‘กำนันเซี้ย’อ่วม!ฎีกา-อุทธรณ์จำคุกรวด2คดี ฮั้ว-รุกที่ราชพัสดุ8ปีออกหมายจับบังคับโทษ

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 25 มกราคม ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษกอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายประชา โพธิพิพิธ หรือ กำนันเซี้ย อดีต ส.ส.กาญจนบุรี พรรคประชาธิปัตย์ นางเขมพร ต่างใจเย็น ภรรยา น.ส.วรรณา ล้อไพบูลย์ คนสนิทนางเขมพร และนายถวิล สวัสดี (เสียชีวิตแล้ว) เป็นจำเลย ที่ 1-4 ในความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ , หน่วงเหนี่ยวกักขัง และกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (ฮั้วประมูล)

ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายความผิดพวกจำเลยสรุปว่า เมื่อระหว่างปี 2542 – 2544 จำเลยร่วมกันฮั้วประมูลโครงการก่อสร้างต่างๆ ใน จ.กาญจนบุรี และเพชรบุรี หลายโครงการ กระทั่งเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2544 จำเลยที่ 4 พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ ศรีสุข เลขานุการของกำนันเซี้ย กับพวกอีกหลายคนที่ศาลอาญาพิพากษาลงโทษไปแล้วเมื่อปี 2546 ได้ร่วมกันกระทำความผิดข้อหาอั้งยี่ เข้าขัดขวางไม่ให้ บริษัท วัสดุเซ็นเตอร์ จำกัด เข้าเสนอราคา โดยได้กักตัวนายเดชา มาศวรรณา ตัวแทนบริษัทไว้ พร้อมเสนอให้รับเงิน 1 หมื่นบาท เพื่อไม่ให้เข้าร่วมการเสนอราคา แต่เมื่อนายเดชาไม่ยินยอม นายสมศักดิ์กับพวกได้ใช้กำลังประทุษร้าย ต่อมาจำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน พร้อมให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

สำหรับคดีดังกล่าว ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาให้จำคุก นายประชา หรือ กำนันเซี้ย เป็นเวลา 5 ปี ฐานเป็นหัวหน้า หรือผู้มีตำแหน่งในอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 วรรค 2 ส่วนจำเลยที่สองถึงสี่ ให้จำคุกคนละ 4 ปี ฐานเป็นอั้งยี่ แต่ต่อมาเมื่อมีการอุทธรณ์คดี ศาลอุทธรณ์ ได้พิพากษาเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2550 ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษพวกจำเลยด้วย

โดยในวันนี้จำเลยทั้งสามไม่มาศาล มีเพียงทนายความผู้รับมอบอำนาจ ก่อนหน้านี้ศาลได้ออกหมายจับจำเลยจนครบ 1 เดือนแล้วหลังจากที่ไม่มาศาลหลายนัด ศาลจึงอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย

Advertisement

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า โจทก์มีพยาน 14 ปาก ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มยูโรกาญ หรือกลุ่มบ้านใหญ่ หรือกลุ่มกำนันเซี้ย-เขมพร ซึ่งพยานต่างเบิกความสอดคล้องกันว่า เดิมที่มีผู้ก่อตั้งกลุ่มยูโรกาญ เพื่อรวบรวมสมาชิกที่จะยื่นซองประกวดราคาโครงการของรัฐต่างๆ ในพื้นที่จ.กาญจนบุรี โดยกีดกันบุคคลอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกเข้ายื่นซองประกวดราคาแข่งขัน ขณะที่การเป็นสมาชิกต้องให้ค่าตอบแทน โดยแบ่งสัดส่วนให้ 5 เปอร์เซ็นต์ก่อนยื่นซอง และเมื่อชนะการประกวดราคาแล้วต้องให้ค่าตอบแทนอีก 5 เปอร์เซ็นต์ของราคาที่ประกวด และการเข้าเป็นสมาชิกต้องจ่ายเงิน 1 แสนบาทเพื่อเป็นค่าดำเนินการ โดยภายหลังจำเลยที่ 1 เป็นส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นที่รู้จักของเอกชนในพื้นที่ จึงถูกเชิญมาเป็นที่ปรึกษาของกลุ่ม และภายหลังถูกเลือกให้เป็นประธานกลุ่ม ซึ่งได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 5 หมื่นบาท ซึ่งมีการจัดประชุมกลุ่มทุกเดือนที่บ้านพักของจำเลยที่ 1 อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นประธานการประชุม จำเลยที่ 2 เป็นรองประธาน ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นเลขานุการจดบันทึกการประชุม รวมทั้งเป็นผู้ติดตามทวงถามเงินค่าตอบแทนจากการประมูล ซึ่งภายหลังมีการประชุมบ่อยครั้งจะมีจำเลยที่ 2 นั่งเป็นประธานการประชุม เพื่อแจกแจงรายละเอียดในการยื่นซองประมูลโครงการต่างๆ แทนจำเลยที่ 1

