“โฆษกศาลปค.”แจงยิบ จุดต่างคดี”ค่าโง่ทางด่วน-คลองด่าน”

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 6 มิถุนายน ที่ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ นายสมชาย งามวงศ์ชน ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด ในฐานะโฆษกศาลปกครอง นายประวิตร บุญเทียม ตุลาการศาลปกครองสูงสุด รองโฆษกศาลปกครอง และน.ส.สายทิพย์ สุคติพันธ์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นต้นประจำศาลปกครองสูงสุด รองโฆษกศาลปกครอง กล่าวชี้แจง การยื่นขอพิจารณาคดีคลองด่านใหม่ ระหว่างการแนะนำตัวต่อสื่อมวลชนหลังได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่คณะโฆษกศาลปกครอง

นายสมชาย กล่าวถึงกรณีมีการเปรียบเทียบ การวินิจฉัยคำชี้ขาดคณะอนุญาโตตุลาการ คดีค่าโง่ทางด่วนบางนา กับคดีคลองด่าน ว่า ที่มองกันว่าทั้ง2เรื่องเกี่ยวกับคดีโครงการก่อสร้าง และมีการทุจริต มีการฟ้องคดีสู่ศาล แต่ทำไมคดีคลองด่านศาลปกครองจึงตัดสินให้รัฐเสียเปรียบชำระเงินตามคำวินิจฉัยของอนุญาโตฯ แต่คดีก่อสร้างทางด่วนนั้นในอดีตศาลฎีกาตัดสินว่าไม่ต้องจ่าย ถ้าไม่ได้ดูรายละเอียดในสำนวนอาจเข้าใจกันแบบนั้น แต่จริงๆแล้วคดีทั้งสองแม้จะประเภทเดียวกัน แต่คดีทางด่วนที่ศาลฎีกาวินิจฉัยนั้นมีการฟ้องว่า คำวินิจฉัยของอนุญาโตฯไม่ชอบ สัญญาเป็นโมฆะ มีการตั้งเรื่องว่าที่เป็นโมฆะเพราะ2ประเด็น คือผู้ว่าการทางพิเศษทุจริต กับอนุญาโตฯที่วินิจฉัยนั้นมีส่วนได้เสียมีผลประโยชน์ทับซ้อน เมื่อข้อเท็จจริงชัดทั้ง 2 ประเด็น จึงฟังได้ว่าคำวินิจฉัยของอนุญาโตฯ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยตามหลักกฎหมาย

นายสมชาย กล่าวต่อว่า ส่วนคดีคลองด่านที่ฟ้องกันในศาลปกครอง ตั้งประเด็นฟ้องว่า สัญญาเป็นโมฆะ จาก2ประเด็น เพราะสำคัญผิดในตัวบุคคลคู่กรณี โดยอ้างว่าก่อนทำสัญญา บริษัทที่ร่วมทุนในสัญญาก่อสร้าง คือ บริษัทนอร์ธ เวสต์ วอเตอร์ ฯ เป็นผู้เชี่ยวชาญการจัดการจะร่วมทุนด้วย แต่เมื่อจะเซ็นสัญญา บริษัทแม่ของนอร์ธ เวสต์ ฯ กลับถอนใบมอบอำนาจไม่เข้าร่วมด้วย กรมควบคุมมลพิษไม่ทราบมาก่อนจึงเป็นการทำสัญญาจากการเข้าใจผิดข้อเท็จจริงนี้ อีกประเด็นคือ สำคัญผิดทรัพย์สินคือที่ดินที่นำมาก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย ที่ภายหลังมีการฟ้องร้องกันว่าเอาที่ดินออกโฉนดไม่ได้มาขายให้

นายสมชาย กล่าวอีกว่า หลักในการตั้งประเด็นทั้ง2คดีจึงแตกต่างกัน ขณะที่ชั้นอนุญาตโตฯ วินิจฉัยคดีคลองด่านว่า ไม่ได้สำคัญผิดในตัวบริษัทที่มาร่วมทุน เพราะหลังจากทำสัญญาได้แจ้งกรมควบคุมมลพิษว่าขอเปลี่ยนตัวผู้ร่วมทุน เป็นบริษัทในไทยแทน แล้วกรมควบคุมมลพิษโดยอธิบดีขณะนั้นยินยอม ดังนั้นจึงไม่สำคัญผิด หรือหากสำคัญผิดจะเป็นการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อที่จะนำมาอ้างไม่ได้ ส่วนเรื่องที่ดินนั้นที่เรื่องนายวัฒนา อัศวเหม กว้านซื้อมาแล้วนำมาขายให้บริษัทเสนอกรมควบคุมมลพิษใช้ก่อสร้างโครงการ ขณะที่ยังไม่สามารถยืนยันได้ชัดว่าบริษัทนั้นจะรู้หรือไม่ว่าที่ดินได้มาโดยมิชอบ โดยกรมควบคุมมลพิษได้ไปตรวจดูที่ดินก่อนและเห็นว่าเหมาะสมจะทำโครงการ จึงไม่อาจฟังได้ว่าสำคัญผิด อนุญาโตฯ เห็นว่า เมื่อเอกชนดำเนินถูกต้องแล้วจึงให้รัฐต้องชดใช้จ่ายตามสัญญา จึงเห็นได้ว่าที่มาของเหตุอ้าง 2 เรื่องคนละอย่างกัน ดังนั้นคำวินิจฉัยจึงแตกต่างกัน

Advertisement

ส่วนกรณีที่นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอดีตข้ราชการ กรมควบคุมมลพิษ รวม 7 ราย ยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่ข้อพิพาทโครงการก่อสร้างคลองด่าน ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 โดยอ้างมีข้อเท็จจริงใหม่ปรากฏในคดีอาญาที่ศาลตัดสินจำคุก 20 ปี อดีตอธิบดี – อดีตรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และ ผอ.กองจัดการคุณภาพน้ำ ปฏิบัติหน้าที่มิชอบเอื้อประโยชน์เอกชนนั้น

นายประวิตร กล่าวว่า กลุ่มนายประพัฒน์ ใช้สิทธิ์ยื่นตาม มาตรา 75 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลฯ อ้างว่ามีส่วนได้เสียจากการที่ต้องถูกสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับกรมควบคุมมลพิษนั้น ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไปแล้วเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา ไม่รับคำร้อง แม้ศาลจะไม่รับคำร้องขอพิจารณาใหม่ในส่วนของนายประพัฒน์ แต่ไม่ต้องห้ามที่บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือคู่กรณีเดิมในคดีจะมายื่นคำร้องพิจารณาคดีใหม่ได้อีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image