ศาลปกครองไม่รับคำร้อง 13 นักวิชาการ ให้ถอนประกาศ กกต.

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ศาลปกครองกลาง ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องคดีที่นายจอน อึ๊งภากรณ์ กับพวกรวม 13 คน ฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้งและประธานกรรมการการเลือกตั้ง ขอให้เพิกถอนประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559 และขอให้ระงับการออกอากาศรายการ “7 สิงหาประชามติร่วมใจ”

โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ประกาศพิพาทข้อ 4 เป็นเพียงคำแนะนำและยกตัวอย่างวิธีการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเห็นว่าประชาชนสามารถดำเนินการได้เท่านั้น ซึ่งนอกจากวิธีการดังกล่าวแล้วประชาชนย่อมสามารถแสดงความคิดเห็นด้วยวิธีการอื่นที่ไม่ขัดต่อกฎหมายได้ ส่วนประกาศพิพาทข้อ 5 ที่ห้ามการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ การนำเข้าหรือการส่งต่อข้อมูล การทำหรือส่งสัญลักษณ์หรือเครื่องหมาย การจัดเวทีสัมมนาอภิปราย การชักชวนให้ใส่เสื้อหรือติดป้ายที่แสดงสัญลักษณ์ความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือการขาย แจกจ่ายสิ่งของดังกล่าวในลักษณะรณรงค์ทั่วไป การแจกเอกสารใบปลิว การรายงานข่าวหรือการจัดรายการของสื่อมวลชน การรณรงค์เพื่อให้เกิดการคล้อยตามของคนในสังคม โดยข้อความอันเป็นเท็จ หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ หรือการชุมนุมทางการเมือง หรือสร้างความวุ่นวายทางสังคม หรือขัดขวางการออกเสียงนั้น ประกาศดังกล่าวไม่ได้กำหนดถึงผลหรือโทษของการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม และไม่ได้อ้างถึงบทบัญญัติที่กำหนดโทษทางอาญา การกระทำตามข้ออ้างดังกล่าวจึงไม่มีโทษอาญา ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ชี้แจงต่อศาลว่า ประกาศพิพาทเป็นคำอธิบายแนวทางหรือวิธีการในการแสดงความคิดเห็น ไม่มีโทษอาญา การรณรงค์เพื่อให้ประชาชนลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญสามารถดำเนินการได้หากไม่มีการปลุกระดมและไม่เข้าลักษณะความผิดตามกฎหมาย ดังนั้น ข้อ 5 ของประกาศพิพาทจึงเป็นเพียงคำแนะนำทั่วไปหรือตัวอย่างที่อธิบายเพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย โดยผู้ที่เกี่ยวข้องไม่อาจใช้ประกาศพิพาทเป็นหลักเกณฑ์ในการตีความว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวเป็นความผิดอาญาได้ ประกาศพิพาทจึงไม่ใช่การใช้อำนาจตามกฎหมายในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการออกเสียงประชามติอันมีลักษณะเป็นกฎ และเป็นหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองที่จะแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบถึงสถานะและผลของประกาศพิพาท ส่วนการถูกจับกุมและถูกห้ามกระทำการต่างๆ นั้น ไม่ใช่การถูกดำเนินคดีเนื่องจากฝ่าฝืนประกาศพิพาท ซึ่งหากผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสามไม่ได้ทำความผิดต่อกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยวางแนวทางไว้แล้วว่าผู้ได้รับผลกระทบย่อมฟ้องร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจได้

ส่วนที่ฟ้องว่า การจัดรายการ “7 สิงหาประชามติร่วมใจ” ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์และสถานีวิทยุกระจายเสียงไม่ได้คำนึงถึงการให้โอกาสแต่ละฝ่ายอย่างเท่าเทียมกันนั้น ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่ากฎหมายบัญญัติให้เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ คำอธิบายสาระสำคัญ ประเด็นเพิ่มเติม คำอธิบายหลักการและเหตุผล กระบวนการและขั้นตอนการออกเสียงให้ประชาชนได้รับทราบเป็นการทั่วไป โดยมีการจัดสรรเวลาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นอกจากนี้ได้มอบหมายให้สถานีวิทยุโทรทัศน์ของรัฐเป็นผู้ดำเนินการโดยอยู่ในดุลพินิจของแต่ละสถานี

ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสามจึงไม่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องคดีนี้

Advertisement

ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image