ยูเอ็นกังวล ‘กัญชาเสรี’ หวั่นไทยเดินนโยบายผิด เจอมาตรการแซงก์ชั่น

ยูเอ็นกังวล”กัญชาเสรี “หวั่นไทยเดินนโยบายผิด เจอมาตรการแซงก์ชั่น ปธ.ควบคุมสารเสพติด เผยขั้นตอนสากลใช้กัญชาการแพทย์ ชี้ไม่ได้ห้าม รัฐต้องคุมให้ได้

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม นายวิโรจน์ สุ่มใหญ่ ประธานคณะกรรมการควบคุมสารเสพติดระหว่างประเทศ (INCB) กล่าวถึงข้อกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องกัญชาและการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์ว่า สัญญาว่าด้วยยาเสพติด 1961 ระหว่างรัฐภาคีถือเป็นฉันทามติร่วมกัน การเอากฎหมายในประเทศไปตีความกฎหมายระหว่างประเทศจะทำให้เกิดปัญหาข้อขัดแย้งทางกฎหมาย หากมีการขึ้นศาลกฎหมายที่เป็น International Law ก็จะอยู่เหนือ National Law อยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อประเทศใดเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาฯก็จะต้องเคารพข้อตกลงตามกฎหมาย หากละเมิดข้อตกลงตามกฎหมายก็จะถูกตักเตือนหรือขึ้นบัญชี และการฝ่าฝืนข้อตกลงระหว่างประเทศจะทำให้ไม่สามารถนำเข้ายาที่อยู่ภายใต้อนุสัญญาฯซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสหประชาชาติได้ติดตามสถานการณ์กัญชาในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทยมีการใช้วาทกรรมปลูกกัญชาเสรีจึงรู้สึกกังวลและเป็นห่วง เพราะหากเดินนโยบายผิดจะเกิดปัญหาตามมามากมาย

“อนุสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลบังคับใช้ไม่ได้มีฉบับเดียว แต่ยังมีอนุสัญญาอีก 2 ฉบับคือ อนุสัญญา 1971 ว่าด้วยสารสังเคราะห์ที่ออกฤทธิ์เหมือนกัญชา การจัดระเบียบและอนุสัญญา 1988 ว่าด้วยเรื่อง การป้องกันการลักลอบค้ายาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ ดังนั้นการจะออกนโยบายใดๆของรัฐจะต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดและรัดกุมให้เป็นไปตามนิยามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย” นายวิโรจน์ กล่าว

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า ทุกประเทศที่เข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาจะมีพันธกรณีผูกพันตามกฎหมาย ทุกประเทศในกลุ่มรัฐภาคีจะต้องให้ความร่วมมือระหว่างกัน ยาต่างๆที่อยู่ภายใต้สนธิสัญญาจะนำเข้าหรือผลิตขึ้นมาใช้ในรัฐบาลของประเทศในทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์เท่านั้น จะผลิตหรือแจกเพื่อสู้กับแก๊งค้ายาเสพติดไม่ได้จะถือว่าอยู่นอกเหนือกรอบของสนธิสัญญา ส่วนการควบคุมการปลูกตามสนธิสัญญา Single Convention on Nacrotic Drug 1961 ระบุว่า ถ้ารัฐภาคีฯอนุญาตให้ปลูกจะต้องระบุชัด ภูมิภาค จำนวนพื้นที่ที่ปลูกและจำนวนต้นที่ปลูก จะสกัดยางกัญชาได้เท่าไหร่ ปลูกเพื่อทำยา สารสกัด หรือปลูกเพื่อการอุตสาหกรรมซึ่งรัฐบาลจะต้องหาทางป้องกันไม่ให้มีการลักลอบนำใบกัญชาออกไปใช้ภายนอก โดยผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจะต้องส่งมอบผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ทั้งหมดและมีสิทธิขาดในผลผลิตของยางกัญชาที่จะนำไปสกัดเป็นยา ขณะเดียวกันรัฐจะต้องประเมินจำนวนผู้ป่วย ปริมาณและความจำเป็นในการกัญชาทางการแพทย์ และความต้องการใช้ยาของประเทศต่อยูเอ็นต้องส่งรายงานให้ INCB รับทราบทุกปี รวมทั้งรายงานข้อมูลการนำเข้า การคงเหลือของยากัญชาในสถานประกอบการโดยมีการเก็บข้อมูลอย่างน้อย3 ปี

Advertisement

“การผลิตยาตำรับยาไทยก็ต้องประมาณการปริมาณของกัญชาที่จะนำไปใช้ในการผลิตยาแพทย์แผนไทยด้วย เพราะในไทยมียาเสพติดประเภท 3 ที่ขึ้นทะเบียนกับ อย.เพื่อนำมาใช้รักษาโรคอยู่แล้ว เช่น ยาแก้ไอน้ำดำ ที่มีส่วนผสมของ ทิงเจอร์ ฝิ่น การบูนหรือยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ที่ขึ้นทะเบียนยาตำรับหลวง หรือการผลิตยาแผนไทย 16 ตำรับ ภายใน 1 ปีจะผลิตเท่าไหร่ ใช้สารสกัดจากกัญชาจำนวนเท่าไหร่ก็ต้องรายงานด้วย”ประธานฯควบคุมสารเสพติด กล่าว

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้สนธิสัญญายังกำหนดใหรัฐภาคีออกใบอนุญาติควบคุมการผลิตยากัญชาซึ่งรํฐจะต้องควบคุมยาที่ผลิตให้มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพที่จะใช้กับผู้คนในรัฐภายใต้การควบคุมของแพทย์ มีระบบการขึ้นทะเบียนยา โดยเอาผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ส่วนการสูบกัญชาไม่ใช่การใช้ยาทางการแพทย์ ไม่ควรยึดแบบเดิมโดยอ้างว่าสูบเพื่อการรักษาโรค แก้ไซนัส ด้วยการสูบเป็นบ้อง เพราะตามอนุสัญญาว่าด้วยพืชเสพติดไม่ได้ห้ามไม่ให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์หรือวิจัยทางวิทยาศาสตร์ แต่การผลิต การใช้จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image