‘ปนัดดา’ชี้’ปชต.’ถือมติเสียงส่วนใหญ่ประชาชน ไม่ทุจริตแฝงด้วยธุรกิจการเมือง

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่วังวรดิศ ถนนหลานหลวง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ในฐานะเจ้าของวังวรดิศ ให้การต้อนรับลูกหลานเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ครูอาจารย์ ข้าราชการบำนาญ ในการเข้าทัศนศึกษา ‘วังวรดิศ’ พิพิธภัณฑ์และหอสมุดสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ หอภาพดิศวรกุมาร และรับฟังการบรรยายพิเศษ เรื่อง ‘หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เดินตามรอยพระยุคลบาท’

ม.ล.ปนัดดา กล่าวในความตอนหนึ่งของการพบปะสนทนา และการบรรยายพิเศษ ว่า”คุยกันถึงเรื่องประชาธิปไตย ที่เป็น ‘Hot Issue’ วันนี้ในหลายๆ ประเทศ บ้างพูดถึงประชาธิปไตยที่สร้างสรรค์และมีระเบียบ (procedural democracy) ควรเป็นเช่นไร บ้างพูดถึงประชาธิปไตยแบบปลอมแปลง (fake democracy) หรือประชาธิปไตยแบบเบ็ดเสร็จ (totalitarian democracy) หรือรูปแบบการปกครองที่ทำให้บุคคลมีความรู้สึกอนาถใจเกี่ยวการเมืองในประเทศของตน (politics makes you miserable) ฯลฯ

นิยามความหมายทางวิชาการทั้งในทางกฎหมายลายลักษณ์อักษรและจารีตประเพณีที่เป็นหลักสากล คือ ระบอบการปกครองที่ถือมติประชาชนเป็นใหญ่หรือเสียงสวรรค์ การถือเสียงข้างมากเป็นสำคัญ ที่เสียงนั้นมีความโปร่งใส เพียบพร้อมด้วยหลักคุณธรรมจริยธรรม อธิบายให้ลูกหลานเยาวชนฟังง่ายๆ ก็คือ ‘เสียงคนส่วนใหญ่ (voice of the majority with morality definition : beliefs about what is right behavior and what is wrong behavior) กอปรด้วยคุณธรรมจริยธรรม’ ไม่ทุจริต ไม่คดโกง ไม่ใช้ระบบธุรกิจการเมือง (business politics) แอบแฝง ไม่แบ่งแยกผู้คนเรียกเป็นสีเป็นฝ่ายเป็นสีของผลไม้ ตกสมัยแล้วการกล่าวอะไรเช่นนี้ ไม่พูดคำว่าหัวหน้ากลุ่มคนสีนั้นสีนี้ สิ่งเหล่านี้ต้องเป็นอดีตหมดสิ้น แลัวจะปรองดองสมัครสมานกันอย่างไรได้ ไม่เอาเปรียบฝ่ายตรงข้ามกระทั่งเป็นภยันตรายต่อระบบการเมืองการปกครอง กติกาและแนวทางปฏิบัติต้องโปร่งใสและมีความสอดคล้องต้องกัน”

ม.ล.ปนัดดา กล่าวว่า “เด็กๆ ถามต่อว่า การหาเสียงหาคะแนนพูดจาหยาบคายได้ไหม? กล่าวใส่ร้ายป้ายสีได้ไหม? กล่าวคำเท็จจนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาได้ไหม? ห้ำหั่นถึงขั้นเข้าฟาดฟันให้แหลกกันไปข้างหนึ่งได้หรือไม่? ฯลฯ

Advertisement

คำถามต่างๆ เหล่านี้เด็กๆ ถามเองแล้วช่วยกันตอบในรูปแบบกระบวนการมีส่วนร่วม ซึ่งน่าชื่นชมยินดี โดยกล่าวว่า ‘ถ้าการกระทำถึงขั้นนี้ ย่อมไม่ใช่ประชาธิปไตยแล้ว’ แต่กลายเป็นสังคมคนพาล ลูกหลานตอบถูก คือ ‘เป็นสงครามกลางเมือง’ หรือ ‘civil war’ หลายคนให้ข้อคิดที่ดี แล้วเหตุการณ์เช่นนี้ก็จะนำไปสู่อุบัติเหตุทางการเมืองครั้งแล้วครั้งเล่าน่าเบื่อหน่าย จากนี้ไปต้องเลิกแบ่งแยกเป็นสีเป็นฝ่ายโดยเด็ดขาด แม้จะรู้กันเองในใจใครเป็นใคร อยู่ข้างไหน แต่ไม่ต้อง ‘spell out’ โกหกหรือจริงใจ เรื่องใครเรื่องเขา บาปกรรมของใครของเขาเช่นกัน ต้องยุติพูดเรื่องสี มองว่าคนที่ยังไม่ยอมยุติพูดเรื่องสี คือผู้ต้องการความแตกแยกตัวจริง ระบบการเมืองคงต้องเดินย่ำอยู่กับที่ คือ สอบตกขึ้นชั้นไม่ได้สักที เห็นควรกำหนด ‘political code of ethics’ ให้มีความชัดเจนที่สุด

ความสำเร็จจะวัดกันที่ความซื่อสัตย์สุจริตล้วนๆ หลักคุณธรรมจริยธรรม ความรู้ความสามารถในทางวิชาการ ความไม่เอารัดเอาเปรียบ มีความจงรักภักดีต่อแผ่นดิน ปัญหาในสังคมขาดตกบกพร่องอย่างไรตรงไหนต้องช่วยกันปรับปรุงแก้ไข ไม่ว่ากล่าวให้ร้ายบ้านเมืองของตนเอง ไม่ใช้อำนาจบาตรใหญ่ ข้อสุดท้ายที่เด็กๆ อยากเห็น คือ ความพอเพียง ความไม่ฟุ่มเฟือย ความไม่คุยโวโอ้อวด ความมีไมตรีจิตต่อกัน ตามพระราชปณิธานของพระองค์ท่าน เมืองไทยจะก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างสง่างามและมีความร่มเย็นเป็นสุข ไม่ใช่เป็นประชาธิปไตยแบบไร้ขื่อแป แต่เป็นประชาธิปไตยที่ยึดหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ผู้บริหารมีคุณธรรมเปี่ยมล้น”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image