ปลูกพืชกัญชาเพื่อนำไปผลิตเป็นยารักษาโรค: ประเทศไทยไปได้ไกลแค่ไหนแล้ว?

ปลูกพืชกัญชาเพื่อนำไปผลิตเป็นยารักษาโรค: ประเทศไทยไปได้ไกลแค่ไหนแล้ว?

สนธิสัญญาสหประชาชาติทางด้านยาเสพติดมีจุดกำเนิดมาจากพืชพรรณที่มีอยู่ตามธรรมชาติ 3 ชนิด ที่เมื่อประชาชนนำไปใช้อย่างกว้างขวางในชีวิตประจำวันแล้ว ทำให้มีปัญหาด้านสุขภาพและปัญหาทางสังคมเกิดขึ้นตามมามากมาย พืชพรรณทั้ง 3 ชนิดที่กล่าวถึงนี้คือ พืชกัญชา(Cannabis plant) พืชโคคา(Coca bush) และ พืชฝิ่น(Opium poppy)

ประเทศต่างๆ ที่ประสบปัญหาด้านสุขภาพและสังคมจากพืชพรรณที่กล่าวมาข้างต้นจึงได้นำเรื่องเข้าหารือในเวทีการประชุมระหว่างประเทศเพื่อร่วมกันสร้างกลไกความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา จนเกิดเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านยาเสพติดฉบับแรกในปีพ.ศ. 2455 คือ The International Opium Convention 1912 หลังจากนั้นได้มีการแก้ไขปรับปรุงสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านยาเสพติดให้เหมาะสมกับสถานการณ์เรื่อยมา จนถึงสนธิสัญญาฉบับที่ใช้ร่วมกันอยู่ในปัจจุบันคือ Single Convention on Narcotic Drugs of 1961 as amended by the 1972 Protocol

องค์การสหประชาชาติอนุญาตให้ประเทศที่เป็นรัฐภาคีสามารถดำเนินการปลูกต้นกัญชา ต้นโคคา และต้นฝิ่นได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าประเทศรัฐภาคีนั้นสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดของสนธิสัญญาได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนั้นหากประเทศที่เป็นรัฐภาคีองค์การสหประชาชาติประเทศใดต้องการจะอนุญาตให้มีการปลูกต้นกัญชาในประเทศของตนได้ ประเทศรัฐภาคีนั้นจะต้องพัฒนากฎหมายภายในประเทศของตนให้มีบทบัญญัติที่สอดคล้องกับSingle Convention on Narcotic Drugs 1961 ขององค์การสหประชาชาติที่มีผลผูกพันต่อทุกรัฐภาคี

​ดังนั้นจึงต้องเข้าใจให้ตรงกันว่า เมื่อประเทศไทยต้องการจะอนุญาตให้มีการปลูกต้นกัญชาโดยถูกกฎหมาย มีสิ่งที่ประเทศไทยจะต้องดำเนินการเป็นข้อๆ เพื่อให้การดำเนินการทั้งหมดถูกต้องตามกฎกติกาสากลขององค์การสหประชาชาติ

Advertisement

เพื่อช่วยให้องค์การสหประชาชาติสามารถรับรองสถานะการดำเนินงานของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้

1. ประเทศไทยต้องยื่นเรื่องต่อองค์การสหประชาชาติ ขออนุญาตปลูกพืชกัญชา ตามบทบัญญัติในมาตรา 28 อนุมาตรา 1 ของ Single Convention on Narcotic Drugs 1961

2. ประเทศไทยต้องดำเนินการจัดตั้งสำนักงานแห่งชาติด้านกัญชา (National cannabis agency) เพื่อให้เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ออกใบอนุญาต ควบคุม กำกับ กิจกรรมและกิจการทั้งหมดเกี่ยวกับพืชกัญชาในประเทศไทยและติดต่อประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ (International Narcotics Control Board) ตามบทบัญญัติในมาตรา 23 อนุมาตรา 1 ของ Single Convention on Narcotic Drugs 1961

Advertisement

3. จัดทำประมาณการความต้องการกัญชารายปี (Estimates of drug requirements) ที่ผลิตขึ้นมาสำหรับการใช้ในทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ของประเทศ เสนอต่อคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ ตามแบบฟอร์มและวิธีการที่สหประชาชาติกำหนด ตามบทบัญญัติในมาตรา 19 อนุมาตรา 1(a) ของ Single Convention on Narcotic Drugs 1961

4. จัดทำประมาณการปริมาณกัญชารายปีที่ต้องการใช้ในการผลิตสารสกัดกัญชา (Cannabis extract) ทิงเจอร์กัญชา (Cannabis tincture) ยาตามตำรับแพทย์แผนไทย และยาตามตำรับของหมอพื้นบ้าน เสนอต่อคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ ตามบทบัญญัติในมาตรา 19 อนุมาตรา 1(b) ของ Single Convention on Narcotic Drugs 1961

