ดีอี-ตร.แถลงจับซีอีโอธุรกิจดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง รับจ้างกดไลก์ แชร์ สูญ 140ล้าน ขยายผลอีกเป็นร้อย (คลิป)

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 23 พฤศจิกายน ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.กระทรวงเศรษฐกิจและดิจิทัลเพื่อสังคม(ดีอี) พร้อม พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร.ในฐานะรอง ผอ.ศูนย์ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ(ศปอส.ตร.),พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วย ผบ ตร.,พล.ต.ท.ชวลิต แสงพืชน์ ผบช.สทส.,พล.ต.ท.ภัคพงษ์ พงศ์เภตรา ผบช.น.,พล.ต.ต.สันติ ชัยนิรามัย ผบก.สส.บช.น. และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รอง โฆษก ตร.

ร่วมกันแถลงการจับกุมนายณรงค์ อินลี อายุ 34 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาในข้อหา “ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน” ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทเอ็นเนอร์จี ดีดักชั่น จำกัด ที่เปิดเพจเฟซบุ๊กชื่อ Nice Review (NRV) อ้างว่าทำธุรกิจดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง รับจ้างโปรโมท กดไลก์ กดแชร์สินค้าแบรนด์ต่างๆโดยให้เหยื่อสมัครสมาชิกบริษัท และเสียเงินเปิดพอร์ตลงทุนประกันความเสี่ยง พอร์ตละ 20,000 บาท อ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนสูงสุดวันละ 200 บาท จนมีผู้เสียหาย 403 ราย มูลค่าความเสียหายรวม 139,553,444 บาท โดยตำรวจได้ตรวจค้นเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับบริษัทดังกล่าวทั่วประเทศ 44 เป้าหมาย 49 จุด พร้อมตรวจยึดพยานหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดี ได้แก่คอมพิวเตอร์,สมุดบัญชีธนาคาร,รายชื่อลูกค้ากว่า 1,300 รายชื่อ ซิมโทรศัพท์ 900 เบอร์ และเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับบริษัท

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน
พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวว่า นับตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ผู้เสียหายได้พบโฆษณารับจ้างทำงานกดไลก์กดแชร์ ของบริษัทเอ็นเนอร์จี ดีดักชั่น ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ซึ่งมีเงื่อนไขบริษัทให้สมัครสมาชิกและโอนเงินค่าประกันการทำงานตั้งแต่ 1,500 บาท ถึง 20,000 บาท และจะได้ค่าจ้างวันละ 20-200 บาท โดยมีสัญญาว่าจ้าง 3 เดือน จากนั้นผู้สมัครจะต้องโหลดไฟล์เอกสารจากเว็บไซต์บริษัทมาเซ็นชื่อกำกับ ซึ่งในเอกสารมีชื่อนายณรงค์ ระบุเป็นกรรมการผู้จัดการไว้ ก่อนจะอัปโหลดกลับไปบนเว็บดังกล่าว เมื่อเริ่มทำงานแล้วบริษัทจะจ่ายเงินค่าจ้างใน 1 สัปดาห์ กระทั่งเริ่มจ่ายค่าจ้างล่าช้า และจ่ายเป็นเงินสกุลดิจิทัลสกุล NRV ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับชื่อบริษัท ซึ่งมีค่า 1 หน่วยเท่ากับ 400 บาท แต่ไม่สามารถนำมาใช้จ่ายตามปกติได้ จนผู้เสียหายเกรงจะถูกหลอก บางส่วนจึงเดินทางไปยังที่ทำการบริษัท ในย่านบึงกุ่มเพื่อขอยกเลิกสัญญา แต่ก็ยังไม่ได้เงินประกันการทำงานคืนจึงไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สน.โคกคราม

พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวต่อมา ชุดทำงาน ศปอส.ตร.ได้ตรวจสอบข้อมูลจากทั่วประเทศพบว่ามีผู้เสียหายแจ้งความดำเนินคดีกับนายณรงค์ กว่า 403 ราย มูลค่าความเสียหายร่วม 139 ล้านบาท จึงสืบสวนขยายผลหาความเชื่อมโยงของเส้นทางการเงินจนสามารถตามจับกุมนายณรงค์ ได้ระหว่างหลบหนีที่ด่านพรมแดนถาวร สะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่ 1 จ.หนองคาย พร้อมเงินสดกว่า 1 แสนบาท และเงินต่างชาติอีก 13,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และยังจับกุมนายหาญ ฮะยี่บังลัง ผู้ที่ให้การช่วยเหลือ

