ตร.เผยสถิติค้ามนุษย์ปี62 คดีบังคับใช้แรงงานพุ่ง แต่ค้าประเวณีลดลง

ศพดส.ตร. เผยข้อมูลดำเนินคดีค้ามนุษย์ ปี 62 การบังคับใช้แรงงานเพิ่มสูงขึ้น ส่วนค้าประเวณีลดลง

เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. เปิดเผยถึง ผลการ ปฏิบัติงานด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามนโยบายของรัฐบาล วาระแห่งชาติในการต่อต้านการค้ามนุษย์ประจำปี 2562 ว่า

พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ประกาศให้นโยบาย“การต่อต้านการค้ามนุษย์” เป็นวาระแห่งชาติ เมื่อวันที่ 3 เม.ย.2558 โดยมอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย ซึ่งมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติโดย ผบ.ตร. เป็นผู้รับผิดชอบหลักในด้านการดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมาย มีอำนาจหน้าที่ในการขับเคลื่อนและจัดทำรายงาน ด้านการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ตามมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551

พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลฯ โดย จัดตั้งศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว และป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) โดยมอบหมายให้ พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นผู้อำนวยการศูนย์โดยมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมกำกับดูแล และกำหนดแผน มาตรการ วางระบบการข่าว และระบบฐานข้อมูลในงานพิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว และป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยมีการบูรณาการการทำงานกับทุกหน่วยงาน สามารถสรุปผลการดำเนินงานในการต่อต้านการค้ามนุษย์ในปี 2562 ได้ ดังนี้

Advertisement

สถิติการดำเนินคดีค้ามนุษย์ ปี 2562 ดำเนินคดีไปแล้ว 286 คดี มีจำนวนผู้กระทำความผิด 552 คน จำนวนผู้เสียหายหรือเหยื่อ 1,818 คน ซึ่งสถิติการกระทําความผิดฐานค้ามนุษย์ในรูปแบบการค้าประเวณีซึ่งเป็นรูปแบบส่วนใหญ่ของการค้ามนุษย์ในประเทศไทยลดลง จาก 251 คดี ในปี 2561 เป็น 157 คดี ในปี 2562 เนื่องจากการทํางานแบบ บูรณาการระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย NGO และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆทั้งในขั้นตอนการสืบสวน ดําเนินคดีและการคุ้มครองผู้เสียหายนอกจากนี้ยังได้รณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้กับกลุ่มเสี่ยงเพื่อป้องกัน การตกเป็นเหยื่อในรูปแบบการแสวงหาประโยชน์ทางเพศโดยการจัดกิจกรรมในโรงเรียนเป้าหมายทั่วประเทศ และร่วมกับภาคเอกชนในการจัดประกวดภาพยนตร์สั้นเพื่อให้ความรู้และเตือนภัยเยาวชนจากการใช้อินเตอร์เน็ต

ส่วนสถิติการกระทําความผิดฐานการค้ามนุษย์ในรูปแบบการแสวงหาประโยชน์จากการบังคับใช้ แรงงานการเอาคนลงเป็นทาสและการขูดรีด เพิ่มสูงขึ้นจาก 32 คดีใน ปี 2561 เป็น 89 คดีในปี 2562 เนื่องจากมีมาตรการสืบสวน จับกุม ดําเนินคดีอย่างจริงจังกับขบวนการลักลอบขนแรงงานต่างด้าวไปแสวงหา ประโยชน์ในประเทศที่สาม แม้จะมีความยากในการรวบรวมพยานหลักฐาน เนื่องจากข้อมูลมีความเกี่ยวข้องกับ ประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง แต่บางคดีสามารถรวบรวมพยานหลักฐาน สืบสวน ขยายผลให้เป็น ความผิดฐานค้ามนุษย์ ส่งผลให้ ประเทศไทยได้รับการปลดสถานะใบเหลืองของภาคประมงจาก EUอันเป็นผลมาจากการที่ สามารถควบคุมและแก้ไขปัญหาการทําประมงผิดกฎหมายได้ รวมถึงการลดปัญหาการค้ามนุษย์ในรูปแบบการ บังคับใช้แรงงานภาคประมงได้สําเร็จ ด้วยมาตรการการดําเนินคดีกับผู้กระทําผิดด้านการบังคับใช้แรงงานภาค ประมงแบบครบวงจร ตั้งแต่ท่าเทียบเรือ แพปลา และการตรวจจับทางทะเล

โดยนำรูปแบบการทํางานแบบ Inter-AgencyTaskforce ที่เป็นการบูรณาการรรวมกันระหว่าง หน่วยงานภาครัฐ ตํารวจ อัยการ และองค์กรภาคเอกชน มาปรับใช้อย่างจริงจังในการสืบสวน สอบสวนเพื่อ ดําเนินคดีกับผู้ต้องหา การคุ้มครองเหยื่อ และการสร้างความตระหนักรู้ให้กับกลุ่มเสี่ยงทําให้การป้องกัน ปราบปรามการค้ามนุษย์มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประกอบกับใช้มาตรการลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่องและจริงจัง ตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยมาตรการทางการบริหารในการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้อง กับการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2558 ตามนโยบายของรัฐบาลทําให้จํานวนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ลดลงอย่างชัดเจน พร้อม นําแนวคิดการนําผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง (Victim Centric Approach) มาปรับใน ทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการพิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหายมากขึ้น อาทิเช่น สํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเสนอแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการยึดทรัพย์จาก ผู้กระทําผิดในคดีค้ามนุษย์โดยขอให้สามารถนําทรัพย์นั้นมาชดเชยเยียวยาและใช้เป็นสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายได้ กระบวนการพิจารณาของศาลมีการสืบพยานล่วงหน้ามากขึ้นและพยายามที่จะให้พยานเผชิญหน้า กับจําเลยให้น้อยที่สุด นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขกฎหมายประมวลวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อป้องกันไม่ให้ ผู้เสียหายหรือผู้ให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายถูกฟ้องเพื่อกลั่นแกล้งหรือข่มขู่

Advertisement

รอง โฆษก ตร. กล่าวต่ออีกว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้มีการกำชับการป้องกันปราบการค้ามนุษย์ ตามนโยบายของรัฐบาล มาโดยตลอด และให้คำมั่นในการปราบปรามการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบ อย่างจริงจัง เพื่อเป็นที่ประจักษ์แก่สังคมโลก ทั้งการป้องกันโดยการ ดำเนินการสกัดกั้น คนต่างชาติที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในพื้นที่ตลอดแนวชายแดนและอาณาเขตทางทะเล การแนะนำให้ความรู้คนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยถูกกฎหมายที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เพื่อไม่ให้ตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และ การปราบปราม โดยตรวจค้น จับกุมดำเนินคดี ผู้กระทำความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เน้นการดำเนินคดีกับผู้ประกอบการที่กระทำผิดกฎหมาย พร้อมทั้งสืบสวนขยายผลการจับกุมเครือข่าย ขบวนการค้ามนุษย์ให้ครบทั้งขบวนการ ได้แก่ ผู้นำพา ผู้ค้า ผู้ให้ที่พักพิง นายจ้าง นายหน้า นายทุน ผู้ให้การสนับสนุน และผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ประกอบการทำการตรวจสอบ เร่งรัดผลการสอบสวน และผลการพิจารณาคดีค้ามนุษย์ ทั้งในชั้นพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และศาลยุติธรรม เพื่อความยุติธรรม รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image