ราชทัณฑ์แจง ใส่กุญแจข้อเท้า ‘ฮาคีม’ ตามระเบียบ ผู้คุมพิจารณา’สุ่มเสี่ยงหลบหนี’

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงกรณีการตั้งข้อสังเกตและตำหนิการใส่ตรวน ระหว่างการคุมตัวนายฮาคีม อัล-อาไรบี อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน ไปขึ้นศาลขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนว่า เจ้าหน้าที่เรือนจำได้พิจารณาใส่กุญแจข้อเท้านายฮาคีม อัล-อาไรบี ระหว่างออกไปขึ้นศาล ซึ่งเป็นระเบียบขั้นตอนปกติที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์สามารถกระทำได้ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560 ซึ่งตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ในมาตรา 21 ได้ระบุว่า ห้ามใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องขัง แต่มียกเว้นหลายกรณี ทั้งนี้ในกรณีดังกล่าวเจ้าหน้าที่ได้ใช้ดุลพินิจเป็นไปตามระเบีบบกฎหมาย

ด้านนายกริช กระแสร์ทิพย์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร กล่าวกับมติชนออนไลน์ว่า เจ้าหน้าที่เรือนจำได้ดำเนินการตามขั้นตอนปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ การพิจารณาใส่เครื่องพันธนาการเป็นเรื่องที่ผู้ควบคุมเห็นแล้วว่าผู้ต้องขังเข้าข่ายสุ่มเสี่ยงหลบหนี เนื่องจากนายฮาคีมเป็นอดีตนักฟุตบอล เป็นผู้ต้องขังคดีที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องระหว่างประเทศ ผู้ควบคุมพิจารณาแล้ว จึงเห็นสมควรใส่กุญแจข้อเท้า ซึ่งเป็นเครื่องพันธนาการอย่างหนึ่งตามกฎหมาย ดังนั้นจึงเห็นว่าไม่ใช่เรื่องแปลกในการใช้เครื่องพันธนาการ สำหรับข้อยกเว้นที่ผู้คุมจะไม่ใส่เครื่องพันธนาการ ก็คือ ผู้ต้องขังหญิง ผู้ต้องขังชายสูงอายุ หรือผู้ต้องขังที่มีร่างกายพิการ

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นการละเมิดสิทธิผู้ต้องขัง นายกริชกล่าวว่า เรื่องละเมิดสิทธินั้นงานราชทัณฑ์เป็นงานสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็สุ่มเสี่ยงที่จะติดคุกเพราะทำผิดกฎหมายอาญาด้วยเช่นกัน หากผู้ต้องหลบหนีระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ถูกตั้งกรรมการสอบ อาจโดนข้อหาละเว้น หรือละเลย ประมาท ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทำอะไรจะพิจารณาจากกฎหมายที่อำนาจหน้าที่เป็นหลักและ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นหลักสากลที่หลายประเทศก็ใช้กัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560 มาตรา 21 ระบุว่า ห้ามใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องขัง เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้ (1) ผู้ต้องขังมีพฤติการณ์ที่จะทําอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายของตนเองหรือผู้อื่น (2) ผู้ต้องขังมีพฤติกรรมหรืออาการส่อว่าเป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตไม่สมประกอบ ซึ่งอาจจะทําอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายของตนเองหรือผู้อื่น (3) ผู้ต้องขังมีพฤติการณ์ที่น่าจะหลบหนีการควบคุม (4) เมื่อผู้ต้องขังถูกคุมตัวไปนอกเรือนจําและเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีหน้าที่ควบคุมเห็นเป็นการสมควรที่จะต้องใช้เครื่องพันธนาการ และ (5) เมื่ออธิบดีสั่งว่าเป็นการจําเป็นต้องใช้เครื่องพันธนาการ เนื่องจากสภาพของเรือนจํา สภาพของท้องถิ่น หรือเหตุจําเป็นอื่น

Advertisement

คลิกอ่าน พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image