โฆษกศาลยุติธรรมแจงคำเเนะนำปธ.ศาลฎีกา ใช้เทคโนโลยีทำงาน ป้องกันโควิด

“สุริยัณห์” โฆษกศาลยุติธรรม เผยคำเเนะนำ “ไสลเกษ” ปธ.ศาลฎีกา ฉ.2 ใช้เทคโนโลยีป้องกันโควิด อนุญาตผู้พิพากษา-คู่ความใส่เเมสก์ห้องพิจารณาทำความสะอาดสถานที่

เมื่อวันที่ 18 มี.ค. นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ได้กล่าวถึงแนวทางปฏิบัติของศาลในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ว่า ขณะนี้เตรียมที่จะเผยแพร่ คำแนะนำของนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา เกี่ยวกับแนวปฏิบัติในสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  (Coronavirus Disease : COVID-19) ฉบับที่ 2 เรื่องการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่มีการพัฒนาในช่วงของการเข้าสู่ D-Court มาสนับสนุนการทำงานของศาล และสร้างความสะดวกให้กับคู่ความในคดี ซึ่งสถานการณ์ช่วงนี้อาจมีปัญหา-ความกังวลต่อการเดินทางผ่านสถานที่สาธารณะที่มีคนจำนวนมาก และการต้องอยู่ในห้องพิจารณาเดียวกันกับบุคคลหลายๆ คน

ซึ่งคำแนะนำของประธานศาลฎีกาส่วนนี้ จะเป็นแนวทางป้องกันไม่ให้คดีที่อยู่ในการพิจารณาของศาลชั้นต้นต้องสะดุดลง และไม่กระทบสิทธิประโยชน์ทางคดีของคู่ความด้านใดๆ จากสถานการณ์ความเสี่ยงของโรคติดต่อดังกล่าว  โดยข้อแนะนำที่มี อาทิ การนั่งพิจารณาให้ผู้พิพากษาสวมหน้ากากอนามัยได้ขณะขึ้นบัลลังก์ ซึ่งข้อนี้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ก็มีมติเห็นชอบมาแล้วเช่นกัน,  การให้คู่ความ ผู้ต้องหา จำเลยในคดี/ทนายความ/ประชาชนที่อยู่รวมในห้องพิจารณาคดี สามารถสวมหน้ากากอนามัยได้ด้วยเช่นกัน เว้นแต่ต้องการยืนยันบุคคลระหว่างสืบพยาน หรือการบันทึกภาพเหตุการณ์จากกล้องวงจรปิด

สำหรับการใช้เทคโนโลยีนั้นจะเป็นส่วนสนับสนุนด้านการดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานด้วยระบบการประชุมทางจอภาพ หรือวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ให้ศาลใช้ดุลพินิจสืบพยานที่อยู่นอกศาลผ่านระบบดังกล่าวได้ ซึ่งจะช่วยลดการเดินทางมาศาล และกรณีจำเป็นสามารถใช้ประโยชน์จากระบบ  IT  แยกคู่ความบางฝ่ายหรือพยานบางคนให้อยู่ในพื้นที่อื่นบริเวณศาลโดยไม่กระทบความได้เปรียบ-เสียเปรียบต่อสู้คดี ทั้งนี้ระบบเทคโนโลยีดังกล่าวที่ผ่านมาศาลหลายแห่งได้จัดทำไว้รองรับการเข้าสู่ยุค D-Court ปี 2563 อยู่แล้ว จึงเป็นการสิ่งที่มีอยู่มาแก้สถานการณ์ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการส่งเสริมการใช้ระบบยื่นฟ้องคดีแพ่ง-ส่งคำให้การ-เอกสารผ่านระบบ e-Filing เป็นต้นด้วย โดยศาลแต่ละแห่งสามารถนำ คำแนะนำประธานศาลฎีกานี้พิจารณาเป็นแนวทางปฏิบัติบริหารจัดการคดีได้ตามความเหมาะสมและความจำเป็นในแต่ละพื้นที่ และเป็นไปตามข้อแนะนำที่กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรคประกาศเรื่องการหลีกเลี่ยงพื้นที่มีคนจำนวนมาก

Advertisement

ขณะที่แนวทางการดูแลสภาพแวดล้อมให้เกิดความสะอาด นายสุริยันห์ โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า สำนักงานศาลยุติธรรมและศาลทุกแห่งก็ดำเนินมาตรการส่งเสริมสุขภาพต่อเนื่องเพื่อให้มั่นใจในการสร้างความปลอดภัย เช่น ศูนย์อาหารในพื้นที่ตั้งบริเวณศาลอาญา สำนักงานศาลยุติธรรม จัดให้มีการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรคไปแล้วเพื่อเป็นการทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมที่เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่จะมีผู้คนจำนวนมากมาใช้บริการ และยังมีแม่บ้านเช็ดทำความสะอาดต่อเนื่อง หรือแม้แต่ลิฟต์ทางขึ้น-ลงบริเวณอาคารศาลอาญา-สำนักงานศาลยุติธรรม ก็ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อเช็ดทำความสะอาดสม่ำเสมอเป็นการสร้างความปลอดภัย อย่างไรก็ดีตลอดช่วงสถานการณ์ที่มีข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สำนักงานศาลยุติธรรมยังไม่เคยได้รับรายงานมีบุคลาการของสำนักงานศาลยุติธรรม หรือในศาลแห่งใดติดเชื้อโรคดังกล่าว โดยเราปฏิบัติตามขั้นตอนที่กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรคประกาศด้วยความระวังมาตลอด และขอเรียนย้ำว่าศาลยุติธรรมทุกแห่งยังคงเปิดทำการปกติตามวัน-เวลาราชการ ไม่ได้ปิดทำการส่วนใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำแนะนําประธานศาลฎีกา เกี่ยวกับแนวปฏิบัติในสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ฉบับแรก ได้เผยแพร่เมื่อวันที่ 5 มี.ค.63 ซึ่งเกี่ยวกับข้อปฏิบัติตนของข้าราชการตุลาการ (ผู้พิพากษา) เรื่องแนวทางการเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดของบุคลากรที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ หรือแวะผ่านหรือเปลี่ยนเครื่องพื้นที่ที่อาจมีความเสี่ยง เป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน หลังจากที่สำนักงานศาลยุติธรรมโดยเลขาธิการสำนักงานศาลฯ ได้มีหนังสือแจ้งหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดถือปฏิบัติตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุขป้องกันแพร่ระบาดในการหลีกเลี่ยงเดินทางไปต่างประเทศที่ไม่จำเป็น ซึ่งหากหลีกเลี่ยงไม่ได้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเดินทางหรือแวะผ่านต่างประเทศต้องแจ้งให้พิจารณาอนุญาตจาหัวหน้าหน่วยงานและเมื่อกลับมาต้องเฝ้าติดตามอาการ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image