เปิดหลักเกณฑ์กรณีพิเศษ “บิ๊กจิน” พักโทษคนดัง ‘กำนันเป๊าะ-สุชาย-วิโรจน์-มัชฌิมา’

เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ กันพอหอมปากหอมคอ พร้อมกับข้อสงสัย เรื่องเกณฑ์การพักโทษแบบปกติ กับ แบบพิเศษ ของกรมราชทัณฑ์ เมื่อ 3 นักโทษ คดีทุจริตอนุมัติเงินกู้จากธนาคารกรุงไทยให้กับบริษัทในเครือกฤษดามหานคร ประกอบด้วย ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ อดีตประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงไทย นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และนายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา อดีตกรรมการบอร์ดกรุงไทย ผู้ต้องขัง ได้รับสิทธิตามขั้นตอนพักโทษกรณีพิเศษ ปล่อยตัวพ้นจากเรือนจำกลางคลองเปรม เมื่อวันที่ 8 มกราคม ที่ผ่านมา

โดยเป็นอำนาจของ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ลงนามคำสั่งการพักการลงโทษ ชุดดังกล่าว ทั้ง 3 ราย ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาลงโทษจำคุก 18 ปี ถูกส่งตัวเข้ามายังเรือนจำเมื่อวันที่ 26 ส.ค.2558 และได้รับพระราชทานอภัยโทษ ตามวโรกาสสำคัญต่างๆ ทำให้โทษจำคุกเหลือเพียง 9 ปี และรับโทษจำคุกมาแล้ว 1 ใน 3 หรือ 3 ปีเศษ

สำหรับคุณสมบัติเข้าเกณฑ์พักโทษกรณีพิเศษ ตามประกาศกรมราชทัณฑ์ คือรับโทษจำคุกแล้ว 1 ใน 3 อายุเกิน 70 ปีขั้นไป ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย ร่างกายพิการ และเจ็บป่วยร้ายแรง ส่วนการพักโทษแบบปกตินั้น ต้องจำคุกมาแล้ว 2 ใน 3 ของโทษ

ถ้าเป็นหลักเกณฑ์พักโทษกรณีพิเศษ กรมราชทัณฑ์จะประกาศหลักเกณฑ์ ขั้นมา 1 ฉบับ เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พิจารณา ซึ่งโดยปกติแล้วตจะไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงจากหลักเกณฑ์เดิมและจะประกาศใหม่เมื่อมีการเปลี่ยน “รัฐมนมนตรีว่าการกระทรวงยตุิธรรม” เนื่องจากการพักโทษกรณีเป็นอำนาจของ รัฐมนตรีว่ากระทรวงยุติธรรม เป็นผู้พิจารณา

Advertisement

ทั้งนี้การประชุมพักการลงโทษ จะมีการประชุมทุกเดือนโดยกรมราชทัณฑ์ จะทำบัญชีรายชื่อ เสนอมายังคณะกรรมการพิจารณา โดยจะแยกชัดเจนว่านักโทษรายใดพักโทษแบบปกติ รายใดเข้าหลักเกณฑ์ แต่ละเดือนก็จะผู้ต้องขังเข้าสู่กระบวนการพักโทษออกเรือนจำโดยเฉลี่ยแล้ว ทั่วประเทศจำนวนกว่า 200-300 ราย

ก่อนหน้านี้ เมื่อ 14 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้สั่งพักโทษกรณีพิเศษ ผู้ต้องขังรายสำคัญมาแล้วก่อนหน้านี้ คือ “กำนันเป๊าะ” หรือ นายสมชาย คุณปลื้ม อายุ80ปี อดีตนายกเทศมนตรีเมืองพัทยา ซึ่งใช้หลักเกณฑ์พักโทษกรณีพิเศษ เช่นเดียวกัน คือต้องโทษมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษครั้งหลังสุด โดย “กำนันเป๊าะ” มีอาการเจ็บป่วยร้ายแรง เป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้าย รวมทั้งเป็นผู้สูงอายุมีอายุเกิน 70 ปีขึ้นไป และไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์เดียวกัน

