บังคับคดีโชว์ 1 ปี ขายทรัพย์ทะลุเป้ากว่า 3หมื่นล. เล็งใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ 27 มี.ค

รื่นวดี สุวรรณมงคล

เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่ศูนย์บังคับคดีล้มละลายส่วนหน้า กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี พร้อมด้วยนางศศิวิมล ธนศาษกิ นางรัตนาวดี สมบูรณ์ และนายทรงธรรม พูนเกษมทรัพย์ รองอธิบดีกรมบังคับคดี ร่วมกันแถลงผลงานในรอบ 3 เดือนของไตรมาสแรก ระหว่างเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2558 ว่า กรมบังคับคดีสามารถผลักดันทรัพย์สินขายทอดตลาดได้สูงสุดในรอบ 5 ปี คือ กว่า 31,000 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ 19,800 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่กรมบังคับคดีสามารถขายทรัพย์ได้เพิ่มขึ้นนั้น เนื่องจากบางส่วนมาจากการเปิดขายทรัพย์ในช่วงวันเสาร์ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนที่สนใจเข้ามาซื้อทรัพย์มากขึ้น

น.ส.รื่นวดี กล่าวต่อว่า สำหรับปี 2558 มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูลทรัพย์เพิ่ม ร้อยละ 15 อย่างไรก็ตาม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขายทรัพย์ที่รอการขายให้มากขึ้น กรมบังคับคดีจะแยกประเภททรัพย์รอการขาย เพื่อตรวจสอบสภาพทรัพย์สิน ซึ่งการจำแนกทรัพย์ทำให้พบว่ามีทรัพย์เป็นทรัพย์นายประกันกว่า 8,000 ล้านบาท โดยเกือบทั้งหมดเป็นทรัพย์ที่ไม่มีสภาพคล่อง เช่น ที่ดิน ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ฯลฯ ซึ่งอยู่ระหว่างหารูปแบบในการจัดการทรัพย์ประเภทนี้ อย่างไรก็ตาม ตนได้สั่งการให้มีการตรวจสอบรายละเอียดเ่ยวกับคดีค้างเก่าในช่วง 10 ปี ซึ่งมีกว่า 13,000 เรื่อง โดยจะทำให้เราทราบถึงปัญหาที่ทำให้คดีค้าง

น.ส.รื่นวดี กล่าวอีกว่า สำหรับความร่วมมือบังคับโทษปรับคดียาเสพติดกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) นั้น ในไตรมาสแรกสามารถนำเงินส่งศาลได้กว่า 1 ล้านบาท ส่วนการไกล่เกลี่ยหนี้ที่กรมบังคับคดีร่วมมือสถาบันการเงินและหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการจัดการ เช่น หนี้ธุรกิขนาดกลางและขนาดย่อม หนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) และหนี้เกษตรกร ซึ่งปรากฏว่าสามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จรวมทั่วประเทศ 2,534 เรื่อง ทุนทรัพย์กว่า 760 ล้านบาท นอกจากนี้ เราอยู่ระหว่างเสนอปรับปรุงกฎหมายซึ่งต้องเร่งแก้ไขให้เข้ากับสภาพปัจจุบัน เช่น ร่างพ.ร.บ.ล้มละลาย ที่มีประเด็นการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ เอสเอ็มอี ที่มีเป้าหมายให้กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถขอทำแผนชำระหนี้ได้ อีกทั้ง เรายังเสนอแก้ไขกฎกระทรวงว่าด้วยการจดทะเบียนและการกำหนดคุณสมบัติผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ (ฉบับที่ 2)ด้วย

อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวด้วยว่า ในส่วนของที่กรมบังคับคดีจะมีการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ประชาชน ผู้มาติดต่อ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและรวดเร็วขึ้นนั้น เรากำหนดเริ่มต้นใช้งานระบบนำร่องการประมูลขายทอดตลาดทรัพย์ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่สำนักงานบังคับคดีแพ่งกรุงเทพฯ 1-6 สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่ จ.ขอนแก่น จ.นครราชสีมา และจ.สงขลา โดยดำเนินการติดตั้งเครื่องให้ผู้เข้าสู้ราคาที่สำนักงานบังคับคดีนำร่อง 4 แห่ง และจะจัดโอเพ่นเฮ้าส์ในก.พ.นี้ ก่อนจะเปิดใช้ระบบอย่างเป็นทางการในวันที่ 27 มี.ค.นี้ ต่อไป ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประเทศที่กรมบังคับคดีได้นำระบบนี้มาใช้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image