‘ศานิตย์’ย้ำฆ่าชายพิการ ไม่ใช่การไตร่ตรอง เป็นเหตุเฉพาะหน้า หลังรองปลัด ยธ.โพสต์เฟซเห็นแย้ง

พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น.

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 17 พฤษภาคม ที่ สน.วัดพระยาไกร พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รรท.ผบช.น. เปิดเผยถึงกรณีที่นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นคดีชายพิการถูกรุมทำร้ายว่า เข้าข่ายเป็นการฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองได้พร้อมยกฎีกามาเปรียบเทียบว่า กรณีดังกล่าวมีทั้งผู้รู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ไม่รู้กฎหมาย และมีผู้ที่รู้กฎหมายแต่ไม่รู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมด บางส่วนไม่รู้กฎหมายและไม่รู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเลย มีหลายคนแสดงความคิดเห็นโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่อยากจะพูดถึงเรื่องดังกล่าวแล้ว เนื่องจากตอบคำถามและชี้แจงเหตุผลว่าทำไมจึงไม่สามารถแจ้งข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนกับวัยรุ่นทั้ง 7 คนได้

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่รองปลัดกระทรวงยุติธรรมอ้างฎีกาและโพสต์ว่า “ดังนั้น แนวฎีกาจึงสำคัญ เพราะจะบอกเราว่า ศาลตีความกฎหมายไว้อย่างไร มาดูกันว่า กรณีนอกจากการวางแผนแล้วนั้น ศาลตีความเรื่องระยะเวลาอย่างไร คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 218/2527″…หลังจากทะเลาะกัน ผ่านไป 10 นาที จำเลยกลับมาใช้ปืนยิงผู้เสียหายถือว่าระยะเวลา 10 นาที เพียงพอที่จะทำให้จำเลยคิดและมีสติได้ จึงถือว่าเป็นการไตร่ตรอง…”คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 834/2520″…หลังจากทะเลาะกันผ่านไป 10 นาที จำเลยกลับมาพร้อมปืนมายิงผู้เสียหายถือว่าจำเลยมีโอกาสไตร่ตรองคิดทบทวนดีแล้ว ในช่วงเวลา 10 นาทีดังกล่าว จึงถือว่าไตร่ตรองไว้ก่อน…”คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 1248/2509″…จำเลยเกิดโทสะไปแล้ว ความคิดต่อจากนั้น จึงเป็นเรื่องของการคิดไตร่ตรองจะมาอ้างว่ายังมีโทสะอยู่ไม่ได้…”คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 2217/2556″…การที่มีเวลาคิดไตร่ตรอง ย่อมจะไม่ใช่เกิดเหตุปัจจุบันทันด่วน…” นั้น พล.ต.ท.ศานิตย์กล่าวว่า จากการสอบปากคำผู้ต้องหาพบว่ากรณีดังกล่าวต้องย้อนไปตั้งแต่ที่ฝ่ายผู้เสียชีวิตและผู้ต้องหาทะเลาะกันและมีการท้ากัน ก่อนจะจบและแยกย้ายกันไปแล้ว จากนั้นฝ่ายผู้ต้องหานั่งดื่มสุรากันต่อ ก่อนที่ 4 คนจะขึ้นห้องนอน ส่วนอีก 4 คน ขี่รถจักรยานยนต์ 2 คันกลับบ้าน เป็นทางบังคับว่าทางกลับบ้านต้องผ่านหน้าร้านของผู้เสียชีวิต โดยบังเอิญผู้เสียชีวิตยืนอยู่หน้าร้านพร้อมตะโกนด่าทอกัน ฝ่ายผู้ต้องหาบอกว่าขอโทษไปแล้วหลายครั้ง แต่ยังไม่จบ กระทั่งโต้เถียงหนักขึ้นจนนำไปสู่การเกิดเหตุดังกล่าว ก่อนจะโทรศัพท์เรียกเพื่อนมาช่วย ดังนั้น จึงไม่ถือว่าเป็นการไตร่ตรอง เพราะการต่อสู้ครั้งนี้ ไม่ใช่ว่าจู่ๆ ผู้ต้องหาบุกมาบ้านและมาทำร้ายผู้เสียชีวิต แต่เป็นเหตุการณ์ทะเลาะที่เกิดขึ้นใหม่อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าหากฝั่งผู้เสียชีวิตรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถให้ทนายความไปร้องต่อศาลได้โดยตรง หรือทางญาติผู้เสียชีวิตสามารถขอเป็นโจทก์ร่วมในชั้นศาลได้เช่นกัน ทั้งนี้ อาจจะต้องพิจารณาบุคคลที่มาโพสต์แสดงความคิดเห็นคดีดังกล่าว บางคนโพสต์แสดงความคิดเห็นโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงทั้งหมด จึงอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นเจ้าพนักงานหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image