ดีเอสไอ ถก7 หน่วยรับมืออาชญากรรมไซเบอร์ปี 62 ตั้งทีมปิดเว็บไซต์ เตือนช้อปออนไลน์

เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สมาคมธนาคารไทย และกรมประชาสัมพันธ์ จัดประชุมหารือมาตรการในการป้องกันและปราบปรามเว็บไซต์ที่ขัดต่อความเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีต่อประชาชน เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยไซเบอร์ และสร้างการรับรู้แก่ประชาชนในเรื่องการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์

พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ตลอดปี 2561 ที่ผ่านมากองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ดีเอสไอ ได้สืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรมคอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบว่าแนวโน้มคดีอาชญากรรมต่าง ๆ มักจะนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดมากขึ้น เพราะสามารถเข้าถึงบุคคลที่เป็นเป้าหมายได้สะดวกรวดเร็ว มีการใช้ระบบเก็บข้อมูลใน Cloud เพื่อการปกปิดแหล่งที่ตั้งของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย และปิดบังอำพรางตัวตนที่แท้จริงใช้การชำระเงินผ่านระบบ e-wallet หรือเงินสกุลดิจิตอล เช่น บิทคอยน์ และที่เลวร้ายที่สุดคือประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมโดยไม่รู้ตัว และผู้บริสุทธิ์บางคนเป็นเครื่องมือขององค์กรอาชญากรรม เช่น การถูกแอบอ้างชักชวนให้เปิดบัญชี หรือการทำธุรกรรมทางการเงินเพื่อปกปิดและถ่ายโอนผลประโยชน์ จึงหารือที่ประชุมในวันนี้ เพื่อผนึกกำลังประสานความ ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในด้านการป้องกันและปราบปรามเว็บไซต์ที่มีพฤติการณ์ดังกล่าว และคุ้มครองประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ ซึ่งจากการหารือได้ข้อสรุปมาตรการปิดกั้นเว็บไซด์ การทำงานเชิงรุกเป็นทีม การตัดโครงข่ายของ กสทช. การเปิดเวทีให้เยาวชนมีส่วนร่วม การควบคุมการให้บริการอินเทอร์เน็ต การตรวจสอบ ISP มาตรการในการควบคุมร้านเกมส์ในการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้งาน (Log File)

Advertisement

พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้สรุปข้อมูลการรับเรื่องร้องเรียนในรอบปีที่ผ่านมา และขอแจ้งเตือนประชาชนถึงรูปแบบการกระทำความผิด และวิธีการป้องกันเพื่อให้รู้เท่าทันอาชญากรรมรูปแบบต่างๆ ในปี 2562 เช่น การซื้อขายสินค้า/บริการ การชำระเงิน การโฆษณาโดยผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่างๆ ที่ไม่มีอยู่จริง (Fraudulent) ประชาชนควรใช้ความระมัดระวัง และตรวจสอบการมีอยู่จริงของผู้ขายสินค้าหรือบริการ หากเกิดความสงสัยหรือไม่แน่ใจต้องทำการตรวจสอบกลับไปยังหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่โดยตรงในการกำกับดูแลการจำหน่ายสินค้าหรือให้บริการประเภทนั้นๆ ก่อนตัดสินใจ, การหลอกลวงให้เข้าเว็บไซต์ปลอมที่ทำเลียนแบบเว็บไซต์จริง (Phishing) เพื่อมุ่งหวังเงิน โดยจะหลอกให้ผู้เสียหายกรอกข้อมูลสำคัญส่วนบุคคล โดยเฉพาะข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางธนาคาร จากนั้นคนร้ายจะนำข้อมูลดังกล่าวไปทำธุรกรรมทางการเงินแทนผู้เสียหาย ดังนั้น ไม่ควรรีบเร่งดำเนินการหรือคีย์ข้อมูลสำคัญ โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการธุรกรรมทางด้านการเงินการธนาคารใด ๆ ผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่ไม่น่าไว้ใจ และทำการตรวจสอบความถูกต้องของระบบการทำธุรกรรมเกี่ยวกับการเงินการธนาคารทุกครั้ง อย่าหลงเชื่อการขอข้อมูลธุรกรรมง่าย ๆ