จากการตรวจสอบเกณฑ์การพักโทษกรณีพิเศษตามประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่องหลักเกณฑ์การคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดเข้าโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษเนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่70ปี ขึ้นไป พ.ศ.2560 พบสาระสำคัญดังนี้ นักโทษเด็ดขาดที่จะได้รับการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษเนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรงหรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่70ปีขึ้นไป

Advertisement

ต้องมีคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ทั่วไป อาทิ เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดีขึ้นไป ต้องโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า1ใน3ของกำหนดโทษครั้งหลังสุด หรือไม่น้อยกว่า10ปี ในกรณีโทษจำคุกตลอดชีวิตที่มีการเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุกมีกำหนดเวลา ไม่มีคดีอายัดหรือหมายจับหรือมีโทษกักขัง มีผู้อุปการะและยินดีรับอุปการะ กรณีที่นักโทษเด็ดขาดไม่มีผู้อุปการะให้เรือนจำประสานไป ยังสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลให้การช่วยเหลือระหว่างคุมประพฤติ

นักโทษเด็ดขาดที่จะได้รับการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากมีอาการเจ็บป่วยร้ายแรง ให้คณะกรรมการพักการลงโทษพิจารณาโดยคำนึงถึงอาการเจ็บป่วยร้ายแรง ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายขาดและอาการอยู่ในระยะอันตรายอาจถึงแก่ความตาย เช่น ไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็งระยะที่3 หรือระยะที่4 โรคเอดส์หรือภูมิคุ้มกันบกพร่องระยะมีโรคแทรกซ้อนแสดงอาการร้ายแรงอันอาจ เป็นอันตรายแก่ชีวิตหรือก่อให้กเกิดความพิการ เป็นต้น

การพิจารณาถึงความเจ็บป่วยตามวรรคหนึ่ง ให้นำหนังสือหรือมีเอกสารรับรองอาการเจ็บป่วยร้ายแรง ซึ่งแพทย์ของทางราชการ จำนวน 2 คน ได้ตรวจรับรองว่าไม่สามารถจะรักษาให้หายได้มาประกอบการพิจารณาพักการลงโทษ

นักโทษเด็ดขาดที่จะได้รับการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษเนื่องจากความพิการ ให้คณะกรรมการพักการลงโทษพิจารณาโดยคำนึงถึงความบกพร่องทางการเห็น ทางการเคลื่อนไหว ทางจิตใจหรือพฤติกรรม หรือทางสติปัญญา ซึ่งส่งผลทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เป็นภาระให้ผู้อื่นดูแลและเป็นความพิการที่ปรากฏขึ้นภายหลังการกระทำผิดในคดีที่ต้องโทษอยู่ในเรือนจำ โดยให้นำหนังสือหรือเอกสารรับรองความพิการจากแพทย์ของทางราชการจำนวน2คน ซึ่งได้ตรวจรับรองว่าเป็นคนพิการมีลักษณะอันเห็นได้ชัดอย่างหนึ่งอย่างใด

อาทิความพิการทางการเห็น หมายถึง ตาบอดทั้ง2ข้าง ความพิการทางการเคลื่อนไหว หมายถึง แขนขาดทั้ง2ข้าง ตั้งแต่ข้อมือขึ้นไป ขาดขาดทั้ง2ข้าง ตั้งแต่ข้อเท้าขึ้นไป หรืออัมพาตครึ่งท่อนล่างหรือครึ่งซีก หรืออัมพาตทั้งตัวทั้งแขนและขา

ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม หมายถึง มีอาการผิดปกติกลุ่มโรคสมองเสื่อม กลุ่มโรคที่มีอาการทางจิตผิดปกติจากสมองหรือโรคทางกาย กลุ่มโรคจิตเภท กลุ่มโรคผิดปกติทางอารมณ์และมีอาการทางจิต เมื่อได้รับการรักษาอย่างเต็มที่ยังมีอาการคงที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และมีพฤติกรรมรบกวนความสงบของผู้อื่น หรือยังคงอยู่ตามลำพังไม่ยุ่งกับใครและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

ความพิการทางสติปัญญา หมายถึง ไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นได้ หรือไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับบุคคลอื่นได้ และความพิการอื่นๆ เช่น พิการทางการหายใจ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image