ชาวสุพรรณ ร้องดีเอสไอ ”กองทุนฌาปนกิจสามชุก” หักหัวคิว หวั่นกลุ่มอิทธิพลพื้นที่อมเงิน (คลิป)

ชาวสุพรรณ ร้องดีเอสไอ ”กองทุนฌาปนกิจสามชุก” หักหัวคิว หวั่นกลุ่มอิทธิพลพื้นที่อมเงิน (คลิป)

เมื่อเวลา11.00 น. วันที่ 24 ก.ย. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) นายศักดิ์ชาย ชาติเจริญรัตน์ ตัวแทนผู้เสียหายจากกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์กองทุนหมู่บ้าน อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี นำชาวบ้านจำนวน 80 คนเข้าพบ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้เชี่ยวชาญคดีพิเศษ ในฐานะรองโฆษกกรม สอบสวนคดีพิเศษ ขอให้ดีเอสไอรับสวนสวน กรณีผู้บริหารกองทุนฌาปนกิจฯบริหารเงิน กองทุนไม่โปร่งใสจากยอดเงินต้องจ่ายจริงจำนวน 120,000 บาทต่อผู้เสียชีวิต 1 ราย แต่กลับบังคับเซ็นให้บริจาครายละ 50,000-95,000 บาท แต่ในทางปฏิบัติทายาทผู้ตายจะได้รับเงินเฉลี่ยรายละไม่เกิน 20,000-50,000 บาท

ส่วนต่างที่เหลือเจ้าหน้าที่จะนำเอกสารมาให้เซ็นโดยระบุว่ามีการสมัครใจบริจาคเพื่อการกุศลต่างๆ ทั้งที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยากจนไม่มีจะกิน ไม่พอที่จะทำศพ แต่กลับถูกบังคับให้บริจาครายละ 50,000 ถึง 90,000บาท จะเป็นไปได้อย่างไร และเมื่อตรวจสอบไม่พบว่าเงินบริจาคถูกนำไปเข้าบัญชีกองทุนหมู่บ้าน จึงอยากขอให้มีการตรวจสอบย้อนหลัง

นายศักดิ์ชาย กล่าวว่า โครงการฌาปนกิจฯสงเคราะห์เป็นผลสืบเนื่องมาจากโครงการกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท ซึ่งกำหนดว่า หากสมาชิกรายใดต้องการกู้เงินกองทุนหมู่บ้านจะต้องเป็นสมาชิกโครงการฌาปนกิจฯ กรณีเสียเสียชีวิตจะนำเงินฌาปนกิจมาหักหนี้กองทุนหมู่บ้านได้

ส่วนผู้สูงอายุยังสามารถเป็นสมาชิกกองทุนผู้สูงอายุได้อีก โดยมีการเรียกเก็บเงินแรกเข้ารายละ 10 บาท เมื่อเสียชีวิตสมาชิกจะร่วมจ่ายสมทบศพละ 20 บาท เพื่อนำเงินฌาปนกิจไปมอบให้ทายาทผู้ตาย 120,000 บาท โดยตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบันพบว่า ในพื้นที่ อ.สามชุกมีผู้เสียชีวิตแล้วจำนวน 2,000 ราย จึงกังวลใจว่าอาจมีการตุกติกจ่ายเงินไม่ครบ โดยเฉพาะเงินผู้สูงอายุจำนวน 120,000 เพราะบางรายเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว แต่เพิ่งจะมียอดเบิกรับเงินย้อนหลัง

Advertisement

นายศักดิ์ชัย กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีที่สภ.สามชุก กว่า 100 คดี ไปร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรมแต่ไม่มีความคืบหน้า เคยเข้ามาร้องที่ดีเอสไอเมื่อปี 57 และทางดีเอสไอได้ส่งเจ้าหน้าที่จากศูนย์สืบสวนสะกดรอยไปสอบปากคำชาวบ้านไว้แล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ตนจึงร้องขอความเป็นธรรมจากดีเอสไอและขอให้รับเรื่องดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ เนื่องจากประธานกองทุนฯเป็นอดีตกำนันและยังเป็นหัวคะแนนคนสำคัญของนักการเมือง ถือเป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่

ด้านนางลมุด ชาวปลายนา อายุ 60 ปี ชาวบ้าน ต.ย่านตาขาว กล่าวว่า นางนกแก้ว อินสว่าง มารดาของตนไม่เคยกู้เงินกองทุนหมู่บ้านแต่สมัครเป็นสมาชิกกองทุนฯต่อมาในปี 2557 มารดามีอายุ 87 ปีได้เสียชีวิตลง ตนจึงไปติดต่อขอรับเงินฌาปนกิจศพได้รับเงินมาเพียง 40,000 บาท ต่อมาภายหลังได้ทางกองทุนฯได้ปิดประกาศแจ้งให้ทราบว่าสมาชิกทุกรายที่เสียชีวิตจะต้องได้รับเงินฌาปนกิจจำนวน 120,000 บาท โดยที่ผ่านมาได้ไปทวงถามก็ไม่มีคำตอบ จึงอยากรู้ว่าเงินส่วนต่างที่จะเหลือไปอยู่ตรงไหน เพราะเป็นไปไม่ได้ว่าตัวเองจะเต็มใจบริจาคเงินถึง 80,000 บาททั้งๆที่ครอบครัวยากจน ไม่มีจะกิน

“ป้าส่งเงินเข้ากองทุนทุกเดือนๆละ 200 บาท ก่อนหน้านี้เคยไปทวงถามเรื่องเงินส่วนต่างที่ถูกหักไปซึ่งไม่ใช่ป้ารายเดียว หลายๆคนไปถาม ก็จะถูกเจ้าหน้าที่ของกองทุนฯไล่ให้ไปลาออก แต่เราส่งเงินมาตลอด กลัวตายแล้วลูกหลานไม่มีเงินทำศพ เลยจำใจต้องหน้าด้านส่งไปต่อไป ที่มาร้องดีเอสไอเพราะอยากได้ความเป็นธรรม ไม่ต้องการมีขบวนการหากินกับคนตาย” นางลมุด กล่าว

Advertisement

ด้านพ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า ในช่วงบ่ายวันนี้จะเสนอให้พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ รับกรณีกองทุนฌาปนกิจ อ.สามชุกไว้สืบสวน และส่งเจ้าหน้าที่ดีเอสไอลงพื้นที่สืบสวนรวบรวมประเด็นให้ได้ข้อเท็จจริงโดยเร็วที่สุด ในระหว่างนี้หากชาวบ้านรายได้รู้สึกหวาดกลัวหรือถูกข่มขู่จนอาจไม่ได้รับความปลอดภัย ขอให้ยื่นคำร้องเพื่อขอเข้ารับการคุ้มครองพยานเข้ามาได้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image