รองปลัด ยธ.ชงร้อนๆ ยกเครื่องระบบดูแลผู้ต้องขัง

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้เขียนบทความเรื่อง พัฒนาระบบการดูแลผู้ต้องขังในทัศนะของข้าพเจ้า มีเนื้อหาน่าสนใจดังนี้

1. ศาลควรสั่งสืบเสาะทุกคดีในฐานความผิดเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงในครอบครัว และคดีข่มขืนกระทำชำเรา แม้เป็นคดีที่มีอัตราโทษสูงกว่าที่จะได้เหตุอันควรแก่การปรานีตามมาตรา 56 ไม่ว่าจำเลยจะปฏิเสธหรือรับสารภาพ

อนึ่ง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการยกร่างแก้ไขพระราชบัญญัติคุมประพฤติฯ เพื่อให้พนักงานคุมประพฤติมีอำนาจสืบเสาะและพินิจได้ในทุกคดีไม่จำกัดอัตราโทษ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภา

2. สร้างหรือพัฒนาเครื่องมือคัดกรองหรือจำแนกปัจจัยเสี่ยง(แนวโน้มการกระทำความผิดซ้ำ) และปัจจัยจำเป็น(การบำบัดรักษาและการสงเคราะห์ช่วยเหลือ) เพื่อใช้ในการคัดกรองตาม ข้อ 1 ให้มีความแม่นตรงและมีค่าความเชื่อมั่นทางวิชาการ

Advertisement

3. สร้างและพัฒนาโปรแกรมบำบัดที่ได้รับการยอมรับทางวิชาการให้ถูกต้องตามปัจจัยที่พบเป็นรายบุคคลที่มีปัญหา มิใช่ระบบโปรแกรมเสื้อโหล

4. การเลื่อนชั้นผู้ต้องขัง ควรให้มีคณะกรรมการสหวิชาชีพประจำเรือนจำหรือทัณฑสถาน ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในวิชาชีพด้านจิตวิทยาสังคมสงเคราะห์ สาธารณสุข และการศึกษา ด้านละ 1 คน เพื่อมีหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะต่อผู้บัญชาการเรือนจำหรือทัณฑสถานในกรณีจำแนกผู้ต้องขัง การแก้ไขบำบัดฟื้นฟูผู้ต้องขังแต่ละราย การเลื่อนขั้น การพักลด การอภัยโทษ โดยคณะกรรมการสหวิชาชีพอย่างน้อยกึ่งหนึ่งต้องไม่เป็นเจ้าหน้าที่ของเรือนจำหรือทัณฑสถานเหมือนมาตรา 43 พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 โดยที่ผู้ต้องขังรายใดที่เข้าโปรแกรมบำบัดแล้วไม่ได้ผลก็จะไม่ได้รับการเลื่อนขั้น ลดวันต้องโทษ พักการลงโทษ หรืออภัยโทษ

อนึ่ง ควรมีการให้กรอบอัตรากำลังที่จำเป็น อาทิ อนุศาสนาจารย์ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา และบุคลากรทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่เหมาะสมประจำเรือนจำและทัณฑสถานด้วย

Advertisement

5.ทำข้อตกลงความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ในเรื่องการเข้ามารับผิดชอบและช่วยเหลือทางด้านการดูแลสุขภาพและการบำบัดรักษาผู้ต้องขัง รวมถึงร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ส่วนราชการอื่นและภาคเอกชนในด้านการสงเคราะห์ช่วยเหลือทั้งในระหว่างและหลังจากพ้นโทษตามคำพิพากษาไปแล้ว

6. พัฒนาการส่งข้อมูลกันไปมาที่เกี่ยวกับตัวผู้ถูกกล่าวหา ผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้ต้องขังของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ให้สามารถมีการส่งข้อมูลและแลกเปลี่ยนกันไปมาหากมีการส่งตัวบุคคลนั้นให้ส่วนราชการชั้นถัดไปรับผิดชอบต่อ

7. พัฒนาระบบการติดตามและช่วยเหลือสงเคราะห์หลังปล่อย ที่เป็นมิตรกับผู้พ้นโทษมากกว่ามุ่งจับผิด

8.ปรับทัศนะและความเชื่อของคนในสังคมองค์รวมให้ยอมรับผู้ก้าวพลาดกระทำความผิดกลับคืนสู่สังคมให้มากขึ้น

“เพราะปัจจุบันเมื่อลูกหลานเรากระทำความผิด เรารับเข้าบ้านและนอนร่วมชายคาเดียวกับเราได้หลังพ้นโทษ แต่หากลูกหลานคนอื่นเราไม่ไว้ใจและรับไม่ได้” ทำให้ผู้พ้นโทษแม้เป็นคดีเล็กน้อยตกเป็นคนชายขอบที่ต้องหลบซ้อนเร้นตัวอยู่ในมุมมืด ไม่มีพื้นที่ยืน ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ประกอบกับประเทศนี้ไปกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคนเข้าทำงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนว่าต้องไม่เคยต้องโทษหรือกระทำความผิด และที่สำคัญเราไปกำหนดโทษทางอาญาไว้ในกฎหมาย “เทคนิคหรือบริหารราชการแผ่นดิน” มากกว่า 380 ฉบับให้มีโทษ “จำคุก” แทน “โทษปรับทางปกครอง” เช่น กฎหมายจราจร หรือการขายสินค้าเกินราคา เป็นต้น จึงทำให้ประเทศเราคนมีประวัติการกระทำผิดติดคุกเต็มบ้านเต็มเมือง เหตุนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญส่งให้เขาหวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image