สนช.ไฟเขียวแล้ว ‘ตำรวจศาล’ อารักขา ตามจับ พกอาวุธ โฆษกศาลฯเผยพร้อมจัดชุดแรก 40 อัตรา งบ 22 ล.

สุริยัณห์ หงษ์วิไล

ศาลยุติธรรมเตรียมพร้อม หลัง สนช.ไฟเขียวแล้ว ตั้งตำรวจศาล (court marshal ) ดูแลอารักขาเข้ม ผู้พิพากษา บุคลากร ความสงบเรียบร้อยอาคารสถานที่ศาล ไล่ล่าผู้ต้องหา จำเลย หลบหนีหมายจับ ขัดคำสั่ง ผิดเงื่อนไขศาล พกอาวุธประจำกายเหมือนตำรวจ ทหาร มีผลทันที 90 วันหลังประกาศราชกิจจาฯ จัดงบปีแรกกว่า 22 ล้านจัด 40 อัตรา

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า วันนี้ ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติผ่านความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ เจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ….แล้ว และเห็นสมควรให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งในขั้นตอนต่อไป สนช.จะส่งร่าง พ.ร.บ.ไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ สำหรับการดำเนินการจัดให้  เจ้าพนักงานตำรวจศาล ปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยและติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หลบหนีหมายจับด้วยว่า การเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว เป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานในกระบวนการยุติธรรม ทั้งในเรื่องที่อาจมีสถานการณ์อันอาจกระทบต่อการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาในการอำนวยความยุติธรรมและกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวในชั้นศาล กับหลบหนีคดีรวมทั้งกรณีที่มีผู้ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของศาลที่ถูกออกหมายจับแล้วแต่ยังไม่สามารถจับกุมได้ ซึ่งส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดีเกิดความล่าช้า โดยที่ผ่านมาในส่วนของสำนักงานศาลยุติธรรมก็มีเพียงสำนักงานรักษาความปลอดภัยที่มีการจัดกำลัง รปภ.ดูแลความปลอดภัยและความเรียบร้อยบริเวณศาลเท่านั้น ซึ่งการเสนอให้มีผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น “เจ้าพนักงานตำรวจศาล” ก็เป็นการยกระดับสำนักงานรักษาความปลอดภัย ที่ให้มีภารกิจเพิ่มขึ้นในการจัดสรรกำลังคนที่เรียกว่า “เจ้าพนักงานตำรวจศาล” โดยผู้นั้นต้องมีคุณสมบัติมีสัญชาติไทยโดยการเกิด มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี ไม่เป็นข้าราชการการเมือง เป็นต้นนั้น ซึ่งจะสนับสนุนต่อการพิจารณาพิพากษาคดีให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในส่วนของการติดตามจับกุมผู้หลบหนีหมายจับในชั้นศาล รวมทั้งการรักษาความ ความปลอดภัยให้แก่ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ผู้พิพากษา)

โฆษกศาลยุติธรรม ย้ำว่า มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีผู้ที่ทำหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตลอดจนรักษาความปลอดภัย ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถแจ้งพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจดำเนินการได้ทันท่วงที และเพื่อเป็นการป้องกันความเสียหาย หรือภยันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน คู่ความ หรือบุคลากรของศาลยุติธรรม และสำนักงานศาลยุติธรรมในบริเวณศาลและอาคารสถานที่ของสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม และทำให้การอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับการเตรียมความพร้อมภายในทั้งงบประมาณ อัตรากำลัง และครุภัณฑ์ที่จำเป็นนั้น สํานักงานศาลยุติธรรมมีความพร้อมและสามารถเริ่มดำเนินการได้ทันทีหลังจากมีการประกาศใช้เป็นกฎหมาย

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับงบประมาณที่เตรียมไว้สำหรับดำเนินการ ทั้งในส่วนของบุคลากร , คุรุภัณฑ์ และการบริหารจัดการ ในปีแรกจัดวงเงินไว้ 22.18 ล้านบาท โดยช่วง 3 ปีแรกตั้งเป้าจัดอัตรากำลังไว้ที่ 40 อัตรา จากนั้นก็จะขยายอัตรากำลังเพิ่มขึ้นจนสุดท้ายครบ 109 อัตราในปีที่ 5 ซึ่งงบประมาณทั้งหมดวงเงิน 316.98 ล้านบาท

ส่วนเนื้อหาในร่างกฎหมายดังกล่าว มีทั้งสิ้น 11 มาตรา

โดยสาระสำคัญที่น่าสนใจ การกำหนดอำนาจหน้าที่ “เจ้าพนักงานตำรวจศาล”
มีหลักการเเละเหตุผลเเละสาระสำคัญดังนี้

