ชาวเลวอนชะลอคดีพิพาทเอกชนปมที่ดิน ดีเอสไอรวมหลักฐานก่อนสรุป 14 ก.พ.นี้

(30 ม.ค.59) ที่ห้องประชุมโต๊ะพญาวัง ศาลากลางจังหวัดสตูลคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล ครั้งที่ 1/2559 นำคณะโดยพลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะกรรมการฯ ลงพื้นที่ติดตามวาระในแนวทางการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีราษฎร์ ได้รับผลกระทบจากการกำหนดให้พื้นที่ที่ราษฎร์ทำประโยชน์ เป็นที่ดินของรัฐประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะเขตอุทยานแห่งชาติและป่าสงวนแห่งชาติ และวาระการแก้ไขปัญหากรณีชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ในการพิจารณาในกรณีให้เพิกถอนการออกเอกสารสิทธิที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ , การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการประกอบอาชีพประมงของชุมชนชาวเล รวมทั้งวาระ การแก้ไขปัญหาพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล (สุสาน) โดยมีตัวแทนแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ อาทิ ผู้ว่าราชการ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายอุทยานฯ และชาวเล ทั้ง 5 จว.ได้แก่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล เข้าร่วมประชุมนาน 5 ชม.

นายเรวัติ แสงโชติ เจ้าหน้าที่คดีพิเศษชำนาญการ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ได้เปิดประเด็นชี้แจงในที่ประชุม กรณีลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาที่ดินที่ทำกิน และที่อยู่อาศัยของชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะ จากการสำรวจ แผนที่แสดงแปลงที่ดินจากเอกสาร น.ส.3 บนการใช้ประโยชน์ที่ดินปี 2493 พบปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนที่ดินหลายพื้นที่ และการออกเอกสารเกิน หรือบวมจากที่ครอบครอง ไปถึงสุสานโต๊ะคีรีของชาวเล หลังมีการอ้างสิทธิ์ทำให้ชาวเลไม่สามารถใช้พื้นที่ฝั่งศพได้ พร้อมทั้งยกตัวอย่างพื้นที่ดินของนางดารา อังโชติพันธ์ ให้เป็นกรณีตัวอย่าง ในการออกเอกสารสิทธิ์ครอบครองในพื้นที่ 81 ไร่ ที่ครอบพื้นที่สุสานโต๊ะคีรีของชาวเลที่จะมีการตรวจสอบในครั้งนี้ รวมทั้งพื้นที่อื่น ๆ จากการลงพื้นที่ตรวจสอบยังพบการทำประโยชน์ในพื้นที่บนเกาะหลีเป๊ะเพียง 4 ไร่ ไม่ได้ทำประโยชน์อีก 70 ไร่ ถูกนำเสนอและตีแพร่ในที่ประชุมครั้งนี้

ด้านพล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะกรรมการฯ ได้ขอให้มีการส่งข้อมูลพยานหลักฐาน ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ด้านการครอบครองสิทธิ์ในอดีต ให้กับ ดีเอสไอ เพื่อรวบรวมสรุปในวันที่ 14 ก.พ.นี้อีกครั้ง และหากตรวจสอบพบว่ามีการออกเอกสารทับซ้อนจริง ขอให้มีการรื้อใหม่ให้ถูกต้อง และขอให้ถอยกันคนละก้าวเพื่อให้การแก้ปัญหาเดินหน้าไปได้ แต่หากไม่ยอมก็ต้องว่าด้วยกฎหมาย พร้อมให้แนวทางในการแก้ปัญหาด้วยการช่วยกันคิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อความมั่นคง และยั่งยืนในทุกฝ่ายให้อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน ไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งล้มหายตายจากไป กฎหมายต้องไม่กระทบวิถีชีวิตชาวเล หากกระทบต้องมีทางออกให้พวกเขา และเน้นย้ำให้มีการใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรมตามสภาพจริง

ในที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบแนวทางแก้ปัญหาใน 5 ข้อคือ เมื่อมีการประกาศพระราชกฤษฎีกา หรือกฎกระทรวงเพื่อกำหนดเขตหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่า ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 หรือ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ที่ดินบริเวณใดบ้างที่ไม่เป็นที่หวงห้าม ไม่เป็นอุทยานฯหรือไม่เป็นป่าสงวน ถือเป็นที่ดินครอบครองโดยชอบมาก่อนประกาศเป็นที่หวงห้าม/เป็นอุทยานแห่งชาติ/เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งการครอบครอบได้มี 2 นัย คือ ครอบครองโดยมีหลักฐานทางที่ดิน เช่น ใบจอง ส.ค.1 น.ส.2 น.ส.3 โฉนด หรือ 2 ครอบครองใช้ประโยชน์มาก่อน พ.ศ.2479 ต่อเนื่องมาจนถึงวันประกาศ และครอบครองต่อเนื่องเรื่อยมา แม้จะไม่มีหลักฐานทางที่ดินเลยก็ตาม

Advertisement

ข้อ 2 เมื่อเป็นที่ประจักษ์ว่ามีการครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดิน โดยขอบมาก่อนการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติตามหลักแล้วจะต้องมีการดำเนินการ แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ข้อ 3 การกันพื้นที่ที่มิใช่อุทยานฯ ป่าสงวนแห่งชาติ ออกจากพื้นที่เป็นหน้าที่ของราชการ ที่จะทำให้รู้แนวเขตครอบครองโดยชอบ
ข้อ 4 หากประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติทับที่ชาวบ้านแล้ว ต้องไม่กระทบ หากมีความจำเป็นต้องรอนสิทธิ์เพื่อประโยชน์สาธารณะต้องมีการออกที่เหมาะสม และไม่เลวร้ายไปกว่าเดิม และข้อ 5 กรณีมีการใช้กฎหมายเข้าจับกุม ผู้ที่ครอบครองโดยชอบในเขตอุทยานฯแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ และมิได้กันออก เป็นการปฏิบัติตามกฎหมายนั้น ให้ถือเป็นการปฏิบัติการนอกกฎหมาย เพราะเมื่อไม่มีการกันออก ก็ไม่ทราบแนวเขตอุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติที่ชน ติดกับเขตที่ดินที่มีการครอบครองโดยชอบ

ขณะที่นายไมตรี จงไกรจักร ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง จังหวัดพังงา มีความเห็นว่า ความขัดแย้งในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันที่ไปเกี่ยวโยงกับรัฐบาลในนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว ก็ต้องเร่งเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ให้ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลโดยการสั่งการเด็ดขาดไปยังกรมที่ดินตามหลักฐาน ที่ทางคณะกรรมการพยายามรวบรวมพยานหลักฐาน พร้อมกันนี้เห็นว่ารัฐบาลต้องทำตามมติครม. 2 มิ.ย.2553 เรื่องฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล พร้อมกำหนดเขต วัฒนธรรมพิเศษของชาวเลให้เป็นรูปธรรม เชื่อว่าจะนำไปสู่การลดความขัดแย้งและสร้างความมั่นคงให้กลุ่มชาติพันธ์ ซึ่งเชื่อว่าคณะกรรมการฯชุดนี้จะเป็นความหวังในการรวบรวมพยานหลักฐานประกอบการตัดสินใจให้รัฐบาลพิจารณา

นอกจากนี้ นางแสงโสม หาญทะเล ครู คส.1 โรงเรียนบ้านเกาะอาดัง ต.เกาะสาหร่าย อ.เมืองสตูล และเป็นทายาทชาวเลเกาะหลีเป๊ะ กล่าวว่า รู้สึกมีความหวังหลังคณะกรรมการฯชุดนี้ลงติดตามปัญหาที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวเล ในการยกระดับให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาหลังมีการลงพื้นที่รับฟังปัญหา พร้อมเห็นว่าประเด็นที่ตกหล่นคือการให้มีการชะลอการดำเนินคดีกับชาวเลในพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ และ ราไว พร้อมฝากให้รัฐบาลช่วยเร่งรัดในการแก้ปัญหาที่สะสมมานานของชาวเลเป็นของขวัญในปีนี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image