ราชทัณฑ์-นิติวิทย์ฯ “จับมือทำระบบข้อมูลดีเอ็นเอนักโทษ -พบสถิติ 3 ปี ทำผิดซ้ำพุ่ง 30%

ราชทัณฑ์-นิติวิทยาศาสตร์ “จับมือทำระบบข้อมูลดีเอ็นเอนักโทษหลังพบสถิติ 3 ปี ทำผิดซ้ำพุ่ง 30 เปอร์เซ็นต์

เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ที่กระทรวงยุติธรรรม พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสถาบันนิติวิทยาศาสตร์และกรมราชทัณฑ์ โดยมีพ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และพ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ร่วมลงนามความร่วมมือการจัดทำระบบฐานข้อมูลผู้กระทำความผิด โดยเฉพาะผู้ต้องขัง

พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าวว่า การทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการติดตามตัวผู้ต้องขังที่พ้นโทษไปแล้ว ที่ผ่านมาสถาบันนิติวิทยาศาสตร์มีหน้าที่เก็บข้อมูลสารพันธุกรรม แต่ยังไม่เคยมีการจัดระบบหรือเข้าไปเก็บข้อมูลผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำทั่วประเทศ การทำบันทึกข้อตกลงจะทำให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์และกรมราชทัณฑ์มีฐานข้อมูลร่วมกัน และยังช่วยในการป้องปรามการกระทำความผิดซ้ำของผู้ที่พ้นโทษออกไป ที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็เคยทำบันทึกข้อตกลงกับกรมราชทัณฑ์เพื่อเก็บข้อมูลผู้ต้องขังในเรือนจำ เพื่อใช้ในการสืบสวนติดตามพฤติกรรมคนร้าย ซึ่งข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ระบุว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาผู้ต้องหาที่พ้นโทษไปแล้วกระทำความผิดซ้ำมีตัวเลขเพิ่มขึ้นจาก 7 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ และล่าสุดปี 2563 เพิ่มเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ จึงต้องจำแนกผู้ต้องขังที่กระทำผิดซ้ำในคดีต่างๆ เช่น ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดทางด้านความมั่นคง และความผิดต่อชีวิต โดยผู้ต้องขังกลุ่มนี้ต้องดำเนินการเก็บสารพันธุกรรม เพื่อง่ายต่อการตรวจพิสูจน์กรณีกระทำความผิดซ้ำ และสามารถนำไปใช้ในการตรวจเปรียบเทียบสารพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับคดีต่างๆ เพื่อใช้ในการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวอีกว่า การเก็บสารพันธุกรรมไม่ควรทำเฉพาะในเรือนจำเท่านั้น แต่ควรดำเนินการครอบคลุมไปถึงกรมคุมประพฤติ และสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เนื่องจากหน่วยงานดังกล่าวมีหน้าที่รับช่วงดูแลผู้กระทำผิดที่ศาลสั่งลงโทษ ซึ่งเป็นการใช้ข้อมูลทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ในการจัดทำระบบฐานข้อมูล และทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของฐานข้อมูลประสานกับหน่วยงานอื่นได้รวดเร็วมากขึ้น

Advertisement

ด้านพ.ต.ท.วรรณพงษ์ กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและความรู้ทางนิติวิทยาศาสตร์มาใช้เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของทั้งสองหน่วยงานโดยเฉพาะการเชื่อมโยงข้อมูลด้านนิติวิทยาศาสตร์หรือดีเอ็นเอของผู้กระทำความผิดและผู้ต้องขังให้สามารถนำตรวจสอบและเปรียบเทียบกับข้อมูลด้านนิติวิทยาศาสตร์กรณีที่ผู้พ้นโทษออกไปแล้วกลับมากระทำความผิดซ้ำได้

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวว่า การบันทึกข้อตกลงดังกล่าว เป็นความร่วมมือกัน เพื่อจัดระบบฐานข้อมูลบุคคลของผู้กระทำผิด/ผู้ต้องขังและมีการเก็บสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) โดยการยินยอมของผู้ต้องขัง เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลด้านนิติวิทยาศาสตร์ ทำให้สามารถพิสูจน์ทราบตัวบุคคลที่กระทำความผิดได้อย่างรวดเร็วหากพบว่ามีการกระทำผิดซ้ำ ซึ่งระบบฐานข้อมูลดังกล่าวจะเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันและลดการเกิดการกระทำผิดซ้ำอย่างเป็นระบบและจะช่วยรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมได้อย่างเหมาะสม

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image