ป.ป.ส. เผยสถิติ ห้วง 9 เดือน นำผู้เสพบำบัด 147,377 คน

นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ( ป.ป.ส.)

ป.ป.ส. เผยสถิติ ห้วง 9 เดือน นำผู้เสพบำบัด 147,377 คน กลับไปบำบัดซ้ำ 9,142 คน

เลขาธิการป.ป.ส. เผยสถิติงานบำบัดรักษายาเสพติด 9 เดือน นำผู้เสพบำบัด 147,377 คน กลับไปบำบัดซ้ำ 9,142 คน คิดเป็นร้อยละ 6.20

ป.ป.ส. / เมื่อวันที่ 21 นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) รายงานผลการดำเนินงานด้านการบำบัดรักษายาเสพติด ในห้วงระยะ 9 เดือน (กรกฎาคม 2562 – มีนาคม 2563) สำหรับด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพผู้ติดยาเสพติด เน้นให้การบำบัดที่เหมาะสมตามสภาพการเสพติดและการติดตามดูแลช่วยเหลือหลังผ่านการบำบัดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเร่งรัดการค้นหาและนำผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา

ทั้งนี้นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้นำนโยบายของรัฐบาลสู่การปฏิบัติ ดังนี้

1.การเพิ่มศักยภาพของสถานบริการรองรับผู้เข้ารับการบำบัดรักษาให้สามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึงทั้งประเทศ ปัจจุบันมีสถานบำบัดและสถานที่ฟื้นฟูผู้เสพผู้ติดรวม 11,116 แห่ง โดยแบ่งเป็นสถานบำบัดในระบบสมัครใจ 11,514 แห่ง ระบบบังคับบำบัด 71 แห่ง และระบบต้องโทษ 171 แห่ง

ทั้งนี้เร่งการพัฒนาระบบการบำบัดในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรับผู้ป่วยยาเสพติดมากขึ้น ปัจจุบันมีจำนวน รพ.สต. 9,763 แห่ง นอกจากนี้ยังมีการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติดโดยใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง หรือ CBTx เป็นแนวคิดการใช้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาผู้เสพยาเสพติด ตั้งแต่กระบวนการค้นหา ชักชวน ดูแลฟื้นฟูช่วยเหลือ และส่งต่อผู้ผ่านการบำบัดกลับคืนสู่สังคม ซึ่งปัจจุบันมีสถานที่ฟื้นฟูในชุมชนที่มีความพร้อม 720 แห่ง ใน 77 จังหวัด

Advertisement

2. การนำผู้เสพเข้ารับการบำบัดยาเสพติดในทุกระบบ (สมัครใจ บังคับบำบัด และต้องโทษ) 147,377 คน ให้บริการเพื่อลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด (Harm Reduction) ในกรณีที่ยังไม่สามารถหยุดเสพได้อย่างเด็ดขาด 28,978 คน และมีผู้เข้ารับการบำบัดในรูปแบบ CBTx 1,338 คน โดยในจำนวนผู้เข้ารับการบำบัดทั้งหมดนี้มีอาการทางจิตเวช 6,198 คน

ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการเสพยาเสพติดเป็นเวลานานจนเกิดอาการทางจิตร่วมด้วย ได้แก่ หูแว่ว หวาดระแวง บ่น/พูดคนเดียว เห็นภาพหลอน เป็นต้น จังหวัดที่มีผู้เข้ารับการบำบัดมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ อุบลราชธานี นครราชสีมา และสงขลา ยังคงเป็นผู้ป่วยประเภทยาบ้าที่เข้าบำบัดมากที่สุด ร้อยละ 78.9 ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 20 – 29 ปี เป็นผู้ใช้แรงงานและรับจ้าง ทั้งนี้จะต้องไม่หวนกลับไปเสพยาเสพติดซ้ำ โดยจากจำนวนผู้เข้าบำบัด 147,377 คน มีกลับไปบำบัดซ้ำ 9,142 คน คิดเป็นร้อยละ 6.20

นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.)

3. การติดตามช่วยเหลือให้โอกาสหลังจากผู้ป่วยบำบัดฟื้นฟูครบโปรแกรมตามที่แพทย์กำหนดแล้ว จะได้รับการติดตามดูแลทางการแพทย์และทางสังคม เป็นระยะเวลา 1 ปี สามารถติดตามได้ 162,276 คน และให้การช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดฯ ที่ประสงค์ขอรับการช่วยเหลือ 1,012 คน เพื่อส่งเสริมให้ผู้ผ่านการบำบัดสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

Advertisement

4. การให้โอกาสในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดการกระทำผิดซ้ำ จุดมุ่งหมายเพื่อให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมเพื่อปรับพฤติกรรมในช่วงวิกฤตแก่ผู้กระทำความผิดในคดียาเสพติดและคดีความรุนแรงในครอบครัวที่มีโทษไม่ร้ายแรงและได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ได้มีโอกาสเลือกแนวทางการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลให้การกระทำผิดซ้ำลดลง โดยกำหนดขยายการดำเนินงานคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมในระบบศาล จำนวน 75 แห่ง ภายในระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2563 – 2565) โดยในปี 2557 – 2562 ดำเนินการใน 5 ศาล ได้แก่ ศาลอาญาธนบุรี ศาลจังหวัดนนทบุรี ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลอาญาตลิ่งชัน และศาลจังหวัดปทุมธานี รวมให้คำปรึกษาไปแล้ว 14,597 คน มีผู้ไปกระทำผิดซ้ำ 197 คน (ข้อมูลเฉพาะพื้นที่) คิดเป็นร้อยละ 1.34

เลขาธิการ ป.ป.ส. ยังกล่าวด้วยว่า การเสพติดยาเสพติดจนเป็นโรคสมองติดยา สามารถรักษาต่อเนื่องให้หายได้ ทั้งนี้ต้องให้โอกาส ช่วยกันติดตามดูแลช่วยเหลือเพื่อไม่ให้กลับไปเสพซ้ำ แม้ว่าจะสามารถนำผู้เสพ/ผู้ติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดได้จำนวนมาก แต่เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาปลายเหตุ ประการสำคัญหากปล่อยให้ผู้ติดยาเสพติดเสพยาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน โดยที่ไม่เข้ารับการบำบัดรักษาก็จะมีผลให้เกิดอาการทางจิตตามมาอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ การบำบัดรักษาที่จะได้ผลจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือทั้งจากตัวผู้ติดยาเสพติด บุคคลในครอบครัวที่ใกล้ชิด ชุมชน และสังคม ที่จะต้องมีความเข้าใจ ติดตามดูแลช่วยเหลือ และให้โอกาสเพื่อให้เขาสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติ ซึ่งเป็นงานที่มีความยากและเป็นภาระที่หนักหน่วงของบุคลากรทางการแพทย์รวมถึงผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด

ดังนั้นมาตรการที่ดีที่สุดในการจัดการปัญหายาเสพติด คือ การป้องกันไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ซึ่งต้องอาศัยทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน จึงขอให้พี่น้องประชาชนได้เอาใจใส่ดูแลบุตรหลานให้ความรัก ความอบอุ่นและความเข้าใจตามช่วงวัย ก็จะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดได้อย่างดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image