อดีตผู้ต้องขัง จี้เลิกจำกัดสิทธิการเมือง ทนายวิญญัติร้องแก้มาตรา 98

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ องค์กร Fairly Tell จัดเสวนาสาธารณะ “10 ปีที่สูญหาย : การจำกัดสิทธิทางการเมืองของอดีตนักโทษ” โดยมีนายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนต์ไรต์วอทช์ ประจำประเทศไทย น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมทางการเมือง ร่วมงาน

นายมูฮัมหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ (อันวาร์) ตัวแทนอดีตผู้ต้องขังคดีการเมือง กล่าวว่า ได้รับอิสรภาพเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2560 ซึ่งกระแสการเลือกตั้งตอนนั้้นยังไม่บูมพอ ช่วงนั้นมีพรรคการเมืองหนึ่งลงมาในพื้นที่เพื่อจัดตั้งที่ทำการพรรคใหม่ ตนรู้ว่าไม่มีสิทธิเป็นสมาชิกพรรค หรือสร้างอำนาจต่อรองให้คนในพื้นที่ในการร่างนโยบายพรรคได้ ดังนั้น จึงกระโดดตัวเข้าไปช่วยดูปัญหาของจังหวัดปัตตานีและจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อนำข้อเสนอและปัญหาของ 3 จังหวัดให้พรรคดังกล่าวช่วยขับเคลื่อนในประเด็นนี้ แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้เอื้อให้มีบทบาทมากนัก เมื่อไม่ได้เป็นสมาชิก ไม่มีสิทธิเข้าร่วมประชุมสามัญ ดังนั้นจึงถอนตัวออกมา ไม่เข้าร่วมกับพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่หากใครอยากขอข้อมูลก็ยินดี

“อยากเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญ จากตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี ให้ลบออกไปเลย ไม่ต้องลดเหลือ 5 ปี 3 ปี มั่นใจว่าคงไม่ใช่นักโทษทุกคนที่ออกมาแล้วจะกระโดดลงสนามการเมือง รวมทั้งแก้กฎหมายลูกที่เกี่ยวโยงกับราชทัณฑ์หรือนักโทษ ต้องระบุให้ชัดว่านิยามของนักโทษคดีทางการเมืองหรือนักโทษทางความคิดเป็นอย่างไร”

นายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมาย เพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) กล่าวว่า พลเมืองทุกคนควรมีสิทธิเท่าเทียมกัน ดังนั้น ต้องย้อนกลับไปดูว่ารัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครองมากแค่ไหน ซึ่งรัฐธรรมนูญไทยตั้งแต่ปี 2475 ถึงปัจจุบัน ไม่มีฉบับไหนที่ให้สิทธิทางการเมืองกับผู้ต้องขัง โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 พูดถึงผู้ต้องขัง 2 สถานะ คือ 1.ผู้ที่ถูกคุมขังตามหมายศาล ซึ่งหมายรวมถึงการถูกคุมขังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี หรืออยู่ระหว่างศาลตัดสินไม่แล้วเสร็จ 2.นักโทษทางคดี ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 และ พ.ร.ป.ส.ส. ระบุชัดเจนว่า ผู้ต้องโทษในคดีจะถูกตัดสิทธิทันที หรือสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่ได้ ซึ่งคำว่า “ต้องโทษ” มิได้หมายถึงคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคดีอาญาด้วย นอกจากนี้ กฎหมายไทยไม่ได้ระบุอัตราโทษขั้นต่ำ ต่างกับประเทศอื่นๆ โดยไทยนั้น นอกจากตัดสิทธิแล้วก็ไม่กำหนดว่าอัตราโทษเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม เหตุที่ผู้ต้องขังหรือเคยถูกจำคุกมาก่อนต้องถูกตัดสิทธิทางการเมือง เนื่องจากการมองว่าคนเหล่านี้เป็นคนไม่ดี ผิดกฎเกณฑ์ของสังคม เมื่อบุคคลเหล่านั้นถูกตัดสิทธิทางการเมืองหมายความว่าวันที่ไปเลือกตั้งเขาก็ถูกตัดสิทธิด้วย

