ศาลอาญาทุจริตฯยกฟ้องอดีตผกก.ป.-อัจฉริยะ กับพวก ปฏิบัติหน้าที่มิชอบถูกกล่าวหาร่วมกันถอนเงินคุ้มครองสิทธิ

เมื่อเวลา 10.00น.วันที่ 27 มี.ค.ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซอยสีคาม ถนนนครไชยศรี ศาลนัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อท.(ผ) 23/2559 หมายเลขแดงที่ อท.(ผ) 146/2559 ที่ น.ส.รัฏฏิการ์ ชลวิริยะบุญ เจ้าของร้ายจำหน่ายโทรศัพท์มือถือย่านมาบุญครอง เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.อ.พงษ์ไสว แช่มลำเจียก อดีตผกก.สอบสวน บก.ป. ,พ.ต.ท.ชัยพร นิตยภัตร์ สว.สอบสวน กก.1 บก.ป. ,พ.ต.อ.ณษ เศวตเลข (ยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง) ,นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ,นายณัฐพสิษฐ์ ชาญจรูญจิต ,น.ส.วิภาณี ต๊ะมามูล น.ส.ธนสร แก้วเทพ เป็นจำเลยที่ 1-7 ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เเละร่วมกันสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

คำฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า คดีนี้โจทก์คือ น.ส.รัฏฏิการ์ เจ้าของกิจการร้านรับซื้อขายแลกเปลี่ยนและซ่อมแซมอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ ย่านมาบุญครอง ชื่อร้าน EST2001, ร้าน INSTALL และมีร้านของสามีชื่อร้าน 55 โฟน ส่วนจำเลยที่ 1-3 เป็นพนักงานสอบสวนสังกัดกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม จำเลยที่ 4 เป็นประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม จำเลยที่ 5-7 เป็นผู้สั่งซื้อโทรศัพท์มือถือเพื่อนำไปขายต่อ

คำฟ้องระบุว่า เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม 2556 ถึงมกราคม 2557 น.ส.บุศรินทร์ ยื่อโหนด และนายมนัส โชติขัน มาซื้อโทรศัพท์ที่ร้านของโจทก์ และร้านอื่นๆ ในย่านมาบุญครอง ในราคาท้องตลาดจำนวน 2,000 กว่าเครื่อง นำไปหลอกลวงผู้อื่นว่าจะขายในราคาต่ำกว่าทุน แต่เมื่อหลอกลวงได้จำนวนมากแล้ว (โดยได้หลอกลวงจำเลยที่ 5-7 ด้วย) ได้หลบหนีไป ต่อมา น.ส.บุศรินทร์ และนายมนัส ถูกจับ และถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกคนละ 20 ปี
พนักงานสอบสวนตรวจสอบบัญชีของ น.ส.บุศรินทร์ และนายมนัส พบการโอนเงินเข้าบัญชีของโจทก์และผู้อื่นอีก 20 กว่าราย แต่เลือกบัญชีของโจทก์เพียงบัญชีเดียว ว่าเป็นบัญชีที่รับโอนเงินที่ได้จากการฉ้อโกงประขาชน และแจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ให้อายัดเงินในบัญชีธนาคารกสิกรไทย สาขามาบุญครอง ชื่อบัญชีโจทก์ เลขที่บัญชี 7022883555 เลขที่บัญชี 7022484499 และบัญชีของโจทก์อีก 3 บัญชี ซึ่งโจทก์ได้โต้แย้งคัดค้านแล้ว

ต่อมา ปปง.มีหนังสือถึงโจทก์ ลงวันที่ 24 เม.ย. 2558 แจ้งมติคณะกรรมการธุรกรรม ปปง. เห็นชอบให้เลขาธิการ ปปง.ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนกองปราบปราม ดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย และให้ดำเนินการกับทรัพย์สิน ตาม พ.ร.บ.ปปง. 2542 มาตรา 49 วรรคหก และ ป.วิฯ อาญา มาตรา 85 หลังจากนั้น พนักงานสอบสวนได้ส่งมอบพยานหลักฐานเกี่ยวกับทรัพย์สินให้จำเลยที่ 5-7 ไปแจ้งความดำเนินคดีโจทก์ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน จึงถือว่าจำเลยทั้ง 7 ได้ร่วมกันกระทำความผิด แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย กลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับโทษ กล่าวหาว่า โจทก์ร่วมกับนางสาวบุศรินทร์ และ นายมนัส ฉ้อโกงประชาชน โดย น.ส.บุศรินทร์ และนายมนัส โอนเงินที่ได้จากการฉ้อโกงประชาชนให้โจทก์ ซึ่งเป็นความเท็จ เพราะความจริงโจทก์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการซื้อขายโทรศัพท์ระหว่างจำเลยที่ 5-7 กับ น.ส.บุศรินทร์ และนายมนัส ส่วนเงินที่โอนมาเป็นเงินค่าโทรศัพท์ ไม่ใช่เงินที่ได้จากการฉ้อโกงประชาชน
ต่อมาระหว่างเดือนกันยายน 2558 ถึงวันที่ 8ต.ค. 2558 จำเลยที่ 5 มีหนังสือถึงผู้บังคับการปราบปราม เร่งรัดให้ดำเนินการตามคำสั่งของคณะกรรมการธุรกรรม ปปง. โดยออกคำสั่งให้ธนาคารกสิกรไทย สาขามาบุญครอง อายัดบัญชีเลขที่ 7022883555 จำนวนเงิน 11,534,800.70 บาท และบัญชีเลขที่ 7022484499 จำนวนเงิน 94,550.79 บาท ผู้บังคับการปราบปรามจึงส่งให้จำเลยที่ 1-3 พิจารณาและออกคำสั่งไปยังธนาคารกสิกรไทย

