พบอีกออกโฉนดทับที่หลีเป๊ะ ซ้ำ”ราไวย์”-ชาวเลร้องรัฐช่วย

‘ดีเอสไอ’เจออีกรุกที่ชาวเล เกาะหลีเป๊ะ ลุยแก้ปัญหา ตร.ภูเก็ตเร่งรวบรวมพยาน-หลักฐานคดีชายฉกรรจ์-ปะทะชาวเลราไวย์ ชี้ยังไม่ตั้งข้อหาใคร เผย 1 รายอาการสาหัสอยู่ รพ.

@ ตร.รอแจ้งข้อหาปะทะหาดราไวย์

ความคืบหน้ากรณีพิพาทระหว่างชาวบ้านชุมชนชาวไทยใหม่ ราไวย์ หรือชาวเลบ้านราไวย์ หมู่ 2 ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ปะทะกับพนักงานของบริษัท บารอน เวิลด์ เทรด จำกัด ซึ่งอ้างสิทธิเป็นเจ้าของที่ดินติดชุมชนชาวไทยใหม่จนได้รับบาดเจ็บทั้งสองฝ่ายเมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ต.อ.นพดล ถิรประวัติ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอ (ผกก.สภ.) ฉลอง จ.ภูเก็ต เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินคดีผู้กระทำผิดเหตุชาวเลราไวย์ปะทะกลุ่มชายฉกรรจ์จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายรายบริเวณริมชายหาดราไวย์ว่า ขณะนี้มีผู้เสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าวเข้ามาแจ้งความเพียง 9 ราย เป็นฝั่งชาวเลบ้านราไวย์ 6 ราย และฝั่งเจ้าของที่ดิน 3 ราย ซึ่งจากเหตุการณ์ปะทะดังกล่าวยังมีชาวเลได้รับบาดเจ็บสาหัสพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต 1 ราย อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่มีการแจ้งข้อหา เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่ชัดเจนว่าเป็นการสมัครใจทะเลาะวิวาทหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกทำร้ายร่างกาย เนื่องจากมีผู้บาดเจ็บสองฝ่าย

Advertisement

@ เร่งเก็บหลักฐานภาพถ่าย-วิดีโอ

“พนักงานสอบสวนกำลังรวบรวมพยานหลักฐานทั้งภาพถ่าย วิดีโอ พยานบุคคล พยานวัตถุ เอกสารต่างๆ เพื่อประกอบสำนวนในการพิจารณาคดีว่าจะตั้งข้อหากับใครได้บ้าง ซึ่งขอยืนยันว่าการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจตรงไปตรงมา ไม่เข้าข้างฝ่ายใดทั้งสิ้น หากพบหลักฐานชัดเจนจะตั้งข้อหากับผู้กระทำผิดทันที ในส่วนของการดูแลความปลอดภัยได้ส่งเจ้าหน้าที่สายตรวจเข้าไปดูแลความปลอดภัยเป็นระยะๆ” พ.ต.อ.นพดลกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศในพื้นที่หมู่บ้านชาวเลราไวย์ ชาวบ้านเริ่มมีการรวมตัวกันบริเวณจุดศูนย์รวมของหมู่บ้านใกล้จุดเกิดเหตุน้อยลง มีบางส่วนที่เดินทางเข้า-ออกพื้นที่พิพาทเพื่อซ่อมแซมเรือ เครื่องมือประมง ลงทะเลหาปลาตามปกติ รอร่วมการประชุมใหญ่ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้

@ เครือข่ายชุมชนออกแถลงเรียกร้อง

Advertisement

ด้านเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) ออกจดหมายเปิดผนึกมีใจความตอนหนึ่งว่า จากเหตุการณ์นายทุนนำกลุ่มชายฉกรรจ์กว่า 100 คน เข้าปิดเส้นทางเข้า-ออกสาธารณะเชื่อมริมชายหาด โดยนำรถบรรทุกหินขนาดใหญ่มาเทขณะที่ผู้หญิงและเด็กนั่งอยู่ ทุบตีทำร้ายชาวเลจนบาดเจ็บหลายราย ขอชี้แจงข้อมูลเพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน ดังนี้ 1.กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลเป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมที่อาศัยในพื้นที่อันดามันมากว่า 300 ปี มีงานวิจัยชัดเจน และเป็นพลเมืองไทย มีบัตรประชาชนไทย ได้นามสกุลพระราชทานจากสมเด็จย่า เป็นกลุ่มที่หาอยู่หากินแบบพอเพียง เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์และธรรมชาติ รักสงบ ไม่เคยรุกรานใคร มีความเชื่อว่าทรัพยากร เช่น ที่ดิน ทะเล ฯลฯ 2.ชาวเลชุมชนราไวย์ไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับที่ดินนายทุน แต่นายทุนต้องการปิดทางเข้า-ออกชายหาดเพราะต้องการเอาชายหาดมาเป็นของส่วนตัว 3.ถนนทางเดินชายหาดที่นายทุนจะปิด ในหลวงเคยเสด็จฯเยี่ยมชาวเลปี 2502 ตามกฎหมายเป็นที่สาธารณะโดยปริยายแล้วเพราะใช้กันมานาน มีหลักฐานพยานชัดเจน 4.ข้อมูลงานวิจัยของนักวิชาการและแผนที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุที่ดินของนายทุนเดิมเป็นที่เกษตรกรรมของหมู่บ้าน และมีบ่อน้ำโบราณที่ชาวเลใช้เป็นหลักฐานยืนยันการออกเอกสารสิทธินั้นได้มาอย่างไร 5.หากที่ดินนั้นนายทุนมีสิทธิ แต่สุสานและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทางจิตวิญญาณที่ชาวเลใช้มานาน เอกชนไม่มีสิทธิมาออกเอกสารสิทธิทับ หากทับเป็นการละเมิดสิทธิชุมชนดั้งเดิมควรให้ดีเอสไอตรวจสอบเพิ่มเติม

