ดีเอสไอ ค้นบริษัทดังลักลอบนำเข้าเนื้อวัวกว่า 3,000 ตัน ผิดกม.โรคระบาด – ศุลกากร สำแดงเท็จหลบเลี่ยงภาษีกว่า130ล้านบาท

ดีเอสไอ ค้นบริษัทดังลักลอบนำเข้าเนื้อวัวกว่า 3,000 ตัน ผิดกม.โรคระบาด – ศุลกากร สำแดงเท็จหลบเลี่ยงภาษีกว่า130ล้านบาท

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้ลงพื้นที่ตรวจค้น บริษัท กาม้าล มีทโปรดักส์ จำกัด ตั้งอยู่ที่เลขที่ 109/1 หมู่ 6 ตำบลลุมพลี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัพระนครศรีอยุธยาเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานในคดีพิเศษที่ 14/2563 เนื่องจากดีเอสไอได้รับ จากประชาชนว่ามีขบวนการลักลอบนำเข้าเนื้อวัวหรือซากวัวส่วนอื่น ๆ จากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยหรือมีการหลีกเลี่ยงนำเข้าเนื้อวัวหรือซากวัวส่วนอื่น ๆ โดยผ่านพิธีการศุลกากร แต่ผู้นำเข้าไม่ได้ขออนุญาตจากอธิบดีกรมปศุสัตว์ให้นำเข้าเนื้อวัวหรือซากวัว จากกรณีดังกล่าวมีผลกระทบโดยตรงกับประชาชน มูลค่าความเสียหายสินค้ากว่า 130 ล้านบาท

พ.ต.ท.กรวัชร์. เปิดเผยอีกว่า จากการสืบสวนทราบว่า ระหว่างวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556 ถึงวันที่ 24 เมษายน 2562 ต่อเนื่องกัน บริษัท กาม้าล มีทโปรดักส์ จำกัด ได้นำเข้าสินค้าประเภท สัตว์หรือซากสัตว์ (เนื้อวัว โค หรือชิ้นส่วนต่าง ๆ ของวัว โค) จำนวน 226 ใบขนสินค้า สำแดงสินค้าในพิกัดศุลกากร 0262900 ชำระอากรขาเข้าร้อยละ 30 แต่จากการตรวจสอบใบขนสินค้าขาเข้าของบริษัทฯ กับใบอนุญาตนำเข้าเนื้อวัวและชิ้นส่วนของวัวที่กรมปศุสัตว์อนุญาตให้บริษัทฯ นำเข้า ปรากฏข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า สินค้าประเภทเนื้อวัวหรือซากสัตว์ที่บริษัทฯ นำเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ จำนวน 158 ใบขน ปริมาณนำเข้าทั้งสิ้น 3,539,375.44 กิโลกรัม มูลค่าการนำเข้า 100,704,962.66 บาท ค่าอากร
ขาเข้า 29,824,995.61 บาท รวมมูลค่าสินค้าและค่าอากรเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 130,529,958.27 บาท

จากพฤติการณ์ดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดฐาน “นำเข้าซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 31 ประกอบมาตรา 68 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และฐาน “นำของที่ผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดอันเกี่ยวกับของนั้น” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 244 ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ซึ่งสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าประเภทซากสัตว์ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ที่ต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมปศุสัตว์หรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายทุกครั้งที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร

Advertisement

และเมื่อบริษัท กาม้าล มีทโปรดักส์ จำกัด กับพวก ไม่ได้รับอนุญาตให้นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร สินค้าดังกล่าวจึงเป็นของต้องกำกัด ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ดังนั้นการกระทำของ บริษัท กาม้าล มีทโปรดักส์ จำกัด กับพวก เข้าข่ายเป็นความผิดฐานนำของเข้ามา
ในราชอาณาจักรโดยสำแดงเท็จและหลีกเลี่ยงข้อห้าม ข้อจำกัด ตามมาตรา 202 มาตรา 244 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560

ฐานนำเข้าสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 31 ประกอบมาตรา 68 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และมาตรา 83 มาตรา 91 แห่งประมวลกฎหมายอาญา อันอาจเป็นคดีพิเศษตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1)

พ.ต.ท.กรวัชร์ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับขั้นตอนที่ถูกต้องนั้นจะต้องผ่านการพิจารณาตรวจสอบตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 คือ ผู้ขอใบอนุญาตจะต้องเชิญเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์เดินทางไปตรวจรับรองแหล่งผลิตสัตว์หรือซากสัตว์
ณ ประเทศแหล่งกำเนิดหรือซากสัตว์ และสัตว์ ซึ่งเป็นมาตรการเพื่อป้องกันเชื้อโรคระบาดสัตว์จากต่างประเทศ ซึ่งอาจติดมากับสินค้าปศุสัตว์(ซากสัตว์) ที่เป็นพาหะของโรคระบาด อันส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนผู้บริโภคโดยตรง และจากกรณีดังกล่าวอาจเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและตามกฎหมาย โรคระบาดสัตว์ กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงได้ทำการสืบสวนขยายผลเพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี

Advertisement

ทั้งนี้ดีเอสไอมีความห่วงใยในสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เนื่องจากหากเกิดการระบาดของโรคติดต่ออื่น ย่อมเป็นการซ้ำเติมประชาชน ตลอดจนอาจส่งผลต่อระบบสาธารณสุขของประเทศด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image