‘เรืองไกร’ ยื่น อสส.ส่ง 2 ปม ‘ถวายสัตย์ไม่ครบ’-‘ไม่แถลงที่มารายได้นโยบาย’ ให้ศาลรธน.ชี้

“เรืองไกร”ยื่น อสส.ส่ง 2 ปม ‘นายกฯถวายสัตย์ไม่ครบ’-ไม่แถลงตัวเลขเเหล่งที่มารายได้นโยบายต่อรัฐสภา’ ส่งศาล รธน.วินิจฉัยขัด รธน.หรือไม่ ตะเพิดให้ไขก๊อกพ้นตำแหน่ง โฆษกอัยการเร่งส่ง อสส.พิจารณา เเต่หาก 15 วัน ยังไม่สั่ง ยื่นฟ้องศาล รธน.เองได้เลย

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 7 สิงหาคม ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนแจ้งวัฒนะ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตทีมกฎหมายพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เดินทางมายื่นหนังสือถึง นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด เพื่อขอให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยกรณีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กระทำขัดรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้กล่าวถ้อยคำถวายสัตย์ปฏิญาณให้ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 161 และไม่ได้ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย ในวันที่มีการเเถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 162

โดยมี นาย ธรัมพ์ ชาลีจันทร์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เเละนายประยุทธ เพชรคุณ เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ

โดยนายเรืองไกรกล่าว ว่าเมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมากล่าวถ้อยคำถวายสัตย์ของพลเอกประยุทธ์ต่อพระมหากษัตริย์นั้น ได้ปฏิบัติไม่เหมือนกับครั้งก่อนๆ คือกล่าวคำปฏิญาณตกไปในท่อนสุดท้าย แถมยังกล่าวคำว่า “ตลอดไป” เติมเข้ามาอีกซึ่งการอภิปรายในสภาก็กำลังจะมีการตั้งกระทู้สดในเรื่องนี้บางคนที่ได้รับทราบเรื่องนี้ก็มีการไปร้องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินแต่จากที่ตนได้ดูข้อกฎหมายและจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาเห็นว่าเรื่องนี้จะต้องมาร้องที่อัยการสูงสุดเนื่องจากเห็นว่าการกระทำดังกล่าวขัดมาตรา 5 และไม่เป็นไปตามมาตรา 3 วรรคสอง ก็เท่ากับว่าการกระทำดังกล่าวใช้บังคับไม่ได้ อย่างที่ชาวบ้านเรียกกันว่าเป็นโมฆะ

Advertisement

และประเด็นที่ 2 คือเมื่อขณะเข้ารับหน้าที่แล้วจะต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามมาตรา 162 เนื่องจากนโยบายจะต้องสอดคล้องกับหน้าที่แห่งรัฐ พร้อมต้องแสดงที่มาที่จะนำใช้จ่าย ต่อนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภามาแต่ก็เกิดปัญหาว่าคำแถลงนโยบาย 37 หน้า ไม่มีตัวเลขงบ ก็เท่ากับว่าการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภามาน่าจะเป็นโมฆะเช่นเดียวกัน ซึ่งการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอาจจะโดนดำเนินคดีอาญาได้ด้วยซึ่งตนก็ได้ไปยื่นคำร้องที่ ป.ป.ช.มาแล้ว

จึงมายื่นคำร้องขอให้อัยการสูงสุดพิจารณาส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าการกระทำดังกล่าวใช้บังคับไม่ได้ ตามมาตรา 89 ที่บัญญัติไว้ว่าผู้ใดทราบการกระทำที่จะเป็นการล้มล้างการปกครอง และต้องนำเอาประเพณีตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 มาใช้ด้วยจากเหตุที่ได้มาโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย ในเรื่องมาตราดังกล่าวจะเห็นได้จากที่พรรคของตนได้ถูกยุบตามมาตรา 92 เพราะจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเป็นปฏิปักษ์การได้อำนาจตรงนี้เป็นเหตุผลว่าทำไมถึงยังต้องไปยึดโยงรัฐธรรมนูญ 2550 ในวันนี้ตนนั้นได้นำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีสนธิสัญญาไทยกัมพูชาที่ศาลแล้วธรรมนูญเคยวินิจฉัยการกระทำของ นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศว่ามีการกระทำที่ไม่ชอบเพราะไม่ได้ขอความเห็นชอบจากรัฐสภา และเท่าที่ทราบการปฏิบัติหน้าที่ของพลเอกประยุทธ์ในครั้งนี้ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าเกิดจากข้อผิดพลาดจริงๆ เราจึงต้องมาหาทางออกร่วมกันว่าถ้าหากมีการบริหารราชการแผ่นดินในการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฏหมายแล้วถัดจากนี้การประชุมหรือการใช้จ่ายงบประมาณและพันธกรณีกับต่างประเทศมันจะสมบูรณ์หรือไม่

