“บิ๊กต๊อก” มอบโล่-ประกาศนียบัตร “ขรก.ต้นแบบคนดีของแผ่นดิน ปี 58”

“บิ๊กต๊อก” มอบโล่-ประกาศนียบัตร “ขรก.ต้นแบบคนดีของแผ่นดิน ปี 58” ระบุ ขรก.สำคัญสุดในการแก้ปัญหาทุจริต เพราะเป็นคนถือกฎหมาย

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 11 พ.ค. ที่ห้องออดิทอเรียม โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลข้าราชการต้นแบบคนดีของแผ่นดิน ประจำปี 2558 ซึ่งเป็นการมอบโล่และประกาศนียบัตร 28 ราย จากผู้เสนอรายชื่อ 565 ราย โดยเน้นย้ำคนดีควรเชิดชู พร้อมปลูกฝังค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม และจิตสำนึกในการรักษาศักดิ์ศรีของความเป็นข้าราชการและความซื่อสัตย์สุจริต หนึ่งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ โดยมีนายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการ ศอตช. เป็นผู้ให้การต้อนรับ

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตคือบุคคลที่สำคัญที่สุดคือข้าราชการ เพราะเป็นคนที่ถือกฎระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งคำว่าทุจริตส่วนใหญ่ เราจะเน้นไปที่การใช้งบประมาณแผ่นดิน เพราะข้าราชการเป็นคนทำกฎเกณฑ์เหล่านี้อยู่แล้ว หรือการใช้การฉ้อราษฎร์บังหลวงในการใช้อำนาจตามกฎหมายไปเบียดบัง แม้ไม่ใช่การใช้งบประมาณก็ตาม อาจจะไปในรูปแบบของการใช้อำนาจ หลายๆองค์กรอย่างที่พวเราทราบกันที่เกี่ยวข้องกับภาษี หรือในโลกสีเทาก็ตาม ซึ่งเราก็พยายามสนับสนุนให้ข้าราชการเกิดความเข้าใจเพื่อกระตุ้น และป้องกันการแก้ไขในตัวข้าราชการเป็นหลัก

13214891_10208664212738409_1296142478_o

Advertisement

“ผมคิดว่าจะให้แก้ไขปัญหาให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ก็คงเป็นไปไม่ได้ แต่มันต้องไม่ใช่ปัญหาเรื้อรังของประเทศ จากการใช้แค่ 2 ปีของรัฐบาลคสช.ได้เข้ามา ผมคิดว่าจะเป็นกรอบแนวทางที่ดีได้และก็หวังว่ารัฐบาลเลือกตั้งใหม่ที่จะเข้าสานงานต่อ ก็จะทำให้การทุจริตที่มันหมักหมมมาหลายสิบปีมันได้ทุเราเบาบางลงไป ในระดับที่พึงพอใจ ซึ่งเราก็อยากให้มันสามารถแก้ปัญหานี้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่มันก็คงไม่มีประเทศไหนสามารถทำได้”

ด้าน นายประยงค์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่ดำเนินการค้นหาข้าราชการต้นแบบคนดีของแผ่นดิน โดยมีผู้เสนอชื่อเพื่อเข้ารับการคัดเลือก 565 ราย โดยได้รับความร่วมมือจากคณะกรรมการซึ่งมาจากองค์กรต่างๆ เช่น รศ.ดร.จุรี วิจิตรวาทกร เลขาธิการมูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใส, รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต, นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทั้งนี้ ผลการคัดเลือกบุคคลเพื่อขับรับรางวัลเังกล่าว คือ รางวัลชนะเลิศ 10 ราย และรางวัลชมเชย 18 ราย โดยแบ่งตามเขตพื้นที่ 1-9 และกรุงเทพฯ

นายประยงค์ กล่าวต่อว่า ซึ่งผู้ผ่านการคัดเลือกคือบุคคลที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ คือ 1.ยึดมั่นในความซื่อสัตย์ สุจริต ปฏิเสธการทุจริตคอรัปชั่น และต่อต้านการทุจริต 2.ไม่แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบโดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ 3.ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกล้าไม่กลัวต่ออิทธิพล ความไม่ถูกต้องตามกฎหมาย 4.เป็นผู้นำด้านคุณธรรม จริยธรรม เป็นแบบอย่างที่ดีในการทำงาน 5.ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเท เสียสละ ด้วยความรับผิดชอบ และ 6.การใช้ชีวิตอย่างพอเพียง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image