Advertisement
“เจ้าพนักงานตำรวจศาล” หมายความว่า บุคคลที่เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
แต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยมาตรา 4 ให้เลขาธิการสานักงานศาลยุติธรรมจัดให้มีเจ้าพนักงานตำรวจศาลในจำนวน ที่เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความมีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า และความไม่ซ้ำซ้อน
สำหรับมาตรา 5 ให้เจ้าพนักงานตำรวจศาลมีหน้าที่เเละอำนาจ ดังต่อไปนี้
(1) รักษาความสงบเรียบร้อยและรักษาความปลอดภัยบุคคลและทรัพย์สินในบริเวณศาล
(2) ป้องกันและปราบปรามการกระทาความผิดในบริเวณศาล
(3) รักษาความปลอดภัยและคุ้มครองข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พนักงานและลูกจ้างของศาลและสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่จะกระทำหรือได้กระทำการตามหน้าที่ รวมทั้งอาคารสถานที่ และทรัพย์สินของศาลและสำนักงานศาลยุติธรรม

(4 ) ปฏิบัติตามคำสั่งศาลในการแจ้งให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจับผู้ต้องหา หรือจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยศาลแล้วหนีหรือจะหลบหนี หรือถ้ามีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถ ขอความช่วยเหลือจากพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจได้ทันท่วงที ก็ให้มีอานาจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นได้ และเมื่อจับได้แล้ว ให้นำผู้ถูกจับไปยังศาลโดยเร็ว

(5) เมื่อศาลได้ออกหมายจับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งศาล ให้ศาลมีคำสั่ง ตั้งเจ้าพนักงานตำรวจศาลเป็นผู้จัดการตามหมายจับ และหากศาลเห็นสมควร ศาลอาจให้พนักงาน ฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้จัดการตามหมายจับด้วยโดยมีเจ้าพนักงานตำรวจศาลเป็นผู้สนับสนุนก็ได้

มาตรา 6 ผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานตารวจศาล ต้องมีคุณสมบัติและไม่มี ลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(2) มีอายุไม่ต่ากว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
(3) เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (4) ไม่เป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น
หรือผู้บริหารท้องถิ่น
(5) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งใด ๆ ในพรรคการเมือง
(6) มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามอื่นตามที่กำหนดในระเบียบคณะกรรมการ ข้าราชการศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม

ให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มี ลักษณะต้องห้ามตามวรรคหนึ่งและผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรที่คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมประกาศกำหนดเป็นเจ้าพนักงานตำรวจศาล

มาตรา 8 การใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ และเป็นเรื่องความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม

มาตรา 9 เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้สำนักงานศาลยุติธรรม ได้รับยกเว้นไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์เช่นเดียวกับราชการทหารและตำรวจ ตามกฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้ การมีและใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง สิ่งเทียมอาวุธปืน และยุทธภัณฑ์ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมตามกฎหมาย ว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมกำหนด

มาตรา 10ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เจ้าพนักงานตำรวจศาล เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และให้มีหน้าที่และอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกมาบังคับใช้โดยจากหลักการเเละเหตุผลที่ว่า มีสถานการณ์อันอาจกระทบต่อการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาในการอำนวยความยุติธรรม และมีกรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยศาลหลบหนี รวมทั้งมีผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียก หรือคำสั่งศาล ซึ่งถูกออกหมายจับแล้วแต่ยังไม่สามารถจับกุมได้ ทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีล่าช้า อาจทำให้ผู้กระทำความผิดไม่ได้รับการลงโทษ สถานการณ์ดังกล่าวเกิดจากการที่ไม่มีบุคลากรของศาล ที่มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในการรักษาความสงบเรียบร้อย รักษาความปลอดภัย ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม บุคลากร ทรัพย์สิน และอาคารสถานที่ของศาลยุติธรรม ตลอดจนอำนวยการสนับสนุนและเสริมสร้างประสิทธิภาพการจับกุมผู้ต้องหา จำเลย หรือบุคคลเหล่านั้น ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินคดีของศาลเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สมควรกำหนดให้มีเจ้าพนักงาน ตำรวจศาลทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย รักษาความปลอดภัยข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม บุคลากร ทรัพย์สิน และอาคารสถานที่ของศาลยุติธรรม และดำเนินการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจับกุม ผู้ต้องหาและจำเลยที่หลบหนีการปล่อยชั่วคราว หรือผู้ที่ศาลได้ออกหมายจับแล้ว จึงจำเป็นต้องตรา พระราชบัญญัตินี้ขึ้นมา

ติดตามดูรายละเอียดร่าง พ.ร.บ.เจ้าพนักงานตำรวจศาล” ได้ที่นี่ http://www.jla.coj.go.th/doc/data/jla/jla_1549594757.pdf

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image