Advertisement

“ขอเสนอว่า 1.ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ใหม่ ในมาตรา 96-98 โดยเฉพาะมาตรา 98 ที่จำกัดสิทธิลงรับสมัครเลือกตั้ง แก้ให้ส่วนที่ความผิดเล็กน้อยที่มิใช่ความผิดเชิงปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยและไม่เกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้ง ไม่ควรห้าม รวมทั้งความผิดอื่นๆ ที่มีอัตราโทษเท่าใดก็ไม่ควรห้ามเช่นกัน 2.หากจะห้ามคนที่เคยถูกต้องขังหรือผู้ที่ถูกคุมขังอยู่ ควรระบุวิธีการให้ชัดว่า ฐานความผิดที่ไม่ใช่ความผิดเด็ดขาด หรือผู้อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีควรได้รับสิทธิ เนื่องจากเขาเหล่านี้ต้องได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ 3.ไม่ระบุคุณสมบัติของผู้ไม่ไปใช้สิทธิในวันเลือกตั้ง เนื่องจากกฎหมายกำหนดว่าในวันเลือกตั้ง หากไม่ไปใช้สิทธิ ไม่แจ้งเหตุ หรือเป็นบุคคลต้องห้ามเพราะถูกคุมขังอยู่ อย่านำมาระบุว่าเป็นลักษณะต้องห้ามหรือขาดคุณสมบัติ เพราะพวกเขาอาจถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง หรือมีเหตุผลส่วนตัวของแต่ละบุคคล อย่านำเรื่องนี้มาเป็นเกณฑ์ไว้ในกฎหมาย ทั้งนี้ เชื่อว่าเป็นไปได้ หากกลไกในการแก้รัฐธรรมนูญเปิดช่องให้สามารถทำได้ แม้กรรมาธิการร่างทำให้ยากและมาจากการยึดอำนาจ ดังนั้น หากอยากได้อำนาจคืน วันที่ 24 มีนาคมนี้ต้องไปใช้สิทธิให้เยอะ”

นางอังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาเรามีการวิวัฒนาการที่ดีขึ้นในเรื่องการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องขัง แต่ยังมีหลายสิ่งที่เป็นอุปสรรค โดยเฉพาะทัศนคติของรัฐ ยึดหลักการแค้นมากกว่ามุ่งหวังการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ปัจจุบันมีกฎหมายจำนวนมากที่ทำให้คนเข้าคุกได้ง่ายขึ้น อาทิ คำสั่ง คสช.ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพทางความคิดเห็น พร้อมมีโทษทางอาญา พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ซึ่งมีการลงโทษด้วยการจำคุก อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เฉพาะไทยประเทศเดียวที่จำกัดสิทธิทางการเลือกตั้งของผู้ต้องขัง หลายประเทศยังคงจำกัดสิทธิในการเลือกตั้งและการลงสมัครรับเลือกตั้งเช่นกัน หากไทยต้องการให้สิทธิแก่ผู้ต้องขังในการเลือกตั้ง ต้องยอมรับว่าหลายคน พอถูกจับ ญาติถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎร ตั้งข้อรังเกียจ นี่เป็นสิ่งที่เราต้องคุยกันมากขึ้น ทั้งนี้ ตนคิดว่าการตัดสิทธิทางการเมืองของผู้ต้องขังมาจากแนวคิดการป้องกันคนไม่ดีเข้ามาเกี่ยวข้องในการเมืองที่ฝ่ายร่างรัฐธรรมนูญ หรือฝ่ายที่กำหนดเชื่อว่าตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์ รวมทั้งอาจระแวงว่าคนเหล่านั้นจะกลับมามีอำนาจอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image