ชาวเลราไวย์ย้ำไม่ต้องการพื้นที่ทั้งหมดของ บ.บารอน เตรียมเลือกตัวแทนถกวิกฤตพิพาท

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศบริเวณชุมชนชาวไทยใหม่ หรือชาวเลราไวย์ อ.เมืองภูเก็ต โดยเฉพาะบริเวณรอยต่อเขตที่ดินที่มีกรณีพิพาทกับทางบริษัท บารอน เวิล์ด เทรด จำกัด ว่า เมื่อวันที่ 31 มกราคม เป็นไปตามปกติ โดยมีชาวเลจำนวน 4-5 คนนั่งจับกลุ่มพูดคุยกัน โดยไม่มีกิจกรรมการเคลื่อนไหวใด เนื่องจากชาวบ้านส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ชายจะออกทะเลไปทำการประมง และจะกลับเข้ามาในช่วงบ่ายหรือเย็นวันเดียวกัน ทั้งนี้ทราบว่าในช่วงเย็นวันนี้ (31 ม.ค.59) ทางชาวบ้านได้นัดประชุมหารือกันเพื่อหาข้อสรุปในการส่งตัวแทนที่สามารถตัดสินใจแทนได้ และเป็นที่น่าเชื่อถือของชาวบ้านเข้าร่วมประชุมกับทาง จ.ภูเก็ต หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และทางเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้

ขณะที่นายนิรันดร์ หยังปาน หนึ่งในชาวไทยใหม่ราไวย์ กล่าวว่า ในส่วนของชาวบ้านจะมีการนัดประชุมกันในช่วงเย็นวันนี้ (31 ม.ค.59) เพื่อคัดเลือกผู้ที่จะเป็นตัวแทนในการนำข้อเสนอของทางชาวเลไปแจ้งต่อที่ประชุม คาดว่าจะส่งตัวแทนไปประมาณ 10 คน โดยจะมีนายอรุณ โสฬส นายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ เป็นตัวแทนหลัก เนื่องจากเป็นผู้ที่อยู่ในพื้นที่และรับทราบข้อมูลเป็นอย่างดี รวมทั้งยังเป็นที่เคารพของคนในหมู่บ้าน ส่วนที่เหลือก็จะเป็นชาวบ้านซึ่งมีศักยภาพในการพูดคุย โดยจะต้องเป็นบุคคลที่เข้าใจชุมชนและเป็นที่นับถือของคนในชุมชน และนอกจากคุยกับผู้เกี่ยวข้องแล้ว จะต้องพูดคุยกับคนในชุมชน 2,000 กว่าคนให้ยอมรับได้ด้วย เพราะปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่ โดยกำลังหาสถานที่เพื่อพูดคุยกับชาวบ้านทั้งหมดในช่วงเย็นวันนี้ เพื่อหาตัวแทนและหาข้อเรียกร้องที่แท้จริงที่จะนำไปเป็นข้อเสนอในที่ประชุม

เบื้องต้นที่ต้องการและคิดว่าน่าจะเป็นความต้องการของคนส่วนใหญ่ในชุมชนนั้น นายนิรันดร์บอกว่า ทางชาวบ้านไม่ได้ต้องการพื้นที่ทั้งหมดของทางบริษัทบารอนฯ แต่ต้องการพื้นที่บางส่วนเพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรม และเส้นทางเดินไปยังที่ประกอบพิธีกรรมหรือโต๊ะบาลัย รวมพื้นที่ในการทำและซ่อมแซมอุปกรณ์การทำประมง เช่น ไซ ลอบ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามในการประชุมในเวลา 10.00 น. ของวันจันทร์ที่ 2 ก.พ.นี้ที่ศาลากลางจังหวัด จะมีหลายฝ่ายเข้าร่วม ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งศูนย์ดำรงธรรม ที่ดินจังหวัด ตำรวจ ทหาร อัยการ ตัวแทนชาวเลฯ 10 คน (รวมนายกเทศบาลตำบลราไวย์) ทางฝั่งผู้อ้างกรรมสิทธิ์ที่ดิน (บริษัทบารอน) ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจ และนอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และคณะกรรมการสิทธิมนุษย์ชนแห่งชาติที่เตรียมเข้าให้ข้อมูลเพื่อร่วมหาทางออก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image