ป.ป.ท.แถลงผลงาน1ปี ชี้ทุจริตทำลายโครงสร้าง สังคมอ่อนแอ ชงครม.ยกร่างกฎหมาย

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 25 มกราคม ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการ ป.ป.ท. พร้อมผู้บริหาร พนักงาน และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. ร่วมจัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสครบรอบวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงาน ป.ป.ท. ปีที่ 8 พร้อมทั้งแถลงผลงานในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

โดยนายประยงค์ กล่าวว่า ภารกิจหลักของ ป.ป.ท. มีอยู่ 2 ประการ คือ 1.ขับเคลื่อนส่วนราชการให้ป้องกันการทุจริตในหน่วยงานของตัวเอง มีอยู่กว่า 8,000 หน่วยงาน และ 2.ตรวจสอบและไต่สวนคนทุจริต ทั้งสองประการนี้ในข้อเท็จจริงแล้ว ยังทำได้ไม่ครบถ้วนตั้งแต่เริ่มแรกที่ก่อตั้ง ป.ป.ท.ขึ้นมา เพราะต้องใช้พลังมากที่จะขับเคลื่อนให้ส่วนราชการที่มีฐานะเท่ากับเรา หรือบางส่วนที่เป็นกระทรวง เราไม่มีพลังมากพอ ทั้งอำนาจตามกฎหมายที่ไม่ชัดเจน กำลังพล และการสนับสนุนที่ไม่จริงจัง จึงสรุปได้ว่าเรายังทำหน้าที่ได้ไม่ครบถ้วน และการป้องกันปราบปรามทำได้ไม่เต็มที่ อย่างไรก็ตามขณะนี้ขอการสนับสนุนเรื่องกำลังพล รัฐบาลได้อนุมัติเพิ่มให้อีก 343 คน อยู่ระหว่างของบประมาณ เมื่องบประมาณมาจะรับโอนเจ้าหน้าที่ต่อไป

“เหล่านี้ส่งผลให้การทุจริตเกิดขึ้นแรงมาก ทั้งในเชิงพื้นที่และพฤติการณ์ พบว่ากลไกการแก้ไขปัญหาขาดประสิทธิภาพ พอคดีทุจริตเกิดขึ้น ป.ป.ท. ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ ทำให้โครงสร้างระบบราชการและสังคมอ่อนแอ ระบบราชการถูกแทรกแซง ระเบียบขั้นตอนต่างๆ ถูกกำหนดไว้เพื่อป้องกันการทุจริต แต่กลายเป็นที่ฟอกการกระทำให้มันถูกต้องเท่านั้น กระทั่งรัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศก็พบว่าปัญหาการทุจริตที่ต้องแก้ไขมี 3 ข้อ คือ 1.ทุจริตรุนแรง 2.กลไกไม่ทำงาน และ 3.โครงสร้างอ่อนแอ จึงนำไปสู่การจัดตั้งศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) โดยมี ป.ป.ท. เป็นเลขานุการศูนย์ ขับเคลื่อนให้ส่วนราชการต้องทำหน้าที่ จากนั้นได้ตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) เพื่อแก้ไขปัญหาบางประการที่ระบบปกติไม่สามารถแก้ไขได้ทันการณ์” เลขาธิการ ป.ป.ท.กล่าว

เลขาธิการ ป.ป.ท.กล่าวอีกว่า จากนั้นเราวางกลไกทำงานขึ้นใหม่ มุ่งเน้นให้หัวหน้าส่วนราชการ กำหนดมาตรการแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในหน่วยงานของตน อีกทั้งยังใช้มาตรการทางบริหาร คือ คำสั่งย้ายหรือพักราชการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกกล่าวหา หรืออยู่ระหว่างการตรวจสอบเกี่ยวกับการทุจริต สิ่งที่เห็นชัดคืออันดับความโปร่งใสสูงขึ้น เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่าเรามาถูกทางแล้ว หลังจากนี้เราจะทำเหมือนเดิม แต่ต้องผลักดันและให้ปฏิบัติแบบนี้อย่างต่อเนื่อง

Advertisement

เลขาธิการป.ป.ท. กล่าวด้วยว่า ปัญหาด้านกฎหมาย ป.ป.ท. มี 3 ข้อ คือ 1.ความมีอิสระในการทำงาน 2.ขั้นตอนการไต่สวน ระบบเดิมนั้นยาวเกินไป และ 3.ไม่มีมาตรการขับเคลื่อน กฎหมายฉบับนี้จึงถูกเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.) และขณะนี้อยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หากกฎหมายออกมาในรูปแบบที่เสนอไป ป.ป.ท. จะขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี จะให้การขับเคลื่อนเชิงระบบดีขึ้น ทั้งนี้งานเชิงโครงการหลายเรื่องที่เราเข้าไปดำเนินการ ทั้งในเรื่องของวันแม็ป และการตรวจสอบเชิงคดีตามอำนาจหน้าที่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image