ยกฟ้องคดีชาวบ้านสุวรรณภูมิ ฟ้องท่าอากาศยานไทย ขอจำกัดผู้โดยสาร45ล้านคนต่อปี

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่ศาลปกครองกลาง โดยนายสัมฤทธิ์ อ่อนคำ ตุลาการเจ้าของสำนวนพิพากษายกฟ้องคดีที่ นายประสิทธิ์ ดำรงค์ศิริวัฒน์ กับพวกรวม45 ราย เป็นผู้ฟ้องคดี กับบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) ผู้ถูกฟ้องคดี เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ โดยผู้ฟ้องคดีขอให้หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องออกมาตรการที่เป็นรูปธรรมชัดเจนในการจำกัดจำนวนผู้โดยสารที่เข้ามาใช้สนามบินสุวรรณภูมิไว้ไม่เกิน 45 ล้านคนต่อปีภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งหากฝ่าฝืนให้ศาลมีคำสั่งปรับเงิน10เท่าของอัตราค่าบริการที่ผู้ถูกฟ้องคดีเรียกเก็บการใช้สนามบินของสายการบินเป็นของแต่ละเที่ยวบิน ตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืน โดยนำเงินตั้งเป็นกองทุนฟื้นฟูและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการฝ่าฝืนของผู้ถูกฟ้องคดีโดยการบริหารกองทุนโดยองค์กรอิสระที่เป็นกลางและตัวแทนผู้ฟ้องคดี และให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระค่าเสียหายทางละเมิดหรือค่าเสียหายอื่นแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหมดเป็นเงินรายละ 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ7.5ต่อปี นับแต่วันที่ฟ้องคดีจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น

โดยผู้ฟ้องคดีทั้งหมดมีบ้านที่พักอยู่ในพื้นที่เขตลาดกระบัง เขตมีนบุรี กทม. และต่อเนื่องอ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ได้รับคุ้มครองในการอยู่อาศัยครอบครองเคหสถาน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีเข้ามาริดรอนสิทธิ์ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับผลกระทบทางมลพิษทางอากาศทางเสียงและความสั่นสะเทือนจากการขึ้น-ลงของเครื่องบินที่ใช้บริการในสนามบินสุวรรณภูมิ ตั้งแต่เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 กันยายน 2549 เป็นต้นมารวมทั้งละเลยและไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ศาลพิเคราะห์ข้อเท็จจริง และกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศบริเวณพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระหว่างปี 2550 -2554 ไม่ได้มีผลแตกต่างไปจากผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ตรวจไปในปี 2535-2544 อย่างมีนัยสำคัญ และอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามกำหนดประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2538) ออกตามความในพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 เรื่องกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไปแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 24 (พ.ศ.2557) และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2552) เรื่องกำหนดมาตรฐานค่าก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในบรรยากาศทั่วไป ส่วนผลการตรวจวัดระดับเสียงตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550 ถึงเดือนมิถุนายน 2555 จำนวน 13 สถานีตรวจวัดพบว่า สถานีตรวจวัดหมู่บ้านพนาสนธิ์การ์เด้นโฮม3 สถานีตรวจวัดสาวิตรีอพาร์ทเมนท์ และสถานีตรวจวัดบริเวณใกล้กับมหาวิทยาลัยเกริก มีค่าระดับเสียงเฉลี่ย 24 ชั่วโมงเกินจากเกณฑ์มาตรฐานเพียงเล็กน้อย แต่เป็นเฉพาะบางช่วงของการตรวจวัดเท่านั้น

สำหรับกากของเสียทั้งหมดที่เกิดขึ้น ผู้ถูกฟ้องคดีได้ว่าจ้างให้บริษัทที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายนำไปกำจัด มิได้ปล่อยให้มีการรั่วไหลหรือแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก จึงไม่เข้าองค์ประกอบ ที่ให้อำนาจคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศให้พื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรภูมิเป็นเขตควบคุมมลพิษเพราะปัญหาผลกระทบทางเสียงและมลพิษทางอากาศ ยังไม่ถึงขั้นจะมีแนวโน้มที่จะร้ายแรงถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและอยู่ในวิสัยที่จะแก้ไขปรับปรุงได้ตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม

Advertisement

ส่วนกรณีที่มีผู้โดยสารในปี 2554 เพิ่มขึ้นจาก45 ล้านคนต่อปี เป็น54 ล้านคนต่อปี ตามรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพิ่มเติ่มระบุขีดความสามารถของสาธารณูปโภคที่มีอยู่ในปัจจุบันคือไฟฟ้า น้ำประปา ระบบบำบัดน้ำเสียและระบบกำจัดขยะมูลฝอยว่ายังมีขีดความสามารถเพียงพอในการให้บริการผู้โดยสารจำนวนดังกล่าวได้

สำหรับกรณีที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องออกมาตรการจำกัดจำนวนผู้โดยสารที่เข้ามาใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไม่เกิน 45 ล้านคนต่อปี ตามEIA กำหนดนั้นเห็นว่าตามรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม ไม่ได้กำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีต้องจำกัดจำนวนผู้โดยสารที่เข้ามาใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไว้ที่จำนวน 45 ล้านคนต่อปี ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่จำต้องจำกัดจำนวนผู้โดยสารจำนวนดังกล่าว หากสามารถปฏิบัติตามมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมดังกล่าวได้ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่ต้องดำเนินการคำขอของผู้ฟ้องคดี พิพากษายกฟ้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำพิพากษาดังกล่าว เป็นการตัดสินของศาลปกครองชั้นต้น ตามกฎหมายคู่ความสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน นับแต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image