24 พ.ค.ทดสอบระบบอายัดชำระภาษีใบสั่งค้างจ่าย แจงยังต่อภาษีให้แต่แจกป้ายกลมรายเดือนแทน

เริ่ม 1 ก.ค.ต่อภาษีรถต้องจ่ายค่าปรับใบสั่งก่อน ย้อนหลังไป 1 ปี เผย 1 ปีมีใบสั่ง 15 ล้าน แต่จ่ายแค่ 2 ล้านใบ

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บัญชาการ กองบัญชาการศึกษา (รอง ผบช.ศ.) ในฐานะคณะทำงานแก้ไขปัญหาจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กล่าวกรณีกรมการขนส่งและ ตร. เชื่อมระบบอายัดชำระภาษีประจำแบบชั่วคราว จะเปิดทดสอบระบบจริง ในวันที่ 24 พฤษภาคมนี้ พร้อมจัดแถลงข่าว ก่อนสรุปภาพรวมของระบบภายในสิ้นเดือน ถ้าทั้งหมดสมบูรณ์ดีก็จะจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์แจ้งประชาชนรับทราบ แต่หากพบข้อผิดพลาดประการใด ก็จะพิจารณาเลื่อนเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการวันที่ 1 กรกฎาคมออกไป ส่วนภาพรวมการทดลองใช้ในขณะนี้ ยังไม่มีปัญหาใดๆ ขอชี้แจงว่า ระบบดังกล่าวไม่ได้ระงับไม่ให้ต่อภาษีกรณีมีใบสั่งค้างชำระ ยังสามารถต่อภาษีและ พ.ร.บ.รถยนต์ได้ตามเดิม แต่จะได้รับป้ายกลมชั่วคราว 30 วัน หากไปชำระกับกรมการขนส่งจึงจะได้รับป้ายตามระยะเวลาที่เหลือ ไม่ครบ 12 เดือนเต็ม


“ใครที่ถูกใบสั่งตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2561ถ้ายังไม่ชำระก่อน มาต่อภาษีรถจะต่อไม่ได้ ต้องชำระใบสั่งให้เรียบร้อย โดยตอนแรกจะเป็นออฟไลน์ก่อน เมื่อไปขนส่งฯเพื่อชำระภาษีรถจะมีการต่อแอพพลิเคชั่นเชื่อมต่อกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อตรวจสอบชื่อว่ามีใบสั่งหรือไม่ ได้จ่ายค่าปรับแล้วหรือยัง แล้วจะได้รับใบเสร็จค่าปรับ สามารถชำระที่ขนส่งได้เลย แต่ถ้ายังไม่สะดวกจ่ายเลย ขนส่งจะออกใบป้ายวงกลมให้ก่อนอายุแค่ 1 เดือน เมื่อไปจ่ายแล้วมาติดขนส่งใหม่จะได้ป้ายวงกลมอายุที่เหลือ ไม่ครบ 12 เดือน”
พล.ต.ต.เอกรักษ์กล่าว

พล.ต.ต.เอกรักษ์กล่าวอีกว่า กรณีที่ผู้ขับขี่ไม่ได้กระทำผิดแล้วได้รับใบสั่ง สามารถปฏิเสธได้ ที่ขนส่งฯจะมีแบบฟอร์ม สามารถยื่นพร้อมหลักฐาน แต่ต้องภายใน 15 วันนับตั้งแต่มีใบสั่ง สำหรับยอดใบสั่งค้างชำระตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา มีประมาณ 5 ล้านใบ ขณะที่ยอดรวมนับแต่ปี 2561 มีทั้งหมดประมาณ 15 ล้านใบ มีคนมาจ่ายค่าปรับแค่ 2 ล้านใบ ทั้งนี้จะมีใบสั่งส่งผ่านทางไปรษณีย์ 11.2 ล้านใบ แต่ปรากฏว่านำมาจ่ายแค่ 1.2 ล้านใบ หายไป 10 ล้านใบ ซึ่งใบสั่งจะมีอายุความเพียง 1 ปี หากค้างชำระเกินกำหนดก็ต้องยกใบสั่งนั้นทิ้ง สำหรับเรื่องความโปร่งใสในการชำระค่าปรับ นอกจากจะจ่ายกับตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจยังโรงพักแล้ว ประชาชนยังสามารถชำระได้ผ่านเว็บไซต์ที่เราทำร่วมกับธนาคารกรุงไทย ซึ่งจะเร่งเปิดใช้งานก่อนวันที่ 1 กรกฎาคมนี้

Advertisement

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับส่วนแบ่งค่าปรับนั้น กรมการขนส่งจะได้รับ 5% จากสัดส่วนเดิม ส่วนแบ่งจะถูกแยกเป็น 50% แรก ส่งให้กรุงเทพมหานคร หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอีก 50% แบ่งให้กับตำรวจที่ออกใบสั่ง 25% ถือเป็นค่าเสี่ยงภัย จำกัดเดือนละสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท หากเกินจะถูกตัดเข้าคลัง และงานสนับสนุนจราจร 20% รายได้แผ่นดิน 5% ทั้งนี้ เป็นไปตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 141/1

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image