ศาลแพ่งเปิดนวัตกรรมพิจารณาคดีตามแนวทาง’ดี-คอร์ท’

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ที่ห้องประชุมใหญ่ชั้น 12 ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และนายโอภาส อนันตสมบูรณ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดนวัตกรรมการพิจารณาคดีในยุคดิจิตอล คอร์ท (Digital Court)การให้บริการยื่นคำฟ้อง การพิจารณาและพิพากษาคดีทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ในคดีผู้บริโภค และการสัมมนาเชิงปฏิบัติการโครงการส่งเสริมการประสานความร่วมมือด้านการยุติธรรมของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมของศาลแพ่ง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 โดยมีผู้แทนจากสำนักงานอัยการ, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กรมบังคับคดี, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน, สภาทนายความฯ, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย, สำนักงานเขต ตลอดจนทนายความจากสำนักงานต่างๆ จำนวน 233 คน เข้าร่วม

นายโอภาส กล่าวว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ศาลยุติธรรม พ.ศ.2561-2564 มุ่งเน้นการบูรณาการเครือข่ายด้านการยุติธรรมทั้งภายในและระหว่างประเทศ ตัวชี้วัดที่ 2 กิจกรรมภายใต้การประสานความร่วมมือด้านการยุติธรรมในประเทศที่นำไปใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ และแผนพัฒนาดิจิทัลศาลยุติธรรม พ.ศ.2562-2564 ยุทธศาสตร์ที่ 1 เรื่องการพัฒนาระบบงานสารสนเทศเพื่อยกระดับงานอำนวยความยุติธรรม ให้ศาลยุติธรรมมีระบบสารสนเทศที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานและให้บริการประชาชนอย่างรวดเร็ว ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย ตามเป้าหมายประจำปี พ.ศ.2562 Faster & Better Service ซึ่งการดำเนินการต่างๆ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นในกระบวนการยุติธรรม เพื่อขับเคลื่อนนโยบายและสร้างความร่วมมือด้านกระบวนการยุติธรรมในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ

อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง กล่าวต่อไปว่า จากการที่ศาลยุติธรรมวางเป้าหมายการพัฒนาให้เป็น D-Court (Digital Court) ในปี พ.ศ.2563 ศาลแพ่งได้ปรับตัวเพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นศาลยุติธรรมดิจิทัล โดยการเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนให้ได้รับความสะดวก ด้วยการนำเทคโนโลยีและการสื่อสารมาประยุกต์ใช้ในการสนับสนุนการทำงาน การพิจารณาและพิพากษาคดี เช่น การพัฒนาระบบโปรแกรม Mini e-court สำหรับคดีผู้บริโภค การยื่นคำร้องและไต่สวนคดีร้องขอจัดตั้งผู้จัดการมรดกทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นตัวอย่างของการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในยุคดิจิทัล ที่ทำให้ประชาชนได้รับบริการบนมาตรฐานสากล

“เพื่อให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนางานศาลแพ่ง และเข้าใจถึงปัญหาในทางปฏิบัติในการดำเนินงานระหว่างกัน การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการโครงการส่งเสริมการประสานความร่วมมือด้านการยุติธรรมของศาลแพ่งครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือด้านกระบวนการยุติธรรมในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ การมุ่งแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องที่เกิดขึ้น อันจะเป็นการพัฒนาเครือข่ายและระบบกระบวนการยุติธรรม” อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image