สกู๊ปหน้า1:’ต้นกล้าตุลาการ’ค่ายพิสูจน์วิถีท่านเปา

การประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการสอบคัดเลือก ผช.ผู้พิพากษารุ่น 73 จำนวน 171 ราย

ปรากฏว่าผู้ที่สอบได้อันดับ 1 อายุน้อยที่สุดคือ ‘น้องตวง’ศตพัฒน์ เเขกเพ็ง

อดีตนักเรียนมัธยมปลายเคยเข้าอบรมโครงการต้นกล้าตุลาการรุ่น 1 ของสำนักงานศาลยุติธรรม และยังเป็นการเข้าสอบครั้งเเรกหลังจากอายุถึงเกณฑ์ 25 ปี ‘มติชน’ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ สุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรมในฐานะประธานคณะทำงานดำเนินการจัดกิจกรรมค่ายต้นกล้าตุลาการ หรือ‘เฮดโค้ช’ทุกรุ่น เกี่ยวกับที่มาที่ไปของโครงการนี้

โฆษกสุริยัณห์ เล่าว่า ต้องย้อนไปเมื่อปี 2555 ได้รับมอบหมายให้ดูแลกองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์เป็นครั้งแรก ก็มานั่งคิดกับทีมงานขณะนั้นถึงปัญหาประชาชนมีความเข้าใจในกระบวนการยุติธรรมน้อย โดยเฉพาะเรื่องของขั้นตอนทางศาล จึงคิดว่าควรจะมีโครงการเชื่อมไปถึงประชาชน 1 ในนั้นคือโครงการค่ายต้นกล้าตุลาการ ประชาชนจะได้เข้ามาสัมผัสขั้นตอนกระบวนการพิจารณาคดี

Advertisement

ตั้งเป้าหมาย คือ เยาวชน

จากนั้นเราพบว่า เยาวชนสนใจเรียนกฎหมายมีจำนวนมาก และไม่น้อยเลยหวังจะเข้ามาเป็นผู้พิพากษา ก็คิดต่อไปว่าถ้าเยาวชนอยากเป็นผู้พิพากษา หรือเรียนเเละประกอบวิชาชีพกฎหมายเเล้ว แต่เขาไม่รู้ว่าเมื่อเข้ามาแล้ว บรรยากาศหรือต้องมีแนวคิดยังไง เพราะบางครั้งเรียนจบ ประกอบอาชีพไปแล้วจึงพบว่า ไม่ใช่เส้นทางที่อยากจะเป็น จะเสียเวลา เสียโอกาส เราก็มาคิดกันว่าทำยังไงให้น้องๆ เห็นภาพในอนาคต ให้เขาได้รู้ว่าถ้าอยากจะเรียนกฎหมายเเละประกอบวิชาชีพกฎหมาย เขาจะต้องเจออะไรบ้าง ฉะนั้นแนวคิดที่เราใช้ในการทำค่ายต้นกล้าตุลาการ คือ เราจะสร้างค่ายให้น้องๆ ได้เข้ามาใช้เวลา 5-6 วัน เพื่อค้นหาตัวเอง ประสบการณ์ในค่ายจะสามารถใช้เป็นฐาน หรือเป็นแนวทางในการตอบคำถามว่า แท้จริงแล้วเขาเหมาะจะเรียนกฎหมาย หรือประกอบวิชาชีพนักกฎหมายหรือไม่

โดย ค่ายต้นกล้าตุลาการ จะเตรียมให้เฉพาะข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจ แต่จะไม่ชี้นำคำตอบให้น้องๆ

Advertisement

โฆษกศาลยุติธรรมเล่าถึงการคัดเลือกคุณสมบัติเยาวชนร่วมโครงการว่า ในใบสมัครจะมีให้กรอกประวัติ ผลงานในอดีตเคยเข้าร่วมกิจกรรม เคยทำอะไรที่ภาคภูมิใจมาบ้าง

สำคัญที่สุดคือ ต้องตอบคำถามกลาง ในแต่ละปีไม่เหมือนกัน คำถามนี้จะวัดความตั้งใจของผู้สมัคร วัดทัศนคติในการดำเนินชีวิต

