ศาลใช้ระบบอนุญาโตตุลาการออนไลน์ สาธิตระบบ 30พ.ค.นี้

นายพรภัทร ตันติกุลานันท์

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม นายพรภัทร ตันติกุลานันท์ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักผู้อำนวยการบริหารสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า งานอนุญาโตตุลาการคือ การที่คู่ความพิพาทสามารถยุติคดีด้วยการเลือกผู้เชี่ยวชาญมาตัดสินข้อพิพาทที่มีด้วยตนเอง เมื่อมีการตัดสินเป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแล้ว สามารถนำไปเสนอศาลเพื่อบังคับตามผลชี้ขาดได้ทั้งไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลก การสืบพยานของอนุญาโตฯ ก็ไม่เคร่งครัดเหมือนศาล 30 ปีที่ผ่านมา สถาบันอนุญาโตตุลาการได้บริหารจัดการข้อพิพาทเสร็จไปกว่า 2,000 เรื่อง รวมทุนทรัพย์กว่า 9 แสนล้านบาท เช่นคดีข้อพิพาทระหว่างบีอีเอ็มกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เรื่องการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษศรีรัช ข้อพิพาทระหว่างทรูกับทีโอที เรื่องผิดสัญญาการงาน และกรณีโฮปเวลล์ที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตฯ

“ปัญหาที่พบคือ การติดต่อระหว่างคู่พิพาทที่อยู่คนละประเทศ การรับส่งเอกสาร การจัดเก็บเอกสาร ทางสถาบันจึงนำระบบ e-Arbitration หรืออนุญาโตฯ อิเล็คทรอนิกส์แบบครบวงจร ที่สำนักงานศาลยุติธรรมใช้งบ 27 ล้านบาท พัฒนาแก้ไขข้อขัดข้อง ผลคือคู่พิพาทไม่ต้องเดินทางมาสถาบัน ซึ่งตั้งอยู่ที่อาคารศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ตั้งแต่ตั้งต้นจนจบ โดยการยื่นคำเสนอข้อพิพาท การยื่นคำคัดค้าน การสืบพยานทางออนไลน์ได้ทั้งในและต่างประเทศ จะช่วยลดเวลา ลดค่าใช้จ่ายสะดวก รวดเร็ว เป็นธรรม ทั้งนี้ จะมีการสาธิตระบบดังกล่าวที่โรงแรมเดอะสุโกศล วันที่ 30 พ.ค.นี้” นายพรภัทรกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image