นอกจากนี้ โจทก์ยังมีผู้เสียหาย ซึ่งเป็นบริษัทวัสดุก่อสร้างเบิกความว่า วันเกิดเหตุที่ 17 พฤษภาคม 2544 จะเข้ายื่นซองประกวดราคาโครงการของกรมชลประทาน แต่ถูกกลุ่มของจำเลยกีดกันและหน่วงเหนี่ยวตัวเพื่อที่จะไม่ให้เข้าร่วมการยื่นซองประมูล ซึ่งคำเบิกความดังกล่าวสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ขณะเกิดเหตุ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่แฝงตัวได้เข้าจับกุมกลุ่มของจำเลยดังกล่าว 7 คน ซึ่งถูกดำเนินคดีและศาลมีคำพิพากษาไปแล้วฐานกักขังหน่วงเหนี่ยวและทำร้ายร่างกาย โดยกลุ่มของจำเลยนี้เป็นผู้ช่วยส.ส.ของจำเลยที่ 1 ที่นำกำลังคน ซึ่งเป็นทหารมาคอยกีดกันบุคคลอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกห้ามยื่นซองประกวดราคา

โดยพยานโจทก์ดังกล่าวถือเป็นประจักษ์พยาน ซึ่งคำเบิกความของพยานซึ่งเป็นกลุ่มสมาชิกยูโรกาญดังกล่าวอาจเป็นผลร้ายต่อตนเอง จึงเชื่อว่าพยานล้วนเบิกความตามที่ได้รู้เห็น จึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัย ส่วนที่จำเลยที่ 1-3 นำสืบต่อสู้อ้างว่า ไม่รู้เห็นเรื่องการประชุม และไม่ทราบเรื่องการกีดกันการประมูลในที่เกิดเหตุนั้น เป็นการปฏิเสธต่อสู้ลอยๆ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นการกระทำของจำเลยที่ 1-3 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 วรรคสอง 210 213 310 317 และ 391 และพ.ร.บ.ฮั้วประมูลมาตรา 4-6 ซึ่งเป็นความผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดมาตรา 209 วรรคสอง ฐานเป็นหัวหน้า ผู้จัดการ หรือผู้มีตำแหน่งในคณะบุคคล ซึ่งเป็นอั้งยี่

Advertisement

พิพากษาแก้ให้จำคุกนายประชา หรือกำนันเซี้ย จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 5 ปี และให้จำคุกนางเขมพร และน.ส.วรรณา จำเลยที่ 2-3 คนละ 4 ปี โดยให้ออกหมายจับจำเลยทั้งสามมารับโทษตามคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งถึงที่สุดแล้วต่อไป

อีกคดีเวลา 09.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 901 ศาลอาญา ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายประชา โพธิพิพิธ หรือกำนันเซี้ย อดีตส.ส.กาญจนบุรี พรรคประชาธิปัตย์ จำเลยฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดิน หรือก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ เป็นการทำลายหรือทำให้เสื่อมสภาพที่ดิน ในที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินเนื้อที่เกินกว่า 50 ไร่ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2555 สรุปว่า เมื่อต้นปี 2533 ถึงวันที่ 25 มีนาคม 2547 จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครอง ก่อสร้าง เผาป่าปลูกพืชไร่ ให้บุคคลอื่นเช่าและใช้ประโยชน์ในที่ดินรวม 299 ไร่ ในที่ดินราชพัสดุเลขทะเบียน กจ.209 หมู่ 12 ต.จรเข้เผือก อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี และที่ดินรวม 900 ไร่ ในที่ดินราชพัสดุเลขทะเบียน กจ. 209 หมู่ 8 ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เป็นพื้นที่ต่อเนื่องกันรวมจำนวน 1,199 ไร่ โดยมิได้รับอนุญาต เหตุเกิดที่ ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี และ ต.จรเข้เผือก อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9,108 ทวิ และให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดิน

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2557 ให้จำคุกจำเลย 1 ปี โดยไม่รอการลงโทษ ฐานกระทำผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน ฐานเข้าไปครอบครองที่ดินของรัฐ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งที่ดินดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุและเป็นที่ดินเพื่อสาธารณประโยชน์ ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างสู้คดี

วันนี้จำเลยไม่มาศาล ศาลจึงอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย ว่า ศาลอุทธรณ์ปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานที่นำสืบฟังได้ว่าจำเลยเข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทดังกล่าวแล้วไปสร้างบ้านพักอาศัย โดยมอบหมายให้คนงานเข้าไปดูแล ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ยุติว่าจำเลยเป็นอดีตกำนัน รวมทั้งมีประกาศเรื่องที่ดินติดไว้ที่หน้าที่ว่าการอำเภอ จำเลยย่อมรู้ดีว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุซึ่งเป็นที่ดินของรัฐเป็นอย่างดี

ส่วนทางนำสืบที่จำเลยอ้างว่าเมื่อปี 2534 จำเลยไม่ทราบว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุอยู่ในความดูแลของกระทรวงการคลังนั้นฟังไม่ขึ้น ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยนั้นไม่เหมาะสมแห่งพฤติการณ์คดี ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลย เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ(1)(3) ให้จำคุก 4 ปี แต่คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง จึงลดโทษให้จำคุก 3 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเนื่องจากวันนี้จำเลยไม่มาฟังคำพิพากษา ศาลจึงให้ออกหมายจับจำเลย เพื่อมารับโทษต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image