ศาลรับไต่สวนมูลฟ้องขรก.ธกส.ถูกย้ายโดยมิชอบ หลังพบทุจริตจำนำข้าว

ศาลอุทธรณ์เเผนกคดีทุจริตฯสั่ง ศาลอาญาทุจริตฯ รับไต่สวนมูลฟ้องขรก.สาวธกส. ฟ้องผู้บังคับบัญชา ถูกโยกย้ายโดยมิชอบ หลังตรวจพบการทุจริตบัญชีโครงการรับจำนำข้าว เเละให้นัดไต่สวนมูลฟ้อง11 ก.ย.นี้เพื่อรับคดีไว้พิจารณาหรือไม่

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถนนนครไชยศรี ศาลนัดฟังคำพิพากษาในชั้น ตรวจฟ้องคดีหมายเลขดำที่ อท.416/2561 ในคดีที่น.ส.ชญาดา ตระกูลรุ่งโรจน์ พนักงานวิเคราะห์งานสินเชื่อ กลุ่มเพื่อการบริหาร สังกัดฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ ธกส. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ(ซึ่งเป็นผจก.ธกส. ในขณะนั้น) ,นายสมบูรณ์ ดาศรี ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนโยบายรัฐ ธกส.,นายโชค น้อยศิริ ผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ ธกส. ,นายสุรพงศ์ นิลพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธกส. ทั้งหมดเป็นตำเเหน่งขณะนั้น เป็นจำเลยที่ 1-4 เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ

โดยคำฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2559 จำเลยที่ 1-2 ร่วมกันมีคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายโจทก์โดยมิชอบ เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายกับโจทก์ โดยได้ร่วมกันมีคำสั่งย้ายโจทก์จากตำแหน่งพนักงานวิเคราะห์งานสินเชื่อระดับ 4 ฝ่ายกิจการนโยบายรัฐ ไปดำรงตำแหน่งพนักงานวิเคราะห์งานสินเชื่อระดับ 4 ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นการย้ายด้วยนอกวาระการโยกย้ายตามปกติ โดยจำเลยที่ 2 ได้ปกปิดรายละเอียดบันทึกลับถึงการโยกย้ายดังกล่าว เนื่องจากตำแหน่งเดิมมีหน้าที่รับผิดชอบตรวจสอบความถูกต้องของบัญชีการโอนเงินของธนาคารให้เกษตรกร และจัดทำบัญชีการโอนเงินในโครงการรับจำนำข้าวเพื่อแจ้งหนี้แก่ องค์การตลาดเพื่อการเกษตร(อตก.) และองค์การคลังสินค้า(อคส.) โดยธนาคารได้ดำเนินการรับจำนำข้าวและใบประทวนจากเกษตรกรในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล

ต่อมาปี 2558 รัฐบาลปัจจุบันได้ดำเนินคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต่อมาธนาคารได้รับหมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุจากศาล ซึ่งโจทก์ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบทำบัญชีโครงการรับจำนำข้าวของธนาคารในปี 2554-2557 เพื่อส่งศาลภายในวันที่ 15 ม.ค. 2559 ซึ่งโจทก์ได้ตรวจสอบบัญชีพบว่าโครงการรับจำนำข้าวที่ 1757 และ 1758 มีการแจ้งยอดหนี้ไปยัง อตก.และอคส. ผิดพลาด มีการโอนเงินให้เกษตรกรไม่ถูกต้องจำนวนหลาย เช่น มีการเพิ่ม-ลดยอดหนี้ที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นปัจจุบัน ทำให้ยอดหนี้ผิดพลาด มีการโอนเงินผิดคนหรือไม่มีใบประทวน มีการโอนเงินให้เกษตรกรตามใบประทวนใบเดียวซ้ำกัน 2 ครั้ง รวมถึงมีการโอนเงินไม่ตรงกับยอดเงินในใบประทวน ซึ่งโจทก์ตรวจสอบข้อมูลจนทราบว่าเกิดปัญหาดังกล่าวและมีการทุจริต โจทก์จึงแจ้งหัวหน้ากลุ่มงานและจำเลยที่ 2 ทราบเพื่อตรวจสอบและแก้ไข แต่หัวหน้ากลุ่มงานและจำเลยที่ 2 เพิกเฉย โจทก์จึงแจ้งให้ฝ่ายงานที่เกี่ยวข้องทราบแต่ผู้บังคับบัญชากับมีการเพิกเฉย ต่อมาจำเลยที่ 2 และผู้บังคับบัญชาฝ่ายต่างๆ มีคำสั่งและบังคับโจทก์มิให้ยุ่งเกี่ยว ตรวจสอบและเปิดเผยข้อเท็จจริง และมีคำสั่งให้โจทก์ร่วมกับธนาคารปกปิดเรื่องทุจริตที่เกิดขึ้น จำเลยที่ 2 ยังมีคำสั่งให้โจทก์ทำบัญชีโครงการรับจำนำข้าวให้แล้วเสร็จโดยไม่ต้องตรวจสอบความถูกต้อง แต่โจทก์ปฏิเสธทำตามคำสั่งของจำเลยที 2 และผู้บริหารฝ่ายงานต่างๆ เพราะเป็นความเสียหายของธนาคารและผลประโยชน์ของรัฐ และผิดข้อบังคับ ระเบียบไม่ชอบด้วยกิจการของธนาคารและกฎหมาย ทำให้จำเลยที่ 1-2 และผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องไม่พอใจ จึงมีคำสั่งย้ายโจทก์ไปทำงานส่วนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง และระงับการใช้รหัสประจำตัวของโจทก์ในการเข้าใช้งานระบบข้อมูลของธนาคารทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้โจทก์สืบค้นข้อมูลด้วยเจตนาปกปิดเรื่องดังกล่าวโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของธนาคารและประโยชน์ของรัฐ การที่จำเลยที่ 1-2 ร่วมกันมีคำสั่งด่วนย้ายโจทก์ไปเป็นพนักงานวิเคราะห์สินเชื่อระดับ 4 ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ มีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์ เป็นการแต่งตั้งตำแหน่งงานขึ้นมาลอยๆ ไม่เป็นไปตามอัตราที่คณะกรรมการได้กำหนดไว้ โดธนาคารไม่มีการมอบหมายงานให้แก่โจทก์และเป็นที่เข้าใจว่าเป็นการพักตำแหน่งเพื่อลงโทษโจทก์ มีผลเสมือนว่าธนาคารได้เลิกจ้างโจทก์โดยปริยาย ทำให้โจทก์ไม่มีโอกาสเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน โดยมีการกลั่นแกล้ง กดดัน เพื่อให้โจทก์ลาออก ด้วยการหาเหตุได้แก่ การมีคำสั่งให้โจทก์เข้าโครงการรักษาสุขภาพ และมีหนังสือเชิญโจทก์เกษียณอายุก่อนกำหนด และมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย พักตำแหน่งงานโจทก์โดยไม่มีเลื่อนระดับและเงินเดือน

Advertisement

และวันที่ 31 มี.ค.2560 จำเลยที่ 1 และ 3 ไม่ดำเนินการคืนตำแหน่งแก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 3 ได้มีหนังสือถึงโจทก์ให้รับการประเมินทางจิตเวช ร.พ.สมเด็จเจ้าพระยา โดยโจทก์ต้องเข้าร่วมโครงการเพราะต้องนำผลประเมินแพทย์มาใช้ประเมินผล เพื่อโจทก์จะได้ออกจากโครงการรักษาสุขภาพ ซึ่งวันที่ 9 ม.ค.60 ร.พ.สมเด็จเจ้าพระยา ได้แจ้งผลการประเมินสรุปว่าโจทก์มีภาวะเครียด วิตกกังวลจากการทำงาน และมีลักษณะบุคลิกภาพบางประการส่งผลต่อการแสดงออกด้านอารมณ์และพฤติกรรมในที่ทำงาน ซึ่งผลการประเมินทำให้โจทก์ไม่ต้องรักษาทางจิตเวชแต่อย่างใด และสามารถทำงานได้อย่างพนักงานปกติทั่วไป แต่จำเลยที่ 1 และ 3 เพิกเฉย เนื่องจากจำเลยทั้ง 4 เห็นว่าโจทก์รู้ข้อมูลการทุจริตและต้องการปกปิด จำเลยที่ 1 และ 3 จึงใช้เรื่องการคืนตำแหน่งมาต่อรองไม่ให้โจทก์ยุ่งเกี่ยว เปิดเผยข้อมูลโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเมื่อโจทก์ไม่ยินยอม จำเลยที่ 1 และ 3 จึงไม่รับพิจารณาคืนตำแหน่งให้โจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 และ 3 เป็นการกลั่นแกล้งกดดันให้โจทก์ลาออก

เมื่อวันที 4 พ.ค. 2560 จำเลยที่ 1 และ 4 ร่วมกันมีคำสั่งตั้งคระกรรมการสอบข้อเท็จจริง แต่เมื่อสอบสวนเสร็จกลับไม่มีการสรุปผลการสอบข้อเท็จจริงและกล่าวโทษทางวินัยแก่โจทก์จากกรณีว่ามีพฤติกรรมเผยแพร่ข้อความในลักษณะที่เกิดความเสียหายต่อหน่วยงานหรือบุคคลอื่นผ่านสื่อออนไลน์แต่อย่างใด ทั้งที่กรรมการได้สอบสวนและรายงานเรื่องนี้ให้จำเลยที่ 1 และ 4 ทราบแล้ว อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบของธนาคารและมีเจตนากลั่นแกล้ง เป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ เพราะทราบดีกว่าการปล่อยให้โจทก์อยู่ระหว่างสอบสวนวินัย โจทก์ไม่สามารถขอแต่งตั้งโยกย้ายหรือเลื่อนเงินเดือนได้ และจำเลยทั้ง 4 จะนำเรื่องดังกล่าวมาต่อรองกับโจทก์ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวเปิดเผยข้อมูลความไม่ถูกต้องของบัญชีรับจำนำข้าว และเพื่อบีบบังคับให้โจทก์ปกปิดการทุจริต กดดันเพื่อให้โจทก์ต้องลาออกและหาเหตุให้โจทก์ถูกให้ออกจากการเป็นพนักงานธนาคาร อันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เหตุเกิดที่แขวงเสนานิคม เขตจตุจักร กทม. จึงขอให้ศาลลงโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83,90,91

โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องในชั้นตรวจคำฟ้อง ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องโจทก์ไว้ไต่สวน

Advertisement

โดยศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วมีปัญหาต้อง วินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 4 ตามบรรยายฟ้องขอโจทก์มีมูลว่าครบองค์ประกอบ ความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องสรุปได้ว่าจำเลยทั้ง 4 ซึ่งเป็นพนักงานตาม พ.ร.บ. ธกส. พ.ศ.2509 จำเลยที่ 1-4 ร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน จำเลยทั้ง 4 ร่วมกันมีคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายโจทก์นอกวาระการโยกย้ายตามปกติ เนื่องจากโจทก์พบการทุจริตในโครงการและรายงานผู้บังคับบัญชาและจำเลยที่ 2 ทราบ แต่จำเลยที่ 2 ได้มีคำสั่งให้จัดทำบัญชีโครงการดังกล่าวให้เสร็จโดยไม่ต้องตรวจสอบความถูกต้อง เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามจึงถูกโยกย้ายไปฝ่ายทรัพยากรมนุษย์เพื่อส่งประเมินสุขภาพและการเจ็บป่วย ถือว่าเป็นการพักตำแหน่งงานโดยไม่มีการเลื่อนระดับและเงินเดือน อีกทั้งเมื่อโจทก์มีหนังสือขอย้ายกลับตำแหน่งเดิมเนื่องจากผ่านการประเมินทางจิตวิทยา แต่จำเลยที่ 1 และ 3 จะคืนตำแหน่งให้ก็ต่อเมื่อโจทก์รับว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวและเปิดเผยความไม่ถูกต้องของบัญชีโครงการรับจำนำข้าว เมื่อโจทก์ไม่ยอมก็ไม่ดำเนินการนำโจทก์กลับสู่ตำแหน่งเดิม และจำเลยที่ 1และ 4 ยังร่วมกันตั้งกรรมการสอบสวนวินัยโจทก์ แต่เมื่อเวลาล่วงเลยกว่า 180 วัน ตามระเบียบ ธกส. กลับไม่สรุปผลสอบข้อเท็จจริงกล่าวโทษทางวินัยแก่โจทก์ โดยมีเจตนาไม่ให้โจทก์ได้รับการโยกย้ายหรือเลื่อนเงินเดือน ซึ่งการกระทำของจำเลยทั้งหมดดังกล่าว เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83

ส่วนปัญหาว่าจำเลยทั้ง 4 มีเจตนาพิเศษกลั่นแกล้งให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่ เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องนำหลักฐานเข้าไต่สวน พิสูจน์ให้เห็นว่าคดีโจทก์มีมูลต่อไป นอกจากนี้ตามรายงานกระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นได้มีหนังสือเรียกเอกสาร 5 รายการไปยังธนาคารเพื่อประกอบการพิจารณาในชั้นตรวจฟ้องแต่ธนาคารยังไม่จัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อศาลแต่อย่างใด การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยไม่ได้พิจารณาเอกสารดังกล่าวจึงไม่ชอบ อย่างไรก็ดีในชั้นนี้เมื่อคำฟ้องโจทก์บรรยายถูกต้องครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายแล้วและเป็นคดีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะต้องไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อน ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 16(1)

ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในชั้นตรวจฟ้องโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อน ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์และมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี

ทั้งนี้เพื่อให้การไต่สวนมูลฟ้องเป็นไปโดยรวดเร็วเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงถูกต้อง ครบถ้วน จึงให้ คู่ความส่งพยานเอกสารและพยานวัตถุที่จะอ้างอิงต่อศาลให้เสร็จภายในนัดตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานโดยเจ้าพนักงานคดีแล้วเสนอคำถามที่ประสงค์จะให้ศาลถามพยานภายใน 15 วัน ก่อนวันไต่สวนมูลฟ้อง โดยให้นัดพร้อมเพื่อกำหนดประเด็นและพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 6 ส.ค.2562 เวลา 10.00 น. และให้นัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 11 ก.ย. 2562 ตั้งแต่เวลา 09.00-16.30 น.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image