ปรับลุค ‘คุก 4.0’ เปิด ‘ไลน์’ ให้เยี่ยมญาติ

เทคโนโลยีเปลี่ยน การสื่อสารเปลี่ยน วิถีชีวิตก็ต้องเปลี่ยน ไม่เว้นแม้แต่ผู้ต้องขังในเรือนจำ การบริหารจัดการหลายสิ่งหลายอย่างของเรือนจำในยุคไทยแลนด์ 4.0 ก็ปรับไปตามระบบ ทั้งส่วนงานควบคุม และงานบริการของเรือนจำ

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ได้ปัดฝุ่นโครงการทางไกลแบบเห็นหน้ากัน หรือระบบวิดีโอคอล ผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ หรือถ้าเมื่อก่อนจะเรียกกันว่าระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์

เรื่องนี้ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เล่าให้ฟังว่า สำหรับโครงการเยี่ยมญาติผ่านระบบทางไกลผ่านทางจอภาพนั้น กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในหลายปีงบประมาณ แต่ระบบมีปัญหาขัดข้องทางเทคนิคจึงหยุดไป

แต่เมื่อปัจจุบันเทคโนโลยีด้านระบบคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารโทรคมนาคมได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง โปรแกรมสำเร็จรูปต่างๆ เครื่องคอมพิวเตอร์ แอพพลิเคชั่นใหม่ๆ เกิดขึ้น จึงได้นำระบบดังกล่าวกลับมาใช้อีก และคิดว่าระบบดังกล่าวมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย และเข้าถึงทุกกลุ่มบุคคล

Advertisement

สำหรับขั้นตอนการขอเยี่ยมญาติระบบทางไกลผ่านทางจอภาพ หรือวิดีโอแอพพลิเคชั่นไลน์นั้น พ.ต.อ.ณรัชต์อธิบายว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป ที่เปิดให้มีการลงทะเบียน

ลำดับแรกญาติจะต้องเดินทางไปยังกรมราชทัณฑ์ ณ ศูนย์บริการร่วมกรมราชทัณฑ์ (call center) ในวันและเวลาราชการ เพื่อลงทะเบียน

ส่วนเอกสารที่ต้องเตรียมไปยื่นลงทะเบียนด้วยคือ บัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน แต่ไม่ได้หมายความว่า จะได้เยี่ยมในวันนั้นทันที เป็นเพียงการจองคิวทะเบียนไว้

Advertisement

และที่สำคัญคือคนที่มาลงทะเบียนเยี่ยมต้องมายื่นเรื่องด้วยตนเอง ฝากใครมาลงทะเบียนไม่ได้ เพราะเมื่อถึงวันนัดหมายให้มาเยี่ยมผ่านระบบวิดีโอที่กรมราชทัณฑ์ คนที่ไม่มีบัตรที่เจ้าหน้าที่ออกให้ก็ไม่มีสิทธิเข้าเยี่ยม คนลงทะเบียนกับคนเยี่ยมจริงต้องเป็นคนเดียวกันเท่านั้น

ทั้งนี้ ในส่วนของขั้นตอนการตรวจสอบว่าบุคคลที่ขอเข้าเป็นใคร เป็นญาติ หรือเกี่ยวข้องกับผู้ต้องขังอย่างไร เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์จะตรวจสอบเพื่อความปลอดภัยตามระบบเยี่ยมญาติของเรือนจำ

อีกทั้งต้องดูด้วยว่าผู้ต้องขังรายนั้นติดโทษทางวินัยของเรือนจำหรือไม่ หมดสิทธิในการเยี่ยมไปแล้วหรือไม่ เพราะผู้ต้องขังแต่ละคนจะมีการกำหนดครั้งในแต่ละเดือนว่าสามารถให้ญาติมาเยี่ยมได้กี่ครั้ง เพื่อสับเปลี่ยนหมุนเวียนให้กับผู้ต้องขังรายอื่นๆ กระบวนการดังกล่าวใช้เวลาเพียง 1-2 วันเท่านั้น

เมื่อกระบวนการตรวจสอบเป็นที่เรียบร้อย เจ้าหน้าที่จะติดต่อผ่านระบบไลน์ไปยังบุคคลที่ลงทะเบียนไว้เพื่อนัดหมายวันเยี่ยมอย่างชัดเจน จากนั้นญาติก็ต้องเดินทางมายังศูนย์บริการร่วมของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการจัดไว้รองรับการเยี่ยมแบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ผ่านระบบไลน์

“ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนทั่วไปก่อนว่า การเยี่ยมผ่านระบบไลน์วิดีโอคอล ไม่ได้หมายความว่าญาติอยู่บ้าน แล้วคุยกับผู้ต้องขังได้ทันที ญาติต้องมาที่กรมราชทัณฑ์ ศูนย์บริการร่วมเท่านั้น”

“ในช่วงแรกของการทดลองเพื่อเยี่ยมญาติที่ถูกคุมขังในเรือนจำนำร่องทั้ง 5 แห่ง คือเรือนจำกลางพิษณุโลก, เรือนจำกลางระยอง, เรือนจำกลางเชียงใหม่, เรือนจำกลางคลองไผ่ และเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช

“ส่วนผู้ต้องขังคู่สนทนาก็อยู่ในพื้นที่ที่เรือนจำนำร่องจัดให้ ไม่ได้เป็นการพูดคุยแบบปกติเหมือนบุคคลทั่วไปภายนอกเรือนจำ กรมราชทัณฑ์เพียงแค่ใช้ระบบเทคโนโลยีของไลน์ แต่ยังคงไว้ซึ่งความปลอดภัยและความมั่นคง เพื่อไม่ให้มีการใช้ช่องทางดังกล่าวไปกระทำสิ่งที่ไม่สมควร”

พ.ต.อ.ณรัชต์อธิบายเพิ่มเติมว่า ในเฟสที่ 2 จะให้เรือนจำเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อ โดยขยายไปอีกหลายเรือนจำ และเฟสที่ 3 สุดท้ายคือ ต้องการแต่ให้ละเรือนจำเป็นตัวกลางเชื่อมต่อได้หมดทั่วประเทศ

เรียกว่าเป็นการอำนวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชนได้อย่างเต็มรูปแบบ อยู่จังหวัดไหนก็สามารถเยี่ยมญาติพี่น้องได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญของโครงการนี้ พ.ต.อ.ณรัชต์บอกว่า “กรมราชทัณฑ์ต้องการอำนวยความสะดวกให้ครอบครัวและญาติของผู้ต้องขัง และเป็นการสร้างความรู้สึกทางจิตใจ ไม่ต้องการให้ผู้ต้องขังรู้สึกถูกทอดทิ้ง โดดเดี่ยว การได้เห็นหน้ากันเป็นการสร้างความอบอุ่น อยากให้คิดว่ามีครอบครัวรออยู่ข้างนอก และรู้สึกว่ามีความหวังที่จะกลับออกมาสู่สังคมเป็นคนดี”

ถือเป็นการปรับกรมราชทัณฑ์ให้เข้ากับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่รัฐบาลผลักดันเป็นนโยบายสำคัญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image