นิติกรรพ.รามาฯโร่แจ้งความปอท.เอาผิดเพจกุข่าวแม่ทำคลอดหมอมือใหม่ทำลูกหัวขาด ยันเท็จ เตือนคุกกว่า 10 ปี

จากกรณีที่มีเว็ปไซต์หนึ่งโพสต์ภาพเด็กทารกแรกคลอดเสียชีวิตในห้องทำคลอด สภาพศีรษะแยกออกจากร่างกายพร้อมข้อความ ระบุว่านางสาวประภาพร กาญดา เป็นผู้เข้าแจ้งความเอาผิดกับทางโรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ทำคลอดโดยประมาททำให้ลูกตนถูกมีดผ่าตัดปาดคอจนขาดและเสียชีวิตทันที เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางโรงพยาบาลรามาธีบดีได้ชี้แจ้งและแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและพร้อมจะรับผิดชอบบางส่วนเท่านั้น ในส่วนของแพทย์ที่เป็นผู้ประมาททำให้มีดปาดคอเด็กนั้นทราบรายละเอียดว่าเป็นแพทย์ที่จบใหม่เข้ามาทดสอบสถานการณ์จริงเป็นครั้งแรก ทางเจ้าหน้าหนี้ตำรวจกำลังตรวจสอบหลักฐานและจะแจ้งให้ทราบต่อไป” จนต่อมามีผู้ที่ใช้เฟสบุ๊กใช้ชื่อบัญชีว่า”ประภาพร กาญดา” มีการแชร์ข้อความจากเว็ปไซต์ดังกล่าว พร้อมระบุข้อความว่า “แม่ขอโทษนะลูกที่แม่เลือกโรงพยาบาลเลวๆ ทำไมเอาหมดจบใหม่มาทำคลอดเป็นถึงโรงพยาบาลแนวหน้าของประเทศแต่ทำแบบนี้ คนเป็นแม่เหมือนตายทั้งเป็นนะค่ะ ฝากแชร์ด้วย” สร้างความเสื่อมเสีย และเสียหายแก่ รพ.อย่างมาก

เมื่อเวลา 15.00น. วันที่ 28 เมษายน ที่กองบังกับการปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยี(บก.ปอท.) นายอาคม เลิศสุภานันท์ นิติกรของ รพ.รามาธิบดี ได้นำเอกสารหลักฐาน เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับ ร.ต.อ.กง ไม่เศร้า รอง สว.(สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. โดยได้แจ้งความเอาผิดกับผู้ทีใช้เฟสบุ๊กที่ใช้ชื่อบัญชีว่า “ประภาพร กาญดา” และเว็ปไซต์หนึ่งที่ได้มีการโพสต์และแชร์ภาพพร้อมข้อความดังกล่าว ในข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ,การนำเข้าระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลกันเป็นเท็จ โดยก่อนหน้าที่ทางคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ออกประกาศชี้แจ้งแล้วว่า ตามที่มีบุคคลเผยแพร่ข้อมูลพาดพิงการทำคลอดผิดพลาดของโรงพยาบาลรามาธิบดีบนโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับความประมาทในการทำคลอดผู้ป่วยที่มาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจนเป็นเหตุให้เกิดความผิดพลาด ทำให้ทารกถูกมีดผ่าตัดปาดคอขาดและเสียชีวิตนั้น ทางคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ทำการตรวจสอบข้อมูลแล้ว ขอยืนยันว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง นอกจากนี้จากการตรวจสอบพบว่าไม่มีชื่อบุคคลที่ปรากฏในโซเชียลมีเดียลเป็นผู้ป่วยของโรงพยาบาลรามาธิบดี หรือในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์

พ.ต.อ.สมพร แดงดี รอง ผบก.ปอท. กล่าวว่า อยากให้ประชาชนตระหนักรู้เกี่ยวกับการโพสต์ แชร์ ข้อความเท็จ ที่สร้างความเสียหายให้ผู้อื่น และสร้างความวุ่นวายในสังคม ว่า มีความผิดตามกฎหมาย ไม่อยากให้ตกเป็นเหยื่อ หรือเป็นผู้กระทำผิด ซึ่งแม้บางคนรู้กฎหมายอยู่แล้ว แต่ชะล่าใจว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ ไม่สามารถดำเนินการได้ แต่ความเป็นจริง ความผิดเทคโนโลยีสืบง่าย เพราะมีหลักฐานที่ชัดเจนเป็นวิทยาศาสตร์ แม้จะมีการปลอมชื่อ เพื่ออำพรางตัวตน รวมถึงผู้ที่กดไลค์หรือคอมเมนต์ ก็อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายได้ เนื่องจากเป็นการสนับสนุนการกระทำความผิด ซึ่งเจ้าหน้าที่จะมีมาตรการลงโทษอย่างจริงจัง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่อาจมีโทษจำคุกถึง 5 ปี ปรับไม่เกิน 1แสนบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ ทั้งนี้บทลงโทษดังกล่าวยังไม่นับรวมกับบทลงโทษความผิดทางอาญาซึ่งขึ้นอยู่กับความผิดหรือเจตนา โดยเมื่อรวมความผิดทั้งหมดอาจจะมีบทลงโทษรุนแรงถึงขั้นจำคุกมากกว่า 10ปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image