“จึงเห็นควรเสนอว่าในเมื่อมันเกิดการกระทำที่ไม่ชอบแล้วพลเอกประยุทธ์ ควรจะพิจารณาตัวเองด้วยการลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วเริ่มกระบวนการขึ้นมาใหม่เเล้วเลือกผู้ที่ควรเป็นนายกรัฐมนตรี และถ้าพลเอกประยุทธ์ยังได้มติจากที่ประชุมรัฐสภาเข้ามารับตำแหน่งและนำคณะรัฐมนตรีขอเข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณให้ครบถ้วนและทำคำแถลงนโยบายใหม่อันนี้ถือว่าเหมาะสมที่สุด ประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์ก็จะยุติแต่ในส่วนกรณีที่ตนได้ยื่นร้องอัยการสูงสุดวันนี้ก็จะยังทำคู่ขนานกันต่อไป” นายเรืองไกรกล่าว

Advertisement

เมื่อถามว่า กรณีนี้มีการไปร้องในช่องทางอื่นควบคู่ไปด้วย นายเรืองไกรกล่าวว่า การที่มีคนไปร้องผู้ตรวจการตาม รธน.มาตรา 231 ซึ่งผู้ร้องคนเดียวกันนั้นเคยร้องเรื่องนายกฯเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ ซึ่งตอนนั้นผู้จัดการก็ได้ตีความบอกว่าไม่ใช่เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐและภายหลัง กกต.ก็เอามาอ้างผมจึงเห็นว่าช่องนี้ไปไม่ได้ เเต่ของตนมี 2 ประเด็นคือมาตรา 161 และ 162 และธรรมนูญมาตรา 231 (1)ได้บัญญัติไว้ว่าถ้าเป็นบทบัญญัติที่ขัดแล้วธรรมนูญก็จะต้องไปศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนกฎหมายศาลปกครองจะไม่รับกรณีที่เป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุผลที่ตนต้องมาสำนักงานอัยการสูงสุดไม่ไปร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงหรือร้องผ่านสภาผู้แทนราษฎรหรือช่องอื่นที่คนอื่นร้อง

“ในเรื่องความเสียหายเหตุการณ์มันชัดเจนแล้วเหมือนที่นายกรัฐมนตรีไปพูดที่โรงเรียนนายร้อยแล้วก็มาพูดที่ ครม.มันชัดเจนมากว่าปัญหานี้นายกฯขอแก้ไขเองนี่คือเหตุผลที่ผมขอเสนอให้ท่านลาออกเพราะถ้าหากรอให้เปิดอภิปรายมันก็จะยิ่งต้องมีการนำข้อมูลเพราะถ้าเราย้อนไปดูการเข้าเฝ้าฯจะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแทบทั้งสิ้น” นายเรืองไกรกล่าว

ขณะที่นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 2 ซึ่งเป็นช่องทางที่อัยการสูงสุดจะพิจารณาว่าจะสามารถยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ โดยหากภายใน 15 วัน อัยการสูงสุดยังไม่ได้ให้คำตอบ หรือดำเนินการใดๆ แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องนั้นสามารถไปยื่นตรงได้ต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ตนจะรับเรื่องนำเรียนอัยการสูงสุดต่อไป ซึ่งในประเด็นนี้ทางอัยการมีคณะทำงานเฉพาะ เนื่องจากมีผู้ร้องหลายคนที่ร้อง มีหลายคำร้องลักษณะคล้ายกัน รวมถึงที่พรรคอนาคตใหม่ได้มายื่นก่อนหน้านี้ เรื่องนี้ก็ให้คณะทำงานไปดำเนินการก่อนเสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม เมื่ออัยการสูงสุดพิจารณาแล้ว ก็จะแจ้งผลให้ผู้ร้องทราบ เพราะผู้ร้องอาจใช้สิทธิร้องเอง ซึ่งยืนยันว่าจะเร่งพิจารณาโดยเร็ว เนื่องจากมีเรื่องพิจารณาหลายเรื่อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image