อธิบดีดีเอสไอ ระบุอีกว่า นอกจากนี้ ยังต้องระวังการหลอกลวงว่าเป็นบุคคลอื่นโดยการปลอมอีเมล์ (Fake Mail) และการเข้าถึงข้อมูลอีเมล์ โดยไม่ชอบ (Hack Mail) ให้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน กรณีนี้จะมีการจัดทำอีเมล์ปลอมที่มีชื่อ (Account) เหมือนอีเมล์จริง หรือการลักลอบเข้าถึงหรือทำการยึดอีเมล์ (Account) ของบุคคลอื่นโดยมิชอบ และทำการหลอกลวงบุคคลที่ติดต่อทางอีเมล์ว่า มีความจำเป็นต้องการใช้เงิน เกิดเหตุการณ์เดือดร้อน และขอยืมเงินบุคคลที่อยู่ในอีเมล์ ทำให้ผู้ได้รับการร้องขอช่วยเหลือทางการเงินเกิดความเสียหายจำนวนมาก ดังนั้นประชาชนควรดำเนินการตรวจสอบกลับไปยังตัวบุคคลเจ้าของอีเมล์ที่ได้รับการติดต่อมาก่อนให้ความช่วยเหลือทุกครั้ง, การกระทำความผิดโดยการเผยแพร่หรือส่งต่อภาพลามกอนาจาร หรือเผยแพร่หรือส่งต่อข้อความอันเป็นเท็จที่จะทำให้บุคคลอื่นถูกดูหมิ่น เกลียดชังอันเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และกฎหมายอาญา ประชาชนควรใช้วิจารณญาณและความรอบคอบ ก่อนทำการเผยแพร่หรือส่งต่อ โดยเฉพาะการใช้ช่องทางผ่านโซเซียลต่างๆ, การหลอกลวงผู้หญิงหรือเพศอื่นด้วยการพูดคุยผ่านโปรแกรมแชท หรือการส่งข้อความในลักษณะทำให้เหยื่อเชื่อว่าตกหลุมรักและไว้ใจ จากนั้นจะขอยืมเงินหรือหลอกให้ส่งยาเสพติดหรือทำสิ่งผิดกฎหมาย (Romance Scam) ประชาชนจึงควรใช้วิจารณญาณและความรอบคอบ และการรับจ้างเปิดบัญชีเงินฝาก เข้าข่ายการกระทำความผิดในฐานะตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิดอาญา

Advertisement


พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวด้วยว่านี้หากประชาชนมีข้อมูลเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำความผิดในลักษณะข้างต้น สามารถติดต่อผ่าน 5 ช่องทาง ดังนี้ 1.การติดต่อด้วยตนเองที่กรมสอบสวน 2. ติดต่อผ่านเว็บไซต์ www.dsi.go.th 3. การยื่นหนังสือที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ 4. ติดต่อผ่านสายด่วนหรือ Call Center 1202 (โทร.ฟรีทั่วประเทศ) และ 5. การติดต่อผ่านศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษทั้ง 10 เขต โดยข้อมูลเบาะแสที่ประชาชนแจ้งเข้ามาจะถูกเก็บข้อมูลเป็นความลับ และหน่วยอื่น ได้แก่ กสทช. ติดต่อผ่านสายด่วนหรือ Call Center 1200 , กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ติดต่อผ่านสายด่วนหรือ Call Center 1212 ,ปปง. ติดต่อผ่านสายด่วนหรือ Call Center 1710, กรมประชาสัมพันธ์ โทร. 02-6182323 , สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ติดต่อผ่านสายด่วนหรือ Call Center 1111 กด 77 และกระทรวงวัฒนธรรม ติดต่อผ่านสายด่วนหรือ Call Center 1765

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image