ศาลปกครองสูงสุด พิจารณาครั้งแรก ปม‘หญิงหน่อย’ ฟ้อง “ป.ป.ช.”ไม่เปิดเผยสำนวนคดียกเลิกจัดซื้อคอมฯสธ.ปี47

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

ศาลปกครองสูงสุด” พิจารณาคดีครั้งแรก ปม‘หญิงหน่อย’ ฟ้อง “ป.ป.ช.” เหตุไม่เปิดเผยสำนวนคดียกเลิกจัดซื้อคอมพิวเตอร์สธ.ปี47 ด้านตุลาการผู้แถลงเห็นฟ้องพิพากษายืนตามชั้นต้น ให้ ป.ป.ช. เปิดเผยข้อมูล-ชี้คำสั่งกก.ข้อมูลข่าวสารฯมีผลผูกพันทุกองค์กร

เมื่อวันที่ 7 ต.ค. เวลา 13.00 น. ตุลาการศาลปกครองสูงสุดออกนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีหมายเลขดำที่ อ.44/2560 ระหว่างคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ผู้ฟ้องคดี กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และสำนักงาน ป.ป.ช. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กรณี คณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ช. ไม่เปิดเผยสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง คดีกล่าวหาคุณหญิงสุดารัตน์ ยกเลิกการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อปี 2547

ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตีตกข้อกล่าวหาเมื่อปี 2558 หลังจากนั้นคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย มีคำสั่งให้เปิดเผยสำนวนดังกล่าวแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มิได้เปิดเผย ซึ่งคดีนี้ศาลปกครองกลางพิพากษาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยสำนวนคดีดังกล่าวแก่คุณหญิงสุดารัตน์

โดยในวันนี้คุณหญิงสุดารัตน์ มอบหมายนายประพันธ์ เย็นสุข ทนายความผู้รับมอบอำนาจเป็นตัวแทนเข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดี ส่วนคณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ช. มอบหมายให้นายขจรศักดิ์ ช่างด้วง เจ้าพนักงานไต่สวนสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นตัวแทนเข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดี โดยตัวแทนทั้งสองฝ่ายไม่แถลงด้วยวาจาเพิ่มเติม ทั้งนี้ตุลาการผู้แถลงคดี กล่าวว่า คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย 3 ข้อ ได้แก่ 1.คดีดังกล่าวอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครองหรือไม่ ตุลาการผู้แถลงคดี เห็นว่า เนื่องจาก ป.ป.ช. เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และใช้อำนาจ 2 ส่วนคือ อำนาจตรงตามรัฐธรรมนูญ และอำนาจทางปกครอง โดยในส่วนการใช้อำนาจตรงตามรัฐธรรมนูญนั้นศาลปกครองไม่มีอำนาจ และในส่วนอำนาจทางปกครองนั้นอยู่อำนาจพิจารณาของศาลปกครอง ดังนั้นศาลปกครองจึงมีอำนาจพิจารณาคดีนี้ 2.คุณหญิงสุดารัตน์มีสิทธิ์ฟ้องคดีนี้หรือไม่ ตุลาการผู้แถลงคดี เห็นว่า มีสิทธิ์ฟ้องเนื่องจากการที่สำนักงาน ป.ป.ช. ไม่เปิดเผยสำนวนการไต่สวนตามที่คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารฯได้วินิจฉัยไปแล้ว ทำให้คุณหญิงสุดารัตน์เดือดร้อนเสียหาย จึงมีสิทธิ์ฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ และ 3.การที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ช. ไม่เปิดเผยสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงถือว่าละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

Advertisement

ตุลาการผู้แถลงคดี ระบุว่า คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารฯ มีอำนาจตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ซึ่งการวินิจฉัยถือเป็นที่สุดและมีผลผูกพันทุกองค์กร การที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ช. อ้างว่า คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารฯ เป็นหน่วยงานฝ่ายบริหาร มิอาจมาแทรกแซงองค์กรอิสระได้นั้น คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารฯปฏิบัติหน้าที่โดยชอบแล้ว ดังนั้นการที่ศาลปกครองกลางพิพากษาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นฟ้องด้วย และเห็นว่าคดีนี้ควรมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ฝ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำแถลงของตุลาการผู้แถลงคดีเป็นเพียงความเห็น ซึ่งไม่ผูกพันกับคำพิพากษาของศาลแต่อย่างใด โดยหลังจากนี้องค์คณะตุลาการจะนำความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดี ประกอบรวมกับสำนวนในข้อเท็จจริงคดีนี้ ก่อนจะนัดฟังคำพิพากษาต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image