สิ่งแรกที่กรรมการจะพิจารณาก่อนคือการตอบคำถาม เพราะกรรมการจะเห็นว่ามีความมุ่งมั่นความตั้งใจจะเข้าค่ายนี้หรือไม่ มีทัศนคติสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของค่ายนี้หรือไม่ เเล้วค่อยพิจารณาส่วนอื่นประกอบ เรื่องผลการเรียนจะเป็นส่วนประกอบอยู่บ้าง แต่คนผ่านคัดเลือกไม่จำเป็นว่าต้องเรียนเก่ง ขึ้นอยู่กับคำตอบว่ามีความมุ่งมั่นมีทัศนคติที่ดีในการดำเนินชีวิตและอยากร่วมโครงการ

ในปัจจุบันต้นกล้าฯอบรมไปเเล้ว 9 รุ่น มีเยาวชนผ่านอบรม 1,114 คน ส่วนรุ่น 10 ยังไม่ได้อบรม เพราะช่วงระบาดไวรัสโควิด

จาก 9 รุ่นที่ผ่านมาสิ่งที่เราได้พบ คือ

เมื่อค่ายนี้เราตั้งใจทำด้วยความจริงใจ สิ่งที่เราสัมผัสคือ น้องๆ รับรู้และสะท้อนกลับมายังเราในสิ่งที่มีคุณค่าและมีพลังมาก

ตรงนี้บอกได้เลยว่าสังคมไทยยังมีความหวังจากเยาวชน ในค่ายของเราไม่ได้มีกฎกติกาตายตัว จะมีกรอบ กว้างๆ ไม่เคยต้องบอกว่า คุณต้องตื่นต้องนอนกี่โมง

แต่สิ่งที่เราเห็นคือน้องๆ รับผิดชอบตัวเองได้ดีรักษาเวลามีวินัย ไม่เคยสร้างปัญหาหนักใจให้ทีมงานเลย

ที่สำคัญพลังที่พวกเขามอบกลับคืนให้กับพวกเรามันทำให้เรามีกำลังใจทำต่อ เรามองจากแววตาของเขา มองจากสิ่งที่เขาปฏิบัติด้วยความตั้งใจเรียนรู้

วิทยากรที่เราเชิญมาสัมผัสถึงสิ่งนี้ได้ทุกคน เเม้ยังเป็นเด็กวัยรุ่นแต่เขาพร้อมเรียนรู้รับผิดชอบตัวเองรับผิดชอบสังคม

น้องๆ พวกนี้เขาไม่ใช่แค่เป็นอนาคตของชาติ เเต่เขาจะมีส่วนช่วยสร้างสังคมที่ดีตั้งแต่ปัจจุบันเป็นต้นไป

คำถามถึงความคาดหวังอยากให้เยาวชนต้องมาสายกฎหมายหรือเป็นผู้พิพากษาหรือไม่ โดยส่วนตัวไม่ได้คาดหวังเลย หากเยาวชนตัดสินใจได้ว่าเขาจะไปทางไหนคือสิ่งที่เราประสบความสำเร็จแล้ว

แต่หากเขาเลือกเส้นทางสายวิชาชีพนักกฎหมาย ส่วนตัวลึกๆ แอบดีใจ เพราะเราก็เป็นคนอยู่ในวิชาชีพกฎหมาย เเต่ถ้าเกิดเขาไม่เดินเส้นทางนี้ เราก็ดีใจ เราก็ภูมิใจในตัวเขาเหมือนกัน

เราไม่คาดหวังว่าน้องจะต้องเดินเส้นทางนี้ แต่ว่าสถิติที่ผ่านมาเป็นตัวบอกได้ว่าเยาวชนที่ผ่านจากค่ายนี้ไปประมาณ 60-70% เลือกเดินบนเส้นทางสายกฎหมาย ที่เหลือบางส่วนไปเป็นแพทย์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ ครูก็มีเป็นจำนวนมาก

โฆษกสุริยัณห์ กล่าวว่า เราไม่ได้คาดหวังตรงๆ แต่ผลออกมาจากสถิติโน้มเอียงมาทางกฎหมาย อย่างรุ่นที่ 1 ตอนนี้มีอายุครบคุณสมบัติสอบผู้พิพากษาก็ปรากฏว่า ‘ตวง’ ศตพัฒน์ เเขกเพ็ง สอบผ่านการคัดเลือกเข้ามาเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษารุ่นที่ 73 ได้อันดับ 1 เราดีใจนะในฐานะคนทำงาน