Advertisement

สอบสวนนายณงรค์ รับว่าได้ร่วมกันกับพวกเปิดบริษัทเอนเนอร์จีฯ เพื่อหลอกลวงเอาเงินค่าประกันการทำงานจากเหยื่อจริง และไม่ได้ประกอบธุรกิจตามที่กล่าวอ้าง

ทั้งนี้ ตำรวจได้นำกำลังเข้าตรวจค้นสถานที่ต่างๆ รวม 6 จุด ได้แก่ บริษัทเอ็นเนอร์จี ดีดักชั่น ถ.นวลจันทร์ แขวงนวลจันทร์ เขตบึงกุ่ม กทม.และบ้านพักอีก 5 หลัง ในย่านลาดพร้าวและสายไหม ก่อนอายัดบัญชีและทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา ได้แก่ บัญชีชื่อนายณรงค์ อินลี 9 บัญชี 50 ล้านบาท,บัญชีบริษัทเอนเนอร์จี ดีดักชั่น จำกัด 3 บัญชี จำนวน 50 ล้านบาท,บัญชีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา 2 บัญชี รวมจำนวนเงินที่อายัดไว้ประมาณ 100 ล้านบาท

สำหรับทรัพย์สินที่ยึดได้ ประกอบด้วย รถยนต์ บีเอ็มดับเบิลยู ซีรี่ย์ 5 2.0 520 D สีขาว 2 คัน มูลค่าประมาณ 7 ล้านบาท,โฉนดที่ดิน 2 ฉบับ,บ้านเดี่ยวย่านถนนสุคนธสวัสดิ์ แขวงและเขตลาดพร้าว กทม. 3 หลัง,ห้องชุดคอนโดย่านคลองเตย 4 ห้อง และอาคารสำนักงาน บริษัทเอนเนอร์จี ดีดักชั่น จำกัด เลขที่ 388/86 ซ.นวลจันทร์ 26 แขวงนวลจันทร์ เขตบึงกุ่ม กทม.มูลค่า 16 ล้านบาท

Advertisement

พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวต่อจากนี้ตำรวจเตรียมขยายผลตรวจสอบกลุ่มผู้ร่วมขบวนการโดยไล่ตั้งแต่กรรมการบริษัท เอ็นเนอร์จี ดีดักชั่น,โปรแกรมเมอร์,แม่ข่ายบริษัท,นายหน้า,โค้ชสอนการลงทุน,ผู้รับโอนเงิน และผู้แปลงเงินเป็นสกุลดิจิทัล ร่วมหลักร้อยรายมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

นายพุฒิพงษ์ กล่าวว่า ผู้ต้องหาได้แปลงเงินให้เป็นเงินสกุลดิจิทัลเพื่อสกัดไม่ให้เจ้าหน้าที่ ติดตามยึดอายัดได้ เนื่องจากเงินจะถูกนำไปจัดเก็บในอีวัลเลทหรือกระเป๋าสตางค์อีเล็กทรอนิกส์ หากผู้ต้องหาหลบหนีไปต่างแดนแล้วจะสามารถไปแลกเป็นเงินสกุลใดก็ได้ ทั้งยังสืบหาไม่ได้ว่าอยู่ที่ใด เนื่องจากไม่มีข้อมูลการเงินปรากฎในธนาคาร

สำหรับมาตรการสกัดกั้นทางเชิงรุก ศูนย์เฟคนิวส์จะใช้เทคโนโลยีเอไอ คัดกรองข้อมูลในโลกโซเชียลหากพบสิ่งต้องสงสัยก็จะสามารถป้องกันได้ตั้งแต่ต้นทาง ทั้งนี้ยังต้องอาศัยการให้ความรู้กับประชาชน อย่างไรก็ตาม เงินดิจิทัลและอีวัลเลทยังเป็นสิ่งใหม่สำหรับสังคมไทย ซึ่งการจับกุมในคดีฉ้อโกงระยะหลังมานี้ จะพบว่าตำรวจได้ยึดของกลางเป็นซิมโทรศัพท์ได้จำนวนมาก ซึ่งถูกนำมาใช้สำหรับเปิดบัญชีอีวัลเลท ประเด็นนี้จะนำไปหารือกับเครือข่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์ว่าบุคคลหนึ่งจะสามารถถือบัญชีอีวัลเลทได้เท่าไหร่ อย่างไรในอนาคต เนื่องจากคนร้ายไม่จำเป็นต้องเปิดบัญชีด้วยชื่อเอง เพราะสามารถใช้ชื่อคนอื่นมาเปิดได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image