เปิดร่างพ.ร.บ.อัยการใหม่ มีผลแล้ว บัญญัติ ก.อ.ปรับใหม่ เข้าชื่อถอดถอนได้

เปิดร่าง พ.ร.บ.อัยการใหม่ หลังราชกิจจาฯประกาศ มีผลบังคังคับใช้เเล้ว บัญญัติขั้นตอน เลือก ก.อ. เฟ้น ปธ.ก.อ.ไม่ใช่ข้าราชการอัยการปัจจุบัน หากเป็นต้องลาออกใน 15วัน เลือกตั้งภายใน 21 มี.ค.62 ต้องเสร็จ เพิ่มบทบัญญัติเข้าชื่อถอดถอน ก.อ.ได้

ตามที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2561 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน นายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ได้อธิบายถึงสาระสำคัญที่น่าสนใจของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการฉบับใหม่ว่า

1.พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งก็คือมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย. 2561 เป็นต้นไป

Advertisement

2. อัยการสูงสุดไม่ได้เป็นประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) อีกต่อไป ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่อัยการสูงสุดเป็นประธาน ก.อ.โดยตำแหน่ง โดยกำหนดให้ข้าราชการอัยการเป็นผู้เลือกประธาน ก.อ. จากผู้มีคุณสมบัติตามที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการฉบับใหม่ มาตรา 18 (1) กำหนด ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 248 วรรค 3 ที่กำหนดว่า ประธาน ก.อ.ต้องไม่เป็นพนักงานอัยการ ส่วนอัยการสูงสุดเป็นรองประธาน ก.อ. ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ ฉบับใหม่ มาตรา 18 (2)

3. ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการอัยการฉบับใหม่กำหนดให้คณะกรรมการอัยการ มีจำนวน 15 คน เท่าเดิม ซึ่งประกอบไปด้วย ประธาน ก.อ. กรรมการอัยการโดยตำแหน่งจำนวน 6 คน คือ อัยการสูงสุด และรองอัยการสูงสุดตามลำดับอาวุโส จำนวน 5 คน และกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 8 คน

4. กำหนดให้มีกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการอัยการมาก่อน และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการงบประมาณ ด้านการพัฒนาองค์กร หรือด้านการบริหารจัดการ ที่ได้รับเลือกจากข้าราชการอัยการ จำนวน 2 คน เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 248 วรรค 3

Advertisement

5. กำหนดให้กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิที่เหลืออีกจำนวน 6 คน ข้าราชการอัยการเลือกมาจากข้าราชการอัยการชั้น 5 ขึ้นไป ซึ่งไม่ได้เป็นกรรมการอัยการโดยตำแหน่ง จำนวน 4 คน และเลือกมาจากข้าราชการอัยการบำนาญอีกจำนวน 2 คน

6. จะต้องมีการเลือกประธาน ก.อ. และกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ ภายใน 120 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการอัยการฉบับใหม่ใช้บังคับ ซึ่งก็คือต้องเลือกประธาน ก.อ. และกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ ภายในวันที่ 21 มีนาคม 2562

7. ในการเลือกประธาน ก.อ. ให้ ก.อ. พิจารณาจัดทำบัญชีรายชื่อบุคคลที่มาสมัครหรือที่ ก.อ. เห็นสมควรเป็นประธาน ก.อ. ไม่น้อยกว่า 5 รายชื่อ เพื่อให้ข้าราชการอัยการเลือกจากรายชื่อดังกล่าว ส่วนการเลือกกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการอัยการมาก่อนตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการอัยการฉบับใหม่ มาตรา 18 (5) ให้ ก.อ. พิจารณาจัดทำบัญชีรายชื่อบุคคลที่มาสมัครหรือที่ ก.อ. เห็นสมควรเป็นกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่น้อยกว่า 3 เท่าของกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 18 (5) เพื่อให้ข้าราชการอัยการเลือกจากรายชื่อดังกล่าว

8. คณะกรรมการอัยการซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบันก่อนวันที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการฉบับใหม่ใช้บังคับ ยังคงสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ จนกว่าจะมีประธาน ก.อ. และกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับเลือกตามพระราชบัญญัติฉบับใหม่

9. ในการเลือกประธาน ก.อ. และกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิครั้งแรกภายหลังจากที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการอัยการฉบับใหม่ใช้บังคับ กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบัน หากประสงค์จะสมัครรับเลือกเป็นประธาน ก.อ. หรือกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ ต้องลาออกจากตำแหน่งกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิภายใน 15 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติฉบับใหม่ใช้บังคับ ซึ่งก็คือต้องลาออกภายในวันที่ 6 ธ.ค. 2561

10. ในการเลือกประธาน ก.อ. และกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ ห้ามบุคคลใดกระทำการใด ๆ ที่เป็นการหาเสียงเพื่อให้ข้าราชการอัยการลงคะแนนหรืองดเว้นลงคะแนน ทั้งนี้ ตามระเบียบที่ ก.อ. กำหนด และห้ามข้าราชการอัยการกระทำการใด ๆ ที่มีลักษณะเป็นการหาเสียงดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการอัยการฉบับใหม่มาตรา 21 วรรค 5 และมาตรา 62/1

11. กำหนดให้การออกเสียงลงคะแนนเลือกประธาน ก.อ. และกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ จะต้องกระทำโดยวิธีลับ

12. กำหนดให้ประธาน ก.อ. มีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี นับแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง และกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี นับแต่วันที่อัยการสูงสุดประกาศรายชื่อผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

13. กำหนดให้ข้าราชการอัยการจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนข้าราชการอัยการทั้งหมด สามารถเข้าชื่อถอดถอนประธาน ก.อ. และกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิออกจากตำแหน่ง รวมทั้งมีบทบัญญัติที่กำหนดเรื่องการลงมติถอดถอนไว้ ซึ่งในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการอัยการ ฉบับเดิมไม่ได้กำหนดเรื่องนี้ไว้

14. ห้ามไม่ให้ข้าราชการอัยการเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐในทำนองเดียวกัน กรรมการ ผู้จัดการ ที่ปรึกษากฎหมาย หรือดำรงตำแหน่งอื่นใดในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือกิจการอื่นใดที่มีลักษณะทำนองเดียวกับห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่มีวัตถุประสงค์มุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นที่ปรึกษาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือดำรงตำแหน่งอื่นในลักษณะเดียวกัน เพื่อให้สอดคล้องกับที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 248 วรรค 4

15. กำหนดให้กรณีที่คณะกรรมการอัยการเหลือแต่เพียงกรรมการอัยการโดยตำแหน่ง ให้กรรมการอัยการโดยตำแหน่งเป็นองค์ประชุมและให้กระทำได้แต่เฉพาะเท่าที่จำเป็นไปพลางก่อน

16. กำหนดให้กรณีที่ประธาน ก.อ. และกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิครบกำหนดวาระ ให้ประธาน ก.อ. และกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่เท่าที่จำเป็นไปพลางก่อน จนกว่าประธาน ก.อ. และกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับเลือกใหม่เข้ารับหน้าที่

17. กำหนดให้การเลือกประธาน ก.อ. และกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิต้องกระทำภายใน 60 วันก่อนวันครบกำหนดวาระหรือภายใน 60 วันนับแต่วันที่มีเหตุต้องเลือก

คลิกอ่าน : พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2561

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image