เพราะตั้งแต่รุ่นที่ 1 พวกเขาจะเรียกตัวเองว่าเป็น TK (ต้นกล้าตุลาการ) เขายังรวมตัวกันเป็นเหมือนครอบครัว แล้วยังไปเจอกันในรั้วมหาวิทยาลัยหรือในเเวดวงการทำงาน ยังติดต่อประสานงานกันอยู่เรื่อยๆ โดยมีเพจของค่ายเยาวชนต้นกล้าตุลาการเป็นสื่อกลางเรียนรู้ความเคลื่อนไหวของกันและกัน ทางสำนักงานศาลยุติธรรมก็อัพเดตข้อมูลผ่านระบบออนไลน์อยู่ว่าใครทำอะไรอยู่ที่ไหน มีการช่วยเหลือกัน ที่เรียนมหาวิทยาลัยก็ไปจับกลุ่มช่วยเหลือกัน บางคนที่มีวิชาด้านกฎหมายก็ไปเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชน

ตรงนี้ดีใจและภูมิใจที่พวกเขาไม่ได้เป็นแค่ผู้รับอย่างเดียว เมื่อเขามีกำลังพอ ไม่จำเป็นต้องแข็งแรงมาก แค่เขารู้สึกว่าเขามีพอจะแบ่งปันคนอื่นเขาก็ตอบแทนสังคม

ส่วนรุ่นต่อไปจะเป็นอย่างไรนั้น ในแง่ของหลักสูตรเรามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามยุคสมัย โดยเอาน้องเยาวชนเป็นศูนย์กลางว่าเขาควรจะได้รับความรู้และประสบการณ์ในเรื่องอะไรบ้าง อย่างยุคปัจจุบันเด็กๆ ต้องมีทักษะเพิ่มเติมอะไรบ้าง เราก็จะพยายามเอาตรงนี้มาปรับและให้เขาได้ฝึกฝนมากขึ้น

อย่างเด็กรุ่นใหม่ก็จะมีการเรียนรู้เชิงวิเคราะห์สถิติข้อมูลมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ก็อาจจะเสริมเข้าไปในกิจกรรมให้น้องได้เรียนรู้ จะเคลื่อนตัวไปตามการเปลี่ยนของสังคมเรา จะเติมในสิ่งที่ควรจะได้รับว่าอะไรทำให้เขาแข็งแรงได้ประโยชน์ในช่วงเวลาที่อยู่กับเรา

โฆษกสุริยัณห์กล่าวว่า ความคาดหวังว่าสิ่งที่อยากให้น้องได้มากที่สุดคือคำตอบของชีวิต เรามองเป็นอันดับแรก ถ้าเขาตอบได้ว่าใช่ เขาอยากจะเรียนกฎหมายพอได้มามาสัมผัสของจริงในบางช่วงบางเวลาแล้วมันยังใช่ คำตอบเดิมหรือไม่ หรือน้องอีกกลุ่มยังไม่แน่ใจว่าจะเรียนกฎหมายดีหรือไม่ หรือยังไม่มีคำตอบของชีวิตว่าอยากเรียนอะไร

เเม้เขาจะตอบว่าไม่ เเต่ถ้าเขาได้คำตอบค่ายนี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ อย่างน้อยที่สุด ช่วงเวลาต่อจากนี้ไปเขาไม่ต้องเสียเวลามาค้นหาในเส้นทางสายนี้แล้ว เขาจะได้ไปค้นหาในเส้นทางสายอื่น

แต่สิ่งที่เยาวชนได้ติดตัวไปคือความรู้ความเข้าใจในเรื่องของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพราะคนที่มีความรู้และเข้าใจจะใช้ตรงนี้เป็นเกราะในการป้องกัน ถ้าหากต้องถูกทำร้ายในเรื่องของกฎหมายในอนาคต หรืออย่างน้อยสุดเขาใช้ต่อยอดในการดูแลตนเองและดูแลคนอื่นต่อไป

อีกอย่างหนึ่งเราอยากให้เยาวชนได้อุดมการณ์คุณธรรมในบางอย่างที่เราเห็นว่าเป็นแนวทางที่ดีของฝั่งตุลาการ

เราก็แปลงสิ่งเหล่านี้เป็นกิจกรรมให้เยาวชนได้เรียนรู้ หวังสิ่งเหล่านี้จะติดตัวไป

เชื่อว่าไม่ว่าเยาวชนต้นกล้าของเราเดินทางสายไหน

แต่อย่างน้อยที่สุดเขาจะมีทิศทางการดำเนินชีวิตที่ดีและเขาก็จะเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพของประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image