ปล่อยให้เป็นเวรกรรมของเขาไปเอง เพราะอธิบดีจะส่งรองอธิบดีไปร่วมนั่งพิจารณาด้วยอยู่แล้ว วันรุ่งขึ้นผมโทรศัพท์บอกนายสราวุธว่าจะไม่ร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของนางสาวมณีแล้ว ไม่ต้องการให้ผู้พิพากษาต้องมาเดือดร้อนเพราะเรื่องของครอบครัวผม นายสราวุธยังขอบคุณผมว่า อาจารญ์ทำบุญให้แก่นางสาวมณี อาจารย์จะได้ใช้เวลาทำประโยชน์ให้แก่ศาลยุติธรรมอีกมาก

ต่อมาวันที่ 2 กรกฎาคม 2561 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานจำเลยต่อมา นายสืบพงษ์ไม่ส่งรองอธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 มาร่วมพิจารณาคดี นางสาวมณีก็ปฏิบัติเช่นเดิมอีก คือบันทึกเสียงเบาจนทนายโจทก์ไม่สามารถรู้ได้ว่านางสาวมณีบันทึกคำเบิกความว่าอย่างไร และคำถามไหนบันทึกหรือไม่บันทึก หรือถามทนายโจทก์ว่า “เกี่ยวอะไร” จนจำเลยซึ่งเป็นพยานเบิกความอยู่นั้นได้นำคำพูดของนางสาวมณีว่า “เกี่ยวอะไร” มาย้อนถามทนายโจทก์ทุกคำถาม จนกระทั่งทนายโจทก์และจำเลยโต้เถียงกันตลอดเวลา ทนายโจทก์ว่าความได้ประมาณ 1 ชั่วโมง จึงขออนุญาตออกไปนอกห้องพิจารณา เพราะเห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะว่าความต่อไป ผมขอให้ทนายโจทก์ว่าความต่อ แต่ทนายโจทก์ยืนยันไม่ยอมว่าความ และขอให้ผมดำเนินคดีแก่นางสาวมณี แต่สุดท้ายก็ยอมกลับมาว่าความต่อ

เมื่อเสร็จการพิจารณาคดีช่วงเช้า ทนายโจทก์โกรธผมที่ไม่ดำเนินการใดๆ แก่นางสาวมณีทั้งที่เป็น ก.ต. และเห็นการปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะนี้ ทั้งอธิบดีก็ไม่ส่งรองอธิบดีมาดูแลตามที่บอก ทำให้นางสาวมณียังปฏิบัติตนเช่นเดิมอีก ผมขอให้ทนายโจทก์ว่าความต่อในช่วงบ่ายเนื่องจากเกรงว่าคดีจะเสียหายแล้วค่อยร้องเรียนและคัดค้านผู้พิพากษา ทนายโจทก์บอกว่าไม่ต้องห่วง คดีมันเสียหายไปแล้วและยืนยันว่าขอถอนตัว ให้ผมหาทนายสำหรับคดีนี้ใหม่ จากนั้นทนายโจทก์เขียนคำร้องขอถอนตัวมอบฉันทะให้ผู้รับมอบฉันทะไปยื่นต่อหน้าบัลลังก์เพื่อเสนอศาล จากนั้นในช่วงบ่าย ไม่มีการพิจารณาคดีผมและผู้รับมอบฉันทะนั่งรอรับคำสั่งเกี่ยวกับการถอนทนายและวันนัด ระหว่างนั้น นายพัลลอง มั่นดี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา นางสาวมณีและนางสาวตรีทิพย์ วิเศษจินดา ลงมา นายพัลลองให้หน้าบัลลังก์โทรศัพท์ตามทนายโจทก์ให้กลับมาว่าความต่อทั้งที่ทนายโจทก์ขอถอนตัว หน้าบัลลังก์ออกไปโทรศัพท์ สักพักกลับมาบอกนายพัลลองว่าทนายโจทก์บอกขอถอนตัวแล้วไม่กลับมา และมีผู้รับมอบฉันทะรอฟังคำสั่งอยู่ นายพัลลองจึงถามทนายจำเลยว่าจะคัดค้านที่ทนายโจทก์ขอถอนตัวหรือไม่ ทนายจำเลยบอกว่าไม่คัดค้าน นายพัลลอง นางสาวมณีและนางสาวตรีทิพย์ได้กลับขึ้นไป ส่วนจำเลยและทนายจำเลยออกไปนอกห้องพิจารณาคดี สักพักหนึ่งนายพัลลอง นางสาวมณีและนางสาวตรีทิพย์ได้กลับลงมาอีกครั้ง นายพัลลองถามจำเลยว่าจะค้านหรือไม่ จำเลยแถลงว่าเนื่องจากทนายโจทก์ไม่ถามค้านแล้วก็ถือว่าไม่ติดใจถามค้าน จึงมีความประสงค์จะขอให้ทนายจำเลยถามติงตัวจำเลยต่อเพื่อคดีจะได้เสร็จสิ้น นายพัลลองให้เลื่อนคดีไป