5. จัดทำประมาณการเก็บสำรองกัญชาทั้งหมดที่มีอยู่ในคลังของประเทศ ณ วันสิ้นปี 31 ธันวาคมของปีที่จัดทำประมาณการ เสนอต่อคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ ตามแบบฟอร์มที่สหประชาชาติกำหนด ตามบทบัญญัติในมาตรา 19 อนุมาตรา 1(c) ของ Single Convention on Narcotic Drugs 1961

6. จัดทำประมาณการปริมาณกัญชาที่นำไปเก็บสำรองไว้เป็นพิเศษของประเทศสำหรับใช้ในภาวะฉุกเฉินและสงคราม ตามแบบฟอร์มที่สหประชาชาติกำหนด เสนอต่อคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ ตามบทบัญญัติในมาตรา 19 อนุมาตรา 1(d) ของ Single Convention on Narcotic Drugs 1961

7. จัดทำประมาณการรายปีพื้นที่ที่ใช้ในการปลูกต้นกัญชา(ใช้หน่วยเป็นเฮกตาร์) โดยต้องระบุพิกัดจีพีเอสของทุกแปลงปลูก เสนอต่อคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ ตามบทบัญญัติในมาตรา 19 อนุมาตรา 1(e) ของ Single Convention on Narcotic Drugs 1961

8. จัดทำประมาณการผลผลิตกัญชาที่จะผลิตได้รวมทั้งปี เสนอต่อคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ ตามบทบัญญัติในมาตรา 19 อนุมาตรา 1(f) ของ Single Convention on Narcotic Drugs 1961

9. จัดทำข้อมูลด้านศักยภาพของอุตสาหกรรมยาในประเทศที่สามารถแปรรูปกัญชาเป็นยาแผนปัจจุบันภายใต้การควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยสำรวจและแจ้งจำนวนโรงงานต่อคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ ตามบทบัญญัติในมาตรา 19 อนุมาตรา 1(g) ของ Single Convention on Narcotic Drugs 1961

การจัดทำเอกสารข้อมูลประมาณการด้านต่างๆ ตามที่ระบุในข้อ 3 – ข้อ 9 ต้องจัดทำล่วงหน้าก่อนจะลงมือทำการเพาะปลูก 1 ปี และจะต้องจัดทำใหม่ทุกปี

โดยเอกสารที่กล่าวมาข้างต้นจะต้องส่งถึงสำนักงานคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศก่อนวันที่ 30 มิถุนายน เพื่อให้ได้รับการอนุมัติกิจกรรมเพาะปลูกต่อไปในปีปฏิทินหน้า ถ้าไม่ได้มีการทำประมาณการเพาะปลูกกับคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศตามแบบฟอร์มต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว ประเทศไทยก็จะไม่ได้รับการประกาศชื่อประเทศและปริมาณกัญชาที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตและค้าประจำปี ค.ศ.202… บนเว็บไซต์ของ INCB ที่ประเทศคู่ค้าใช้เป็นฐานข้อมูลในการติดต่อค้าขายกัน

ถ้าไม่มีประกาศการอนุญาตให้ผลิตและค้าประจำปีบนเว็บไซต์ของINCB กัญชาที่ผลิตขึ้นมาทั้งหมดถือเป็นกัญชาผิดกฎหมาย ไม่สามารถออกใบอนุญาตนำเข้า-ส่งออกตามระบบการค้าระหว่างประเทศได้ นอกจากนี้ ประเทศที่ไม่ได้จัดทำประมาณการประจำปีความต้องการใช้ยาที่ผลิตมาจากกัญชาเพื่อใช้ในทางการแพทย์ของประเทศ ก็จะไม่สามารถนำเข้ายาเหล่านี้จากประเทศผู้ผลิตและส่งออกได้ จนกว่าจะจัดทำประมาณการฯเสนอต่อ INCB ให้เรียบร้อยเสียก่อน

จากที่อธิบายมาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า กัญชาไม่ใช่ต้นไม้ใบหญ้าที่ใครใคร่ปลูกก็ปลูก ใครใคร่ค้าก็ค้า ใครใคร่ส่งออกก็ส่งออก โลกได้ออกระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับกัญชาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพและสังคมไว้เรียบร้อยแล้ว นักการเมือง นักวิชาการ กลุ่มพลังมวลชนทั้งหลาย ที่พากันออกมาเคลื่อนไหวผลักดันให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ควรหันกลับมาทบทวนการกระทำของตนเองว่า ท่านกำลังทำคุณให้กับชาวบ้าน หรือท่านกำลังทำโทษชาวบ้านที่หลงเชื่อคารมของพวกท่านกันแน่

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image