Advertisement

ต่อมาวันที่ 8 ต.ค. 58จำเลยที่ 1-3 นัดจำเลยที่ 4 และ 5 มารับเงินทั้งสองจำนวนที่ธนาคารกสิกรไทย สาขามาบุญครอง และจำเลยที่ 1-3 ให้ธนาคารถอนเงินในบัญชีของโจทก์ จำนวนเงิน 11,534,800.70 บาท และจำนวนเงิน 94,550.79 บาท ส่งมอบให้จำเลยที่ 5 ในเวลา 18.18 น. การกระทำของจำเลยที่ 1-3 เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ และเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ทั้งยังเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับโทษหนักขึ้น ส่วนจำเลยที่ 4-7 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1-3 เพื่อเอาเงินของโจทก์ไปโดยมิชอบ จึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด

โดยคดีนี้ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งให้ประทับรับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และ 2 ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เฉพาะกรณีเกี่ยวกับจำนวนเงินที่คณะกรรมการ ปปง.มีมติให้คุ้มครองสิทธิผู้เสียหายกรณีนำเงินที่ได้จากการถอนเงินในบัญชีของโจทก์ในส่วนที่เป็นการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายและส่วนที่เกินอันเนื่องมาจากการแจ้งผิดหลงของคณะกรรมการ ปปง.มาแบ่งกัน และจำเลยที่ 4-7 ในข้อหาสนับสนุนจำเลยที่ 1-2 เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริต ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 5-7 ในข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเพื่อกลั่นแกล้งให้บุคคลอื่นต้องได้รับโทษทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172, 174, 200

โดยในวันนี้จำเลยทั้งหมดเดินทางมาศาล ส่วนโจทก์มีทนายรับทอบอำนาจเดินทางมา

Advertisement

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์เเล้วในขั้นตอนการเบิกเงินคุ้มครองสิทธิ จำเลยที่1-2ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามขอบเขตเเละระเบียบที่กฎหมายได้กำหนดไว้ โดยมีหลักฐานเป็นเอกสารการปรึกษาขั้นตอนการเบิกจ่ายเงินคุ้มครองดังกล่าวต่อคณะกรรมการ ปปง.เเละเอกสารตอบโต้กับธนาคาร เเละมีการดำเนินงานโดยเปิดเผย ส่วนประเด็นที่มีการกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1-2 รับส่วนเเบ่งเงินคุ้มครองสิทธิจากจำเลยที่ 5-6 ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีฉัอโกงที่มีการฟ้องโจทก์ โดยมีการกล่าวอ้างพยานโจทก์เป็นเทปบันทึกเสียงโทรศัพย์เเละข้อความในไลน์กับจำเลยที่6 เรื่องการกันเงินไว้ใช้เอง ศาลเห็นว่าพยานโจทก์ดังกล่าวไม่ใช่ผู้ที่รับรู้เหตุการณ์โดยตรงหรือประจักษ์พยานถือเป็นเพียงพยานบอกเล่าอีกทั้งเทปบันทึกเเละข้อความในไลน์ที่กล่าวอ้างเป็นพยานก็ไม่ได้มีการตรวจสอบเเละเซ็นรับรองจากผู้เชี่ยวชาญทางนิติวิทยาศาสตร์ จึงไม่ใช่พยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่1-2กระทำผิดตามฟ้อง เเละเมื่อฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่1-2มีความผิดตามวินิจฉัย จำเลยที่ 4-7จึงไม่อาจมีความผิดในฐานสนับสนุนได้ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นพิพากษายกฟ้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image