รายงานข่าวแจ้งว่า จากการตรวจสอบพบว่ามีบุคคลนำเอาเอกสาร สค.1 มายื่นออกเป็นโฉนด และมีการออกเอกสารสิทธิที่ดินบริเวณชุมชนชาวไทยใหม่ราไวย์ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ช่วงปี พ.ศ.2508-2512 โดยช่วงปี 2501-2511 มีนายอ้วน สุระกุล เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ส่วนปี 2511-2512 มีนายกำจัด ผาติสุวัณณ เป็นผู้ว่าฯภูเก็ต และปี 2512-2518 มีนายสุนัย ราชภัณฑารักษ์ เป็นผู้ว่าฯภูเก็ต

@ ดีเอสไอเจอรุกที่ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ

ที่ศาลากลาง จ.สตูล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการประชุมของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัยพื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล ครั้งที่ 1/2559 มี พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง เป็นประธานคณะกรรมการ ที่ประชุมมีวาระพิจารณาเรื่องแนวทางการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีราษฎรได้รับผลกระทบจากการกำหนดให้พื้นที่ที่ราษฎรทำประโยชน์เป็นที่ดินของรัฐ การแก้ไขปัญหากรณีชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ที่ขอให้พิจารณาเพิกถอนการออกเอกสารสิทธิที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ การแก้ไขปัญหาพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล โดยมีตัวแทนแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายปกครอง ฝ่ายอุทยานฯ และชาวเล 5 จังหวัด ได้แก่ จ.ภูเก็ต, พังงา, กระบี่, ตรัง และ จ.สตูล เข้าร่วมประชุมใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมง

นายเรวัติ แสงโชติ เจ้าหน้าที่คดีพิเศษชำนาญการ ดีเอสไอ กล่าวในที่ประชุมว่า ในการลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาที่ดินที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะ จากการสำรวจแผนที่แสดงแปลงที่ดินจากเอกสาร น.ส.3 บนการใช้ประโยชน์ที่ดินปี 2493 พบปัญหาการออกเอกสารสิทธิทับซ้อนที่ดินหลายพื้นที่ และการออกเอกสารสิทธิเกินหรือบวมจากที่ครอบครองไปถึงสุสานโต๊ะคีรีของชาวเล หลังมีการอ้างสิทธิทำให้ชาวเลไม่สามารถใช้พื้นที่ฝังศพได้ เช่น พื้นที่ดินของบุคคลหนึ่งที่เป็นตระกูลใหญ่ใน จ.สตูล ที่มีการออกเอกสารสิทธิพื้นที่ 81 ไร่ ครอบพื้นที่สุสานโต๊ะคีรีของชาวเลไปด้วย นอกจากนี้ยังมีพื้นที่อื่นๆ ด้วย

@ เร่งส่งข้อมูลหลักฐานสรุป14ก.พ.

รายงานข่าวแจ้งว่า ในประเด็นดังกล่าว พล.อ.สุรินทร์ได้แจ้งในที่ประชุมขอให้มีการส่งข้อมูลพยานหลักฐานที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้านการครอบครองสิทธิในอดีตให้กับดีเอสไอ เพื่อรวบรวมสรุปในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้อีกครั้ง หากตรวจสอบพบว่ามีการออกเอกสารสิทธิทับซ้อนจริง ขอให้มีการรื้อใหม่ให้ถูกต้อง และขอให้ถอยกันคนละก้าวเพื่อให้การแก้ปัญหาเดินหน้าไปได้แต่หากไม่ยอมก็ต้องว่าด้วยกฎหมาย

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางแก้ปัญหา อาทิ เมื่อมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวงเพื่อกำหนดเขตหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ.2478 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 หรือ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ที่ดินบริเวณใดบ้างที่ไม่เป็นที่หวงห้าม ไม่เป็นอุทยานฯหรือไม่เป็นป่าสงวน ถือเป็นที่ดินครอบครองโดยชอบมาก่อนประกาศเป็นที่หวงห้าม/เป็นอุทยานแห่งชาติ/เป็นป่าสงวนแห่งชาติ 2.กรณีมีการใช้กฎหมายเข้าจับกุม ผู้ที่ครอบครองโดยชอบในเขตอุทยานแห่งชาติฯ และมิได้กันออกให้ถือเป็นการปฏิบัติการนอกกฎหมาย เนื่องจากเมื่อไม่มีการกันออกก็ไม่ทราบแนวเขตอุทยานฯที่ชนหรือติดกับเขตที่ดินที่มีการครอบครองโดยชอบ

นางแสงโสม หาญทะเล ครูโรงเรียนบ้านเกาะอาดัง อ.เมือง จ.สตูล และเป็นทายาทชาวเลเกาะหลีเป๊ะ กล่าวว่า รู้สึกมีความหวังหลังคณะกรรมการชุดนี้ลงติดตามปัญหาที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวเลในการยกระดับให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาหลังมีการลงพื้นที่รับฟังปัญหา พร้อมเห็นว่าประเด็นที่ตกหล่นคือการให้มีการชะลอการดำเนินคดีกับชาวเลในพื้นที่เกาะหลีเป๊ะและราไวย์ พร้อมฝากให้รัฐบาลช่วยเร่งรัดในการแก้ปัญหาที่สะสมมานานของชาวเลเพื่อเป็นของขวัญในปีนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image