ต่อมาวันที่ 3 สิงหาคม 2561 ซึ่งเป็นวันนัดพร้อมและนัดสืบพยานจำเลย โจทก์มอบฉันทะให้ผู้รับมอบฉันทะไปยื่นคำร้องคัดค้านนางสาวมณีว่าโจทก์ได้ร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของนางสาวมณีและจะขอให้ท่านประธานศาลฎีกาโอนคดีไปศาลอื่น จึงขอคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ของนางสาวมณีและขอให้เลื่อนคดีไปเพื่อรอฟังคำสั่งของประธานศาลฎีกาเรื่องการโอนคดี แต่นางสาวมณียังคงออกนั่งพิจารณาคดีร่วมกับนางสาวตรีทิพย์และนายวราวุธ ถาวรศิริ รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 ทั้งๆ ที่นางสาวมณีทราบอยู่แล้วว่าโจทก์ได้ร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของตน และในวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 นางสาวมณี นายพัลลอง นายสืบพงษ์และนางสาวตรีทิพย์ มาให้ถ้อยคำต่ออนุ ก.ต.เป็นปฏิปักษ์ต่อผม

เมื่อโจทก์คัดค้าน นางสาวมณีจึงถอนตัว เปลี่ยนผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนและองค์คณะ จากนั้นเจ้าของสำนวนและองค์คณะใหม่พร้อมด้วยนายวราวุธขึ้นพิจารณาคดีได้สั่งคำร้องของทนายโจทก์และคำร้องขอเลื่อนคดีของโจทก์ว่า ไม่มีเหตุที่จะอนุญาตให้ทนายโจทก์ถอนตัว ทั้งยังว่าโจทก์ประวิงคดี ให้งดการถามค้าน ให้ทนายจำเลยถามติง และนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 27 กันยายน 2561 ทั้งที่เพิ่งเปลี่ยนผู้พิพากษาและทั้งสามท่านเพิ่งรับสำนวน และหากตรวจสำนวนก็จะรู้ว่าโจทก์ไม่เคยประวิงคดี และรายงานกระบวนพิจารณาทุกนัดระบุว่าโจทก์มีคำถามค้านที่จะถามจำเลยอีกมาก ทั้งรู้อยู่ว่าโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาอีกหลายคดี ไม่เคยตกลงไกล่เกลี่ย จึงไม่มีเหตุให้เลยที่โจทก์จะต้องประวิงคดีอาญา มีแต่จะต้องเร่งคดีให้เสร็จโดยเร็ว เป็นเหตุให้โจทก์ต้องขอให้ประธานศาลฎีกาโอนคดีและขอให้สอบสวนการกระทำของนายสืบพงษ์กับพวก

7.นายสืบพงษ์ เป็นผู้รับผิดชอบราชการศาลยุติธรรมในภาค 2 ที่จะให้ราชการศาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นธรรมแก่คู่ความทุกฝ่าย รู้อยู่แล้วว่านางสาวมณีถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2561 นายสืบพงษ์มีหน้าที่ต้องตรวจสอบว่าเป็นความจริงหรือไม่ และแก้ไข กลับเพิกเฉย เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และสนับสนุนการแต่งเรื่องของนางสาวมณีอันเป็นความเท็จ ทั้งยังเสนอตัวขอมาให้ถ้อยคำต่ออนุ ก.ต. สนับสนุนถ้อยคำของนางสาวมณี โดยที่ อนุ ก.ต.ไม่ได้เชิญ ผิดปกติวิสัยของอธิบดีผู้พิพากษาทั่วไป ยิ่งกว่านั้น หลังจากที่นางสาวมณี นางสาวตรีทิพย์ นายพัลลอง และนายสืบพงษ์มาให้ถ้อยคำต่ออนุ ก.ต. นายสืบพงษ์ยังส่งนายวราวุธ รองอธิบดี มานั่งพิจารณาคดีในวันที่ 3 สิงหาคม 2561 ทั้งในวันที่ 2 กรกฎาคม 2561 ไม่ส่งมาตามที่เสนอกับผมทางโทรศัพท์ และยังให้นางสาวมณีกับนางสาวตรีทิพย์ขึ้นพิจารณาคดีพร้อมกับนายวราวุธ ทั้งที่นายสืบพงษ์และนางสาวมณีรู้ว่าโจทก์ร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของนางสาวมณีแล้ว และนางสาวมณีกับนางสาวตรีทิพย์มาให้ถ้อยคำต่ออนุ ก.ต. เป็นปฏิปักษ์ต่อผม ไม่เพียงแต่ขัดต่อจิตสำนึก แต่ยังขัดต่อจริยธรรมของคนเป็นผู้พิพากษา

