เลขาปปส .ชี้ช่วงเดือนมี.ค.จับ ใบกระท่อม ลักลอบนำเข้ากว่า 2 พันกิโล

เลขาปปส.ชี้ช่วงเดือนมี.ค.ช่วงปิดชายแดน จับพืชกระท่อมลักลอบนำเข้า10 ครั้งของกลางกว่า 2 พันกิโล

จับกระท่อม / เมื่อวันที่ 26 เม.ย. นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 ฝ่ายปกครองร่วมกับทหารได้ยึดพืชกระท่อม 603 กก. ในรถกระบะจอดทิ้งไว้ในสวนยางพาราพื้นที่บ้านนา หมู่ 5 ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ชายแดนไทย-มาเลเซีย

ทั้งนี้ตั้งแต่มีการปิดชายแดนของทั้ง2ประเทศ ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2563 มีรายงานการจับยึดพืชกระท่อมที่ลักลอบนำเข้าจากมาเลเซียถึง 10 ครั้ง รวม 2,394 กก. ส่วนใหญ่เป็นการจับยึดได้ในพื้นที่ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งจากภาพรวมพบการลักลอบนำพืชกระท่อมเข้าในปีงบประมาณ 2562 รวม 30,915 กก. ส่วนปีงบประมาณ 2563 (ต.ค. 62 – มี.ค. 63) เพียง 6 เดือน สูงถึง 21,809 กก.

นายนิยม ยังกล่าวว่า สำหรับการจับผู้กระทำผิดเกี่ยวกับพืชกระท่อม พบว่าในปีงบประมาณ 2562 มีผู้ถูกจับในคดีพืชกระท่อม 16,663 คน (ร้อยละ 4.32 ของผู้ถูกจับในคดียาเสพติดทั้งหมด) นอกจากนี้ พบว่ามีผู้บำบัดรักษาจากการเสพพืชกระท่อม 5,252 คน (ร้อยละ 2.25 ของผู้เข้าบำบัดรักษายาเสพติดทั้งหมด) และในจำนวนนี้ มีอาการทางจิต 526 คน หรือทุก 100 คน

Advertisement

จะมีอาการทางจิต 10 คน เกิดจากการดื่ม 4 คูณ 100 (น้ำต้มพืชกระท่อมผสมยาแก้ไอ หรือยาเสพติด หรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท) จำนวนมาก ต่อเนื่องและยาวนาน ซึ่งแม้จะมีการปรับพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดแล้วก็ตาม ก็ไม่สามารถเสพ หรือผสมปรุงแต่งพืชกระท่อมในลักษณะนี้ได้ แต่อย่างใด ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

เลขาธิการ ป.ป.ส. ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในทางวิชาการ พืชกระท่อมเป็นพืชถิ่น พบในบริเวณแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพืชยืนต้นขนาดกลาง มีแก่นเป็นไม้เนื้อแข็ง สูงประมาณ 10 – 15 เมตร อยู่ในตระกูล Rubiaceae มีชื่ออื่น ๆ เช่น ท่อม อีถ่าง กระทุ่มโคก กระทุ่มพาย ขึ้นได้ดีในประเทศเขตร้อนทั่วไป พืชกระท่อมมีสารมิตรากัยนีน (Mitragynine) มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง

Advertisement

หากใช้ในปริมาณสูงมีฤทธิ์กดระบบประสาท ในทางการแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้านใช้เป็นสูตรตำรับยา มีสรรพคุณลดอาการปวดกล้ามเนื้อ แก้ปวด ลดไข้ ลดปริมาณน้ำตาลในเลือด ยับยั้งอาการท้องเสีย รักษาแผลในกระเพาะอาหาร เป็นต้น หากนำมาทำยาแก้ปวดจะมีผลข้างเคียงน้อยกว่าเมทาโดนและมอร์ฟีน แต่ถ้าหากรับประทานพืชกระท่อมติดต่อกันเป็นเวลานาน จะไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพและอาจเสพติดได้

ดังนั้น การปรับพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษ จึงมุ่งหวังที่จะใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์และการพัฒนาให้เป็นพืชเศรษฐกิจให้กับประเทศ และสามารถใช้ในรูปแบบการบริโภคตามวิถีชาวบ้านได้ ไม่ใช่เพื่อให้มีการเสพพืชกระท่อมกันอย่างเสรีโดยเฉพาะในรูปของ 4 คูณ 100

เลขาธิการ ป.ป.ส. ยังระบุว่า ทั้งนี้นโยบายการปรับพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดเป็นแนวคิดริเริ่มของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่เห็นถึงประโยชน์จากสรรพคุณของพืชกระท่อมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้

และนำไปพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจได้ ประกอบกับเพื่อการผ่อนปรนให้ผู้ใช้พืชกระท่อมในชีวิตประจำวันตามวิถีชาวบ้านสามารถทำได้ ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่..) พ.ศ….. ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้วอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงขอเรียนย้ำให้พี่น้องประชาชนทราบว่า พืชกระท่อมยังคงเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 การผลิต นำเข้า ส่งออก ครอบครอง และเสพยังผิดกฎหมาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image