เรื่องราวที่นายสืบพงษ์กับพวกแต่งขึ้นนั้นเป็นเท็จ และมิใช่เรื่องยากที่จะพิสูจน์ว่าเป็นเท็จ เพราะหลักสำคัญในการวินิจฉัยพยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริงว่ารับฟังได้หรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนพยานหรือฐานะตำแหน่งของพยาน แต่อยู่ที่คุณภาพของข้อเท็จจริงที่ได้จากพยาน การให้ถ้อยคำของพยานที่ขัดแย้งกันเองส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของพยาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพยานที่มีมูลเหตุชักจูงใจไม่อาจรับฟังได้เลย และพยานหลักฐานที่ขัดกับหลักเหตุผลและความสอดคล้องต้องกันก็ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง เพราะ “เหตุผล” วินิจฉัยสิ่งทั้งปวง (Reason rules all things) เช่น เรื่องที่นายสืบพงษ์กับพวกแต่งเรื่องขึ้นว่า “นายชำนาญลุกขึ้นพูดด้วยเสียงอันดังว่า ทำไมจะไมเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี ท่านรู้ได้อย่างไรว่าเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี ท่านไม่มีสิทธิ์ถามนะว่าเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี ท่านมีหน้าที่ต้องบันทึกทุกคำถามที่ทนายถาม ถ้าไม่บันทึกผมจะร้องเรียน ผมจะตั้งกรรมการสอบถึงไล่ออกเชียวนะ นี่วันนี้ผมไม่ว่างนะเนี่ยแต่ก็ต้องมา ผู้พิพากษาจึงบันทึกคำพยานไปตามที่นายชำนาญโต้แย้งและพิจารณาคดีต่อไป” นั้น เป็นเท็จ เพราะข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ภายหลังจากเสร็จการพิจารณาในช่วงเช้า ทนายโจทก์ขอถอนตัว ไม่มีการพิจารณาในช่วงบ่าย เหตุที่ทนายโจทก์ถอนตัวก็เนื่องจากปัญหาในการบันทึกคำพยานของนางสาวมณี หากผมลุกขึ้นโต้แย้งจนนางสาวมณียอมจดบันทึกตามที่ต้องการ ก็ไม่มีเหตุที่ทนายโจทก์ต้องถอนตัว นั่นแสดงให้เห็นว่าเป็นการแต่งเรื่องขึ้น ทั้งการกระทำตามที่นางสาวมณีแต่งเรื่องขึ้น ต้องถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงและเป็นการแสดงอำนาจบาตรใหญ่ นางสาวมณีหรือองค์คณะจะต้องรีบรายงานให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลทราบในทันที หรือให้หน้าบัลลังก์ไปรายงานเพื่อให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลลงมาร่วมนั่งพิจารณาคดีด้วยในทันที แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการรายงาน จนกระทั่งเสร็จการพิจารณาคดีในช่วงเช้า และในวันต่อๆ มาก็ไม่มีการทำบันทึกรายงานเหตุการณ์ดังกล่าวให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 ทราบแต่อย่างใด แต่เพิ่งจะมาทำรายงานเสนอนายสืบพงษ์ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2561 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่จำเลยยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ทั้งในหนังสือร้องเรียนของจำเลยดังกล่าว ก็ไม่มีการร้องเรียนว่ามีการกระทำตามที่นางสาวมณีรายงานซึ่งเป็นเรื่องร้ายแรงกว่าเรื่องที่จำเลยร้องเรียน ไม่น่าเชื่อและไม่มีเหตุที่จำเลยจะไม่ร้องเรียนเรื่องร้ายแรงเช่นนี้ต่อประธานศาลฎีกา นอกจากนั้น เรื่องที่แต่งขึ้นนี้ นางสาวมณีเองก็เห็นว่าร้ายแรงมากจนตนเองทนไม่ได้ เหตุใดนางสาวมณีและองค์คณะจึงไม่ลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลหรือรีบรายงานให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลและอธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 ทราบในทันทีที่เกิดเหตุ เพื่อที่นายพัลลองหรือนายสืบพงษ์จะได้รีบรายงานประธานศาลฎีกา เช่นเดียวกับที่เมื่อนายพัลลองและนายสืบพงษ์ได้รับหนังสือร้องเรียนของจำเลย และหนังสือรายงานคดีของนางสาวมณีเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2561 นายพัลลองและนายสืบพงษ์ก็รีบส่งเรื่องถึงท่านประธานศาลฎีกาในวันเดียวกัน และรีบโทรศัพท์แจ้งเลขาธิการสำนักประธานศาลฎีกาทันที แต่ปรากฏว่านางสาวมณีปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปถึง 10 วัน นอกจากนี้ เรื่องที่นางสาวมณีแต่งขึ้นว่าผมลุกขึ้นโต้แย้ง และนางสาวมณีต้องยอมจดให้นั้น นางสาวมณีก็บันทึกไม่ตรงกับที่จำเลยเบิกความ และหากมีการโต้แย้งการบันทึกคำเบิกความรุนแรงดังว่าจริง เหตุใดนางสาวมณีจึงไม่บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นการป้องกันตนเองหากมีปัญหาเกิดขึ้น นอกจากนี้ การที่นายสืบพงษ์ไม่ส่งรองอธิบดีมา และนางสาวมณียังปฏิบัติตนเช่นเดิม ขณะนั้นผมคิดว่าต้องร้องเรียนกล่าวโทษและคัดค้านนางสาวมณีจากการเป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีนี้ จึงไม่มีเหตุที่จะต้องกระทำดังที่นางสาวมณีแต่งเรื่องขึ้น
ส่วนที่แต่เรื่องเท็จว่า “ขอคุยกับผู้พิพากษาหัวหน้าศาลนอกห้องพิจารณา” นั้น เป็นเรื่องร้ายแรงสำคัญและเป็นการหยามเกียรติยศของนายพัลลอง ซึ่งเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลต่อหน้านางสาวมณีและองค์คณะรวม ทั้งจำเลย ทนายจำเลย และหน้าบัลลังก์ หากเป็นเรื่องจริง นายพัลลองต้องรีบรายงานอธิบดีและประธานศาลฎีกาทันที และต้องลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาล เพราะเป็นการหมิ่นเกียรติของตนและเป็นการละเมิดอำนาจศาล ในชีวิตผม ไม่เคยกระทำเช่นนี้เด็ดขาด ทั้งหนังสือร้องเรียนของจำเลยก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่จำเลยจะไม่ร้องเรียนกล่าวโทษในเรื่องนี้เพราะเป็นเรื่องร้ายแรง เพียงแค่ทนายจำเลยเห็นผมยืนอยู่กับหัวหน้าศาลท่านหนึ่งบริเวณที่จอดรถในศาล ก็ยังนำมาร้องเรียนต่ออธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 ดังนั้น หากผมเรียกนายพัลลองออกมาคุยนอกห้องพิจารณาจริง จำเลยต้องระบุในหนังสือร้องเรียนอย่างแน่นอน
ส่วนที่แต่งเรื่องว่า “ผมพูดขึ้นด้วยเสียงอันดังว่า ไอ้คำว่าดุลพินิจนี่แหละ ผมเป็นกรรมการสอบผู้พิพากษาคดีศูนย์เหรียญก็เพราะใช้คำว่าดุลพินิจนี่ล่ะ…” ก็เป็นความเท็จ และแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่นางสาวมณีแต่งขึ้นนั้น เป็นความเท็จ เพราะผมเป็น ก.ต. ไม่อาจเป็นกรรมการสอบข้อเท็จจริงหรือสอบสวนวินัยใครได้ เนื่องจากต้องเป็นคนลงมติในชั้นสุดท้าย
ส่วนที่แต่งเรื่องว่า “จากนั้นนายชำนาญยังแถลงอีกว่า คดีนี้ทุนทรัพย์สูงมากและทราบว่าโจทก์มีคำถามค้านที่เตรียมไว้มากถึง 400 คำถาม อีกทั้งยังรู้ด้วยว่าต้องใช้เวลาซักค้านอีกประมาณ 3 วัน…” นั้น ก็เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง เพราะเมื่อเสร็จการพิจารณาคดีในช่วงเช้า ทนายโจทก์ขอถอนตัวจึงไม่มีการพิจารณาคดีในช่วงบ่าย ไม่มีการแถลงอะไรทั้งสิ้น แต่เป็นเรื่องที่นายพัลลองให้หน้าบัลลังก์ออกไปโทรศัพท์ตามทนายโจทก์กลับมา แต่ทนายโจทก์ไม่กลับมา นายพัลลองจึงหันมาพูดคุยกับผม จึงเป็นเรื่องแปลกที่สามารถนำมาแต่งเรื่องว่ามีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น เมื่อทนายโจทก์ไม่กลับมา นายพัลลองก็ถามผมว่ายังมีคำถามอีกมากน้อยเพียงใดและจะต้องใช้เวลากี่วัน เป็นลักษณะคุยหารือกัน เพราะนายพัลลองรู้ว่าผมมีส่วนได้เสียในคดี แต่ไม่ใช่การแถลงคดีเหมือนทนายความหรือคู่ความแถลงเวลาพิจารณาคดี การที่ตอบคำถามของนายพัลลองจึงไม่ใช่การก้าวก่ายแทรกแซงการพิจารณาพิพากษาคดี นายสืบพงษ์และนางสาวมณีรู้อยู่แล้วว่าผมมีส่วนได้เสียในคดีเพราะเป็นคดีที่ภรรยาผมมีส่วนได้เสียในฐานะทายาทและผู้ถือหุ้น แต่บิดเบือนข้อเท็จจริงว่าผมใช้อำนาจเหนือผู้พิพากษา และไม่ใช่คู่ความในคดีแต่เข้ามาเกี่ยวข้องรู้ข้อเท็จจริงในดคี เช่นเดียวกับที่นายสืบพงษ์บิดเบือนข้อเท็จจริงว่า “นายชำนาญซึ่งมีความสัมพันธ์เป็นสามีของพี่สาวโจทก์ ทั้งยังเป็นพี่ชายของนายทนายโจทก์ ได้เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีโดยตลอด โดยไปนั่งอยู่ตรงที่ทนายโจทก์พร้อมทั้งให้คำแนะนำซักถามพยานแก่ทนายโจทก์ในห้องพิจารณาคดี” นายสืบพงษ์และนางสาวมณีรู้ดีอยู่แล้วว่า คดีนี้เป็นคดีที่โจทก์และจำเลยเป็นพี่น้องกัน โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกฟ้องจำเลยซึ่งเป็นกรรมการบริษัทว่ายักยอกทรัพย์ของบริษัทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของบิดามารดา โดยภรรยาของผมเป็นทายาทคนหนึ่งในทรัพย์มรดกและเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ภรรยาผมจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีโดยตรง แต่นายสืบพงษ์กับพวกยังบิดเบือนข้อเท็จจริง
หากผมไม่มีส่วนได้เสียในคดีโดยตรง เหตุใดนายพัลลองต้องถามผม ทั้งๆ ที่มีผู้รับมอบฉันทะทนายโจทก์อยู่ด้วย ทั้งคดีนี้เป็นคดีสำคัญ ต้องมีการเตรียมคดี ไม่อาจเรียกทนายโจทก์มาแนะนำในขณะพิจารณาคดีได้ เป็นไปไม่ได้เด็ดขาด มีแต่บอกทนายโจทก์ว่าอย่าโต้เถียงกับจำเลย เนื่องจากทนายโจทก์โกรธที่จำเลยนำคำพูดของนางสาวมณีว่า “เกี่ยวอะไร” มาย้อนถามตลอดเวลา ทั้งนางสาวมณีก็บันทึกเสียงเบาจนไม่ได้ยินว่าบันทึกอย่างไรและผมไม่ได้สนใจว่าจะถามหรือจะบันทึกอย่างไร เพราะไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ต้องร้องเรียนกล่าวโทษและคัดค้านนางสาวมณีอยู่แล้ว ส่วนที่ต้องให้น้องชายเป็นทนายความก็เพราะเป็นเรื่องภายในครอบครัว จึงเป็นเรื่องที่นายสืบพงษ์กับพวกแต่งเรื่องขึ้นบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อปกปิดการกระทำของนายสืบพงษ์กับนางสาวมณีเท่านั้น
ส่วนที่แต่งเรื่องว่าผมมีพฤติการณ์ที่ไม่เคารพผู้พิพากษานั้น จากคำให้การของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเดิมต่ออนุ ก.ต. กล่าวชัดเจนว่าเวลาผมไปฟังการพิจารณาคดี ไม่เคยแสดงตน จะนั่งฟ้องอย่างเดียวไม่ได้แทรกแซงการสืบพยานหรือการพิจารณา ให้ความเคารพนบนอบดี และนั่งตรงที่นั่งของคนที่เข้ามานั่งฟังการพิจารณา บางครั้งก็นั่งโต๊ะของทนายโจทก์เพราะตอนที่มีการสืบพยานกันจะไม่มีคดีอื่น และเมื่อผู้พิพากษาขึ้นนั่งพิจารณาคดี ผมลุกขึ้นทุกครั้งและทำความเคารพ ไม่เคยชี้หน้าหรือตำหนิผู้พิพากษาในบัลลังก์และไม่เคยโต้แย้งเกี่ยวกับการบันทึกคำเบิกความ การปฏิบัติตนของผมต่อผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีทุกคดีนั้น ผมให้ความเคารพและให้เกียรติยศผู้พิพากษา ไม่เคยแสดงตน ไม่เคยก้าวก่ายหรือยกตนข่มท่านใดๆ ทั้งสิ้น

8.การร้องเรียนในเรื่องนี้มีข้อน่าสงสัย นางสาวมณีแต่งเรื่องขึ้นโดยทำเป็นบันทึกรายงานนายสืบพงษ์วันเดียวกับที่จำเลยยื่นหนังสือร้องเรียนต่อประธานศาลฎีกา แต่เหตุใดจำเลยต้องไปยื่นที่ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา จากนั้นนายพัลลองไกล่เกลี่ยงให้จำเลยถอนเรื่อง แต่กลับรีบส่งหนังสือร้องเรียนของจำเลยให้ประธานศาลฎีกาและโทรศัพท์หาเลขาธิการสำนักประธานศาลฎีกาทันที จากนั้นวันเดียวกัน เวลา 15 นาฬิกา ทนายจำเลยยื่นคำแถลงร้องเรียนที่ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราอีกฉบับ ทั้งที่ทนายจำเลยติดว่าความในคดีอื่นที่โจทก์ฟ้องอยู่ที่ศาลแขวงสมุทรปราการ จึงน่าแปลกใจว่าเหตุใดในวันเดียวกันมีการร้องเรียนเรื่องเดียวกันถึง 3 ฉบับ แม้ทนายจำเลยติดว่าความอยู่ที่ศาลอื่นก็ยังอุตส่าห์นำมายื่นร้องเรียนด้วย แต่เมื่อตรวจเอกสารหนังสือร้องเรียนของจำเลย บันทึกรายงานคดีของนางสาวมณี และคำแถลงของทนายจำเลยแล้ว จะพบพิรุธว่าหนังสือร้องเรียนของจำเลยที่นายพัลลองไกล่เกลี่ย ไม่มีเหตุการณ์ช่วงเช้าที่นางสาวมณีสร้างเรื่องเท็จว่าผมโต้แย้งที่นางสาวมณีไม่บันทึกคำเบิกความจำเลยดังที่เขียนรายงานให้นายสืบพงษ์ แต่คำแถลงของทนายจำเลยที่ยื่นในช่วงบ่ายกลับมีข้อเท็จจริงดังกล่าว ที่สำคัญเมื่อเทียบคำต่อคำในบันทึกของนางสาวมณีและคำแถลงของทนายจำเลยแล้ว ข้อเท็จจริงที่กล่าวเท็จเกี่ยวกับเหตุการณ์ในช่วงเช้าประมาณ 10 บรรทัดนั้น เหมือนกันเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกที่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนและทนายจำเลยสามารถจดจำได้ตรงกันแทบจะไม่ผิดเพี้ยน ทั้งที่ระยะเวลาผ่านมาถึง 10 วัน และตรงกับถ้อยคำที่นางสาวมณีบันทึกไว้ในคำเบิกความจำเลยแทบจะไม่มีข้อตำหนิ ทั้งที่ยังอยู่ระหว่างทนายโจทก์ถามค้าน ซึ่งตามกฎหมายจำเลยไม่สามารถขอคัดถ่ายคำเบิกความได้

9.ประการสำคัญ ภายหลังที่โจทก์ขอโอนคดี ยังมีผู้พิพากษาระดับสูงซึ่งเป็นผู้บริหารศาลและผู้พิพากษาในภาค 2 นำหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาของจำเลยมาลงเผยแพร่ในไลน์กลุ่มผู้พิพากษา โดยไม่เกรงกลัวความผิด และไม่สมควร ทั้งมีข้อสงสัยว่าหนังสือของจำเลยในคดีมาอยู่ที่ผู้พิพากษาได้อย่างไร การกระทำของบุคคลกลุ่มนี้ที่เริ่มจากการแต่งเรื่องเท็จขึ้น จากนั้นเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จทางโซเชียลมีเดียโดยตรวจพบที่มาจากผู้พิพากษากลุ่มหนึ่งในภาค 2 ปลุกระดมชวนเชื่อว่ามีเหตุการณ์ตามที่แต่งเรื่องเกิดขึ้นจริงทั้งที่เป็นความเท็จ จากนั้นมาให้ถ้อยคำต่ออนุ ก.ต. ซึ่งก็ขัดแย้งกันเองจนเห็นเป็นพิรุธ เมื่ออนุ ก.ต.มีมติเห็นว่าผมเหมาะที่จะดำรงตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา ก็มีการให้ข่าวต่อสื่อมวลชนและใช้โซเชียลมีเดียกดดันการลงมติของ ก.ต.และล่ารายชื่อถอดถอน ทั้งที่ข้อเท็จจริงยังไม่ยุติว่ามีการกระทำดังที่แต่งเรื่องเกิดขึ้นจริงหรือไม่ หรือนายสืบพงษ์ นางสาวมณีกับพวกปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบตามที่โจทก์ร้องเรียน การกระทำเช่นนี้ผิดวิสัยของคนเป็นพิพากษา เสื่อมเสียเกียรติยศเกียรติศักดิ์ของตุลาการที่ต้องทำแต่เรื่องที่ถูกต้อง ตรงไปตรงมา
หากมีการกระทำดังที่นายสืบพงษ์กับพวกแต่งเรื่องขึ้น อย่าว่าแต่เป็น ก.ต.เลย เป็นผู้พิพากษาก็ไม่ได้ การกระทำของนายสืบพงษ์กับพวกที่แต่งเรื่องขึ้น รวมทั้งการกระทำอื่นที่ต่อเนื่องมาเพื่อปกปิดการกระทำความผิดของตนกับพวกจึงเป็นเรื่องร้ายแรง ผู้พิพากษาต้องกระทำในสิ่งที่ถูกต้องและหาอาจอ้างการกระทำที่ไม่ถูกต้องมาบิดเบือนสร้างความชอบธรรมว่าตนนั้นกระทำในสิ่งที่ถูกต้องได้ เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของการเป็นผู้พิพากษา คือ “จิตสำนึก” ที่จะต้องรู้จักแยกแยะดีชั่ว ซึ่งต้องมีมากกว่าระดับวิญญูชน เพราะผู้พิพากษาต้องทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินมาตรฐานจริยธรรม คุณธรรมของผู้คน หากรู้ว่าสิ่งที่ตนกระทำนั้นไม่ถูกต้องยังฝ่าฝืนกระทำลงไป ก็ไม่ควรปล่อยไว้ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคลอื่น เพราะจะทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและเสื่อมเสียแก่องค์กรนี้

ชำนาญ